ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 55' 24.7303"
13.9235362
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 23' 40.9618"
100.3947116
เลขที่ : 192686
การจัดโต๊ะหมู่
เสนอโดย นนทบุรี วันที่ 7 เมษายน 2563
อนุมัติโดย นนทบุรี วันที่ 7 เมษายน 2563
จังหวัด : นนทบุรี
0 273
รายละเอียด

การจัดโต๊ะหมู่บูชา

โต๊ะหมู่บูชา คือ กลุ่มหรือชุดของโต๊ะที่ใช้ตั้งพระพุทธรูป หรือสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ พระฉายาลักษณ์ หรือพระสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือรูปของบรรพบุรุษ ประกอบด้วยเครื่องบูชาอันเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพอย่างสูงของผู้ที่สักการะ และเป็นการแสดงถึงความกตัญญูที่พึงมีต่อผู้มีอุปการคุณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่มีคุณค่ายิ่งของสังคมไทย

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง "อธิบายเครื่องบูชา” ได้ทรงกล่าวถึงม้าหมู่ไว้ดังนี้ เครื่องบูชาชนิดนี้เป็นอย่างไทยแกมจีนนั้น เพราะความคิดที่จัดเครื่องบูชาเป็นความคิดไทย แต่กระบวนการที่จัดเอาอย่างมาจากที่จีน เขาจัดตั้งเครื่องแต่งเรือน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลายฮ่อ” ซึ่งจีนชอบเขียนฉาก และเขียนเป็นลายแจกันและเครื่องถ้วยชามอย่างอื่น จีนเรียกว่า"ลายปักโก๊” เป็นของที่ได้เห็นกันมาในประเทศนี้เห็นจะช้านานแล้ว แต่ตามเรื่องตำนานปรากฏว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างสวนชวาที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ครั้งนั้น ประจวบเวลาราชทูตไทยออกไปเมืองปักกิ่ง ไปได้เครื่องตั้งแต่งเรือนอย่างจีนเข้ามาจัดแต่งพระตำหนักที่ในสวนชวา เป็นเหตุให้เกิดนิยมกันขึ้นเป็นที่แรกว่า เป็นของงามน่าดูถึงไปผูกเป็นลายเขียนผนังโบสถ์ แต่คิดดัดแปลงไปให้เป็นเครื่องพุทธบูชา ยังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้ที่พระอุโบสถวัดราชโอรส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ อยู่ในรัชกาลที่ ๒ แล้ว เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร) เอาอย่างมาเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร ซึ่งสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็นต้น สันนิษฐานว่า แม้ในชั้นนั้นก็ยังไม่เกิดเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ มาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริโดยอนุโลมตามลายฮ่อ ซึ่งเขียนผนังโบสถ์ดังกล่าวมาแล้ว ให้สร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน เป็นม้าหมู่ใหญ่ ๑๑ ตัว และทรงพระราชดำริให้สร้างม้าหมู่ขนาดน้อย มีม้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาหมู่ละ ๔ ตัว ตั้งประจำพระวิหารทิศสันนิษฐานว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุพนเป็นเดิมแล้วผู้อื่นนิยมก็เอาแบบอย่างทำกันต่อมาจนทุกวันนี้ เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ที่ใช้เวลามีการงานใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประกอบเครื่องบูชา เช่น ในงานทำบุญเรือนเป็นต้น ก็มีใช้แต่เป็นอย่างเครื่องประดับ เช่น ตั้งที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่องานระดูหนาวเป็นต้นก็มี ถ้าใช้ตั้งพระพุทธรูปต้องถือว่า ที่ตั้งพระเป็นสำคัญ คือ จะตั้งอย่างไรให้เป็นสง่างาม เหลือที่ตั้งพระเท่าใด จึงจัดเครื่องบูชาเข้าประกอบ คือ เชิงเทียนและเครื่องปักดอกไม้เป็นต้น ถ้าตั้งม้าหมู่เครื่องบูชาเป็นอย่างเครื่องประดับ โดยเฉพาะมีการประกวดกัน มีเครื่องกำหนดสำหรับการตัดสินว่า ดีหรือเลวด้วยหลักดังอธิบายต่อไปนี้ คือ

๑. ความสะอาดเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งถึงตัวม้าหมู่ และเครื่องตั้งเครื่องประดับจะดีปานใด ถ้าปล่อยให้เปื้อนเปรอะสกกะปรก ก็อาจถูกตัดสินเป็นตกไม่ได้รางวัล เพราะเป็นความผิดของเจ้าของ

๒. ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือทำประณีต และความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงามเพียงใด ก็นับว่าดีขึ้นเพียงนั้นม้าหมู่ที่ทำมาขายแต่เมืองจีนไม่นับเข้าองค์สำหรับตัดสินให้รางวัล เพราะเป็นของมีขายในท้องตลาดดาษดื่นนับด้วยร้อย หาวิเศษไม่

๓. เครื่องบูชาที่ตั้งบนม้าหมู่จะใช้เครื่องแก้ว หรือเครื่องถ้วยเครื่องโลหะหรือทำด้วยสิ่งอันใดก็ได้กำหนดเลือกว่า ดีนั้น คือ เป็นของหายากสามารถหาของประเภทเดียวกันได้หมด ยกตัวอย่าง ดังเช่นว่า ถ้าใช้เครื่องแก้วเจียระไน หนามขนุน ก็ให้เป็นเครื่องแก้วเจียระไน หนามขนุนทั้งสิ้น หรือใช้เครื่องแก้วแดง ก็ให้เป็นเครื่องแก้วแดงทั้งสิ้น ดังนี้เป็นตัวอย่างสิ่งของที่ตั้งไม่ขัดกับเครื่องบูชา ยกตัวอย่างข้อห้ามดังเอาชามอ่างสำหรับล้างหน้ามาตั้ง หรือเอาคณฑีที่เขาทำสำหรับใส่สุรามาใช้ปักดอกไม้ ดังนี้เป็นต้น นับว่าขัดกับเครื่องบูชาอย่างยิ่ง แต่กำหนดเหล่านี้มีการผันผ่อนให้บ้างเช่น บางทีคุมของที่หายาก ยกตัวอย่าง ดังคุมเครื่องแก้วเจียระไนอย่างกะหลาป๋า หาเชิงเทียนแก้วอย่างนั้นไม่มี จะใช้อย่างอื่นแทนก็ไม่ติเตียนเพราะพ้นวิสัยซึ่งจะหาได้ ถ้าว่าโดยย่อเครื่องตั้งม้าหมู่นั้น ถ้าเป็นของหายากและได้ครบทั้งชุดหรือโดยมากนับว่าดี

๔. กระบวนจัดตั้งของบนม้าหมู่เครื่องบูชานั้น ต้องจัดให้เห็นสง่างามแก่ตา คือ ได้ช่องไฟและแลเห็นของเล็กของใหญ่ได้ถนัด แม้ในเวลากลางคืนก็ให้แสงไฟเทียนที่จัดตั้ง อาจส่องกระจ่างทั่วทั้งหมู่ม้า จึงนับว่า ดี ยังของซึ่งจัดในเครื่องบูชามีดอกไม้เป็นต้น ยิ่งจัดให้ประณีตงดงามก็ยิ่งดี

๕. สิ่งของสำหรับจัดตั้งเครื่องบูชาม้าหมู่นั้นของที่เป็นหลักจะขาดไม่ได้ก็คือ เทียน ธูป ดอกไม้ ๓ อย่างนี้ นอกนั้นเห็นอันใดเป็นของสมควรดังเช่นผลไม้เป็นต้นจะใช้ด้วยก็ได้ แต่มีข้อห้ามตามตำราหลวงมิให้ใช้ดอกหรือผลไม้ ซึ่งสาธุชนมักรังเกียจกลิ่น ยกตัวอย่างดังเช่น ผลฝรั่ง ผลมะม่วงผลจันทน์ ที่สุกงอมนั้นเป็นต้น ”จากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเครื่องบูชาดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การจัดโต๊ะหมู่บูชา เริ่มมีมาแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่ และม้าหมู่ขนาดน้อย ที่ตั้งประจำวิหารทิศ แต่ยังไม่มีโต๊ะตัวล่างที่เป็นฐานรองรับม้าหมู่ ซึ่งเป็นการจัดแปลงโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนมาเป็นอย่างไทย และต่อมามีผู้นิยมจัดโต๊ะเครื่องบูชาม้าหมู่เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีโต๊ะประกอบเป็นที่ตั้งเครื่องบูชาในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และของเจ้านายผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ถือว่าได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชามากที่สุดยุคหนึ่ง ก็คือ ในการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าภาษี นายอากร พ่อค้า จัดโต๊ะเครื่องบูชาเข้าไปตั้งเป็นเครื่องประดับ จำนวน ๑๐๐ โต๊ะซึ่งเป็นปฐมเหตุที่ให้มีความนิยมในการประกวดโต๊ะเครื่องบูชา ดังนั้น ในการบำเพ็ญกุศลคล้ายวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายผู้ใหญ่ หรืองานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของผู้มีบรรดาศักดิ์ มักจะมีการประกวดโต๊ะหมู่บูชาและการจัดเครื่องบูชาเมื่อของผู้ใดดีก็จะมีรางวัลพระราชทานหรือมอบให้ เมื่อมีผู้นิยมในการประกวดม้าหมู่ ก็ย่อมมีการดูแลรักษาเครื่องบูชาให้คงอยู่ครบชุด มีการจัดแปลงในการสร้างม้าหมู่บูชาให้มีความวิจิตรสวยงาม อันเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทย อันเป็นการพัฒนาการจัดสร้างโต๊ะหมู่บูชาของนายช่างไทย ดังที่ได้พระนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดการพิจารณาม้าหมู่ หรือโต๊ะหมู่ของคณะผู้จัดการประกวดในสมัยนั้นข้อหนึ่งคือ "ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือการทำประณีต และความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงดงาม ก็ยิ่งถือเป็นการทำด้วยการมีความคิดริเริ่มจัดแปลงให้สวยงามเหมาะสมได้สัดส่วน ผู้เป็นเจ้าของโต๊ะหมู่ชุดนั้นก็เป็นผู้สมแก่รางวัล” ที่เป็นดังนี้ก็เพราะต้องการส่งเสริมให้ช่างไม้ไทยได้มีความคิดในการจัดแปลง และสร้างม้าหมู่อันเป็นการแสดงออกถึงศิลปะ และฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทยที่มีลักษณะอันอ่อนช้อยและสวยงาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นวัฒนธรรมทางด้านศิลปะของสังคมไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ในการคิดลวดลายเป็นแบบเฉพาะของตนเอง

ซึ่งต่อมามีการจัดสร้างโต๊ะตัวล่างเพื่อเป็นฐานสำหรับรองรับม้าหมู่เพื่อให้มีความสะดวกในการจัดตั้ง เนื่องจากเมื่อนำม้าหมู่ไปจัดตั้งในสถานที่ทำบุญบางแห่งซึ่งมีพื้นที่ไม่เสมอกัน ก็จะต้องจัดหาวัสดุมารองรับที่ฐานของม้าหมู่แต่ละตัวเพื่อให้มีความเสมอกันและสวยงามซึ่งทำได้ยาก เมื่อมีโต๊ะตัวล่างสำหรับตั้งเป็นฐานไว้รองรับกลุ่มโต๊ะหมู่หรือม้าหมู่แล้ว สามารถทำให้ตั้งโต๊ะหมู่ได้ง่าย เกิดความเด่นและมีความสวยงามเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาด้านความคิดในการจัดสร้างโต๊ะหมู่ของนายช่างไม้ของไทยการจัดโต๊ะหมู่บูชา ถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งได้มีการปฏิบัติสืบทอดและสืบสานกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พระราชประเพณีหรือพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเพณีต่าง ๆ ของสังคมไทย จึงได้มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาในการประกอบพิธีต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกถึงการบูชาต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะอันสูงยิ่ง ตามที่บรรพบุรุษได้กระทำเป็นแบบอย่างไว้ด้วยความกตัญญูกตเวทีในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

สถานที่ตั้ง
จังหวัด นนทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นนทบุรี อีเมล์ nonthaburi@m-culture.go.th
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
จังหวัด นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
โทรศัพท์ 025801347 โทรสาร 025802764
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/nonthaburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่