ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : - ลองจิจูด (แวง) : -
เลขที่ : 121813
ประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล จังหวัดพังงา
เสนอโดย อ้อย วันที่ 31 มกราคม 2555
อนุมัติโดย วันที่ 11 กันยายน 2565
จังหวัด :
0 1359
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมาของ “ประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล จังหวัดพังงา”

"เต่าทะเล" เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีอายุยืนยาวแต่กลับใกล้สูญพันธุ์ จนนับได้ว่าหากไม่มีการดูแลกันอย่างเป็นระบบ เต่าทะเลเหล่านี้ก็คงเป็นได้เพียง เต่าสตาฟ ที่ไม่มีตัวตนให้ลูกหลานได้เห็นกันอีกต่อไป กองทัพเรือ ได้รับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถึงการเข้ามาดูแล อนุรักษ์เต่าทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ที่ทรงเล็งเห็นว่า ประชากรเต่าทะเล หลายสายพันธุ์กำลังสูญหายไปจากท้องทะเลไทยอย่างรวดเร็ว

ในอดีตก่อนที่จะมีประเพณีการปล่อยเต่านั้น จะมีการเดินเต่าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงแล้วจึงนำเต่าที่ได้ปล่อยคืน สู่ธรรมชาติ โดยการเดินเต่านี้จะทำกันในตอนกลางคืน เริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง ในช่วงฤดูวางไข่ที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาด คือช่วงประมาณเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ (ราวปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน) ไปจนถึง เดือน ๔ (ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์) อาจก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวบ้างเล็กน้อย สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทรายระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่าแม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อนนั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรกคือ ช่วงเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ โดยสามารถสังเกตได้จาก

๑. ให้ดูดาวเต่า

ดาวเต่า ประกอบด้วย ดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า คนโบราณเชื่อว่า เมื่อดาวเต่าหัวลงทะเล (หันหัวลงทางทิศตะวันตก หรือ ดาวเต่าเริ่มคล้อยลง คล้ายกับดวงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป) ก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ เนื่องจากเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้

๒. ให้ดูน้ำ

หมายถึง การขึ้นลงของระดับน้ำทะเล หากว่า น้ำขึ้นครึ่งฝั่งหรือน้ำลงครึ่งฝั่ง หมายถึง ช่วงเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลว่า เต่าทะเลเคยขึ้นมาวางไข่ขณะน้ำขึ้นหรือน้ำลง ทั้งนี้ เต่าทะเล ก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไขในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่า เป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม โดยชาวบ้านในท้องถิ่นสามารถพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ได้จากรอยคลานของเต่าที่ปรากฏอยู่บนหาดทรายซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะเต่าทะเลจะใช้เท้าทั้ง ๒ คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ ขนาดเล็ก โดยปรากฏเป็นทาง ๒ ทาง คือ ทางขึ้น ๑ ทาง และทางลงอีก ๑ ทาง แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นค่อนข้างยาก เพราะหาดทรายกว้าง ชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีความรู้มีวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่าหลายวิธี ได้แก่

๒.๑ ดูปลายทราย

หมายถึง ให้สังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปโดยรอบลำตัว ขณะที่ขุดหลุมวางไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ ๑ หลุมในระยะพอสมควร ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่า บริเวณที่อยู่ถัดจากปลายทรายนั้น จะเป็นหลุมไข่เต่า แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเพราะเต่ามักพรางหรือหลอกโดยการสาดทรายหลายจุด แต่ไม่ได้วางไข่จริง หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม

๒.๒ ใช้ไม้ปลายแหลมแทง

หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สัก” ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ ๒ ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย อาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา

๓. ให้สังเกตดูแมลงวัน

ถ้าเป็นเวลากลางวันให้ดูแมลงวันว่าไปตอมบริเวณใด เพราะแมงวันจะไปตอมบริเวณที่วางไข่ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ตกอยู่

หากทั้ง ๓ วิธีไม่สามารถหาหลุมวางไข่ ชาวบ้านสมัยก่อนจะใช้วิธีสุดท้าย คือสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีรอยของเต่า ในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ - ๐๘.๐๐ น. จะพบว่าบริเวณที่เป็นหลุมไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นไอหรือควันขึ้นมาบนพื้นผิวทรายซึ่งอาจเป็นเพราะว่า เมื่อไข่ที่มีอุณหภูมิสูงเจอกับความเย็นของทรายชั้นล่างจะเกิดการคายความร้อน และเกิดไอขึ้นเหนือทรายได้ ไข่เต่าในแต่ละหลุมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “รัง” จะมีจำนวนแตกต่างกันตามชนิดของเต่า และลำดับครั้งที่วางไข่ เช่น เต่ากระ ครั้งแรกอาจไข่รังละ ๘๐ ฟอง ครั้งต่อไปอาจถึง ๑๒๐ ฟอง แล้วลดจำนวนลงมาจนครั้งสุดท้ายอาจมีประมาณ ๓ - ๔ ฟอง นอกนั้น เป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง ซึ่งเรียกว่า “ไข่ลม” เต่าเล็กจะไข่ครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ ฟอง ครั้งต่อไปประมาณ ๑๕๐ ฟอง ครั้งสุดท้ายก็ลดลงเหลือไม่กี่ฟอง เต่ามะเฟือง ประมาณ ๑๒๕ ฟอง ส่วนเต่าหางยาวมีจำนวนมากที่สุด ประมาณ ๑๕๐ ฟอง

การเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย หรือ การเดินเต่า ทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งแถวฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทราย ที่มีความยาวโดยรวม ๑๐๐ กิโลเมตร ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อ ได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น ในแต่ละปีจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่า เต่าทะเลตัวใ ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป อาจยกเว้นว่า บางครั้งที่พบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่นบริเวณใกล้ ๆ กันแทน

เนื่องจากในระยะเวลา ตั้งแต่เดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึง ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูวางไข่ของเต่าทะเลทำให้มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมากตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่ชายหาดท้ายเหมือง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง,หาดนาใต้ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง,หาดในยาง หาดไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในระยะนั้นทางการยังไม่ได้กำหนดเป็นสัตว์อนุรักษ์ เมื่อถึงฤดูวางไข่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับชายทะเลต่างออกหาไข่เต่ากันในยามค่ำคืน เมื่อใครสามารถหาได้ก็จะแบ่งกันไปประกอบอาหารบ้าง เหลือก็ขายบ้าง เมื่อถึงฤดูกาลก็จะมีคนมาเที่ยวดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ บ้างก็จัดทีมเดินหาไข่เต่าเป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้านำของมาขายในขณะที่รอเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จนกลายเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และในเวลาต่อมาชาวบ้านในชุมชน ต่างรวมกันจัดงาน “เดินเต่าทะเล” ขึ้น โดยจัดให้มีกิจกรรมการแข่งขันหาไข่เต่าทะเล ใครสามารถหาไข่เต่าได้ก็จะได้รับรางวัล เมื่อถึงฤดูกาลก็จะจัดงานเป็นประจำทุกปี มีการแสดงพื้นบ้าน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมโดยจัดให้มีงานเดินเต่าทะเลสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี

ในระยะหลัง ไข่เต่าทะเลได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ถูกนำมาขายจนหมด เต่าที่จะขึ้นมาวางไข่ก็ลดลง ทางราชการจึงประกาศให้เต่าทะเลเป็นสัตว์สงวนและห้ามไม่ให้นำไข่เต่าทะเลมาขายหรือบริโภค และได้เริ่มรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และได้เปลี่ยนชื่อ “งานเดินเต่าทะเล” เป็น “งานปล่อยเต่าทะเล” และถือเป็นงานประเพณีปล่อยเต่า เป็นประเพณีที่ชาวบ้านตำบลท้ายเหมืองจัดให้มีกิจกรรมต่อเนื่องกันมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายชายทะเลท้ายเหมือง ซึ่งเป็นสัตว์หายากและกำลังจะสูญพันธุ์ การจัดงานประเพณีปล่อยเต่าทะเลจะจัดขึ้น ณ บริเวณชายหาดของหมู่ที่ ๙ ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ระยะเวลาประมาณ ๑๐ วัน ๑๐ คืน หรือ ประมาณต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี โดยในวันเปิดงาน จะมีการปล่อยลูกเต่าทะเลลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญของงาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ กองทัพเรือได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี โดยได้มอบภารกิจให้ ทัพเรือภาคที่ ๓ ดำเนินการ จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามันขึ้น ณ บริเวณฐานทัพเรือพังงา ต่อมา ทัพเรือภาคที่ ๓ ได้มอบหมายให้ฐานทัพเรือพังงารับผิดชอบศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามันโดยมีพื้นที่ดำเนินการ ๒ พื้นที่ คือ

๑. พื้นที่เพาะฝักไข่เต่า เกาะหนึ่ง หรือเกาะหูยงในหมู่เกาะสิมิลัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

๒. พื้นที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามัน ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ ๓ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

สำหรับการจัดงานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเลและชายหาดท้ายเหมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เป็นมรดกแก่ประชาชนชาวพังงา และประเทศชาติสืบไป

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จังหวัดพังงา โดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา (นายดิเรก อุทัยผล) ได้ผนวกงานปล่อยเต่าของอำเภอท้ายเหมือง ให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา และได้เปลี่ยนจากเดิมชื่อ “งานปล่อยเต่า” เป็น “งานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลจังหวัดพังงา” ซึ่งยังคงวัตถุประสงค์หลัก คือ การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลให้คงอยู่ต่อไป

สถานที่ตั้ง
บริเวณชายหาดท้ายเหมือง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายยอดชาย เทพสุวรรณ์
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา อีเมล์ phangngaculture@hotmail.com
ถนน เพชรเกษม
รหัสไปรษณีย์ 82000
โทรศัพท์ 0 7648 1596 โทรสาร 0 7648 1595
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/phangnga/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่