ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 51' 26.3131"
14.8573092
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 58' 4.7057"
103.9679738
เลขที่ : 195330
ผ้าไหมชาวกูยบ้านกู่
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 24 มกราคม 2565
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มกราคม 2565
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 161
รายละเอียด

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อชุมชน/เครือข่าย ชุมชนคุณธรรมบ้านกู่

ที่อยู่ หมู่ที่ ๑, ๑๔ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ ๓๓๑๗๐ นางชมพู่ แก้วละมุน (ประธานกลุ่ม) โทรศัพท์ ๐๙๓ ๕๕๙ ๓๘๒๗

กำนันตำบลกู่๐๖๔ ๔๐๒ ๐๕๙๔

ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชน

- ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมชาวกูย“บ้านกู่”

รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ชุมชน

ผ้าไหมชาวกูย“บ้านกู่”

ชาวกูยบ้านกู่ มีการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมพื้นบ้านเพื่อสวมใส่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองมีจารีตประเพณี วิถีการดำรงคชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะด้านภาษาพูด ใช้ภาษากูย หรือส่วย เป็นภาษาถิ่นภาษาเดียวในการสื่อสาร ด้านการแต่งกายในชีวิตประจำวัน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาวกูย ซึ่งชาวกูยนิยมสวมใส่เสื้อกะโหลนละวี หรือเสื้อแก๊บ (สีดำ) ที่ทำมาจากผ้าไหมแท้ ที่ชาวกูยเลี้ยงและทอขึ้นมาเอง คือผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ (สีดำธรรมชาติ) ซึ่งเป็นการแต่งกายของชนเผ่า โดยผู้ชายจะใส่โสร่ง(ผ้าไหม) และผู้หญิงจะใส่ผ้าซิ่น (ผ้าไหม) และเสื้อสีดำลายลูกแก้ว (ผ้าไหมย้อมมะเกลือ) ปัจจุบันชุมชนชาวกูยบ้านกู่ ได้พัฒนาการทอผ้าไหม จากการย้อมสีธรรมชาติเพียงสีเดียวคือสีดำ เป็นการเพิ่มสีสันของผ้าไหมตามความต้องการของตลาด (นักท่องเที่ยว) ที่ไปเที่ยวในชุมชนโดยเพิ่มสีสันให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น สีเหลืองอ่อนจากเปลือกไม้และใบไม้ในท้องถิ่น เช่น ไม้มะดัน ไม้ลำดวน ใบขี้เหล็ก ครั่ง ใบฝาง เป็นต้น

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

ผ้าไหมชาวกูย “บ้านกู่”ผ้าไหมชาวกูย“บ้านกู่” มีความเงางามและความละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ชาวกูยให้ความสำคัญในรายละเอียดทุกขั้นตอนด้วยการสืบทอดวิธีการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ผ้าไหมบ้านกู่จะมีลักษณะพิเศษของใยผ้า ซึ่งจะปรับคุณลักษณะตามสภาพของอากาศท้องถิ่น เช่น เมื่ออากาศร้อนสวมใส่แล้วจะรู้สึกเย็นสบายและหากสภาพอากาศหนาวเย็นก็จะให้ความอบอุ่นอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี เส้นไหมที่ได้จากรังไหมจะมีหลายชั้น เป็นเส้นไหมคุณภาพดี เป็นเส้นไหมที่อยู่ชั้นใน หรือที่เรียกกันว่า ไหมน้อย ใช้ทอผ้าซิ่น ทอโสร่ง ส่วนเส้นไหมชั้นนอกมีขนาดใหญ่ ชาวกูยนำมาใช้ทอผ้าแก๊บ หรือผ้าเหยียบ หรือผ้าเก็บ เป็นต้น

วัสดุ/ส่วนประกอบ /กระบวนการในการผลิต

ขั้นตอนการเลี้ยงตัวหม่อนและทำเส้นไหม

๑. นำตัวหม่อนมาวางใส่กระด้งให้พอดีกับกระด้ง ไม่เบียดกันเกินไป เลี้ยงโดยให้ใบหม่อน ๑ กำมือ ต่อ ๑ กระด้ง จนตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๑ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๒ กำมือ ตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๒ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๓ กำมือ ตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๓ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๔ กำมือ ในช่วงที่ตัวหม่อนลอกคราบจะต้องหยุดให้อาหาร ๒๔ ชั่วโมงหลักจากนั้นก็ให้อาหารตามปกติ เมื่อตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๔ ก็ให้ใบหม่อนต่อไปเรื่อยๆจนตัวหม่อนสุก หลังจากนั้นให้คัดตัวหม่อนที่สุกแล้วไปใส่ไว้ในจ่อ ในช่วงนี้ให้หยุดการให้ใบหม่อนเพื่อจะได้ให้ตัวหม่อนรีบทำฝักและทำรัง เมื่อตัวหม่อนเข้าไปอยู่ในฝักราว ๓ วัน ตัวหม่อนก็จะยุบตัวเล็กลงเรียกว่า ตัวดักแด้ ลองจับฝักเขย่าดูปรากฏว่ามีเสียงดังขลุก ๆ อยู่ภายในแล้วแสดงว่าใช้ได้นำไปสาวเป็นเส้นไหมได้

๒. การสาวไหม นำรังไหมที่ได้มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือด แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบาๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขึ้นมาจึงนำมาสอดที่รูตรงกลางของเครื่องพวงสาว แล้วนำไปถักเกรียวที่รอกพวงสาวให้เส้นไหมตรง และสาวให้พ้นรอก ๑ รอบ

การสาวไหมนั้นต้องหมั่นเติมน้ำเย็นลงไปเป็นระยะระวังอย่าให้น้ำถึงกับเดือด เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวย รังไหมจะเละ หลังจากที่สาวไหมหมดแล้ว นำเส้นไหมมาเข้าเครื่องเล่งเพื่อทำเป็นใจ แล้วตากให้แห้ง

๓. การฟอกไหม หลังจากได้เส้นไหมที่แห้งแล้วนำมาฟอก โดยนำเส้นไหมลงแช่ในน้ำด่างจนไหมนิ่ม แล้วนำลงต้มในน้ำเดือน ประมาณ ๓๐ นาที จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด และนำไปตากแดดให้แห้งเส้นไหม ที่ฟอกแล้วจะนิ่ม และเงางาม

๔. การย้อมไหม นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาย้อมสีธรรมชาติ (มะเกลือ) โดยนำลูกมะเกลือที่ไม่สุกมาตำให้ละเอียด แล้วใส่ใบมันเทศลงไปตำด้วยกันจนละเอียด นำมะเกลือที่ตำแล้วไปผสมกับน้ำ ในอัตรา มะเกลือ ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๒ ส่วน น้ำที่จะผสมกับมะเกลือให้ละลายปูนขาวที่ใช้กินหมาก หมากก้อนประมาณนิ้วหัวแม่มือมาผสมให้เข้ากัน จึงนำไหมลงย้อมในน้ำมะเกลือ แล้วนำขึ้นไปตากให้แห้ง และนำมาย้อมใหม่ตามวิธีเดิม จนกว่าจะได้สีดำตามที่ต้องการ

๕. การหมักโคลน เมื่อย้อมจนได้สีตามที่ต้องการแล้ว ให้นำไปหมักในน้ำโคลน เพื่อให้สีติดทนนาน แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้นให้นำมาล้างน้ำสะอาดจนหมดโคลน แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด ประมาณ ๑๕ นาที แล้วนำไหม ไปตากแดดจนแห้ง เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนแล้วก็จะได้เส้นไหมย้อมมะเกลือสีดำ ที่มีความเงางาม

ขั้นตอนการทอผ้าไหม

๖. นำเส้นไหมที่ย้อมสีได้ตามต้องการแล้ว มาใส่กง ปั่นเข้าอัก เดินเส้นยืนใส่หลักกี่ ตามขนาดของฟันฟืม เสร็จแล้วนำไปขึงกับไม้ฟันเส้นยืน เพื่อให้เส้นยืนตึง สม่ำเสมอ แล้วนำมาต่อเข้าฟืม ในการต่อเข้าฟืมต้องใช้คนทำ ๒ คน เนื่องจากต้องมีคนสอดเส้นไหม และคนแหวกฟันฟืม หลังจากที่ต่อเข้าฟืมแล้วให้นำมาเก็บเข้าตะกรอสำหรับทอตามขนาดดอกที่ต้องการ ๔ หรือ ๕ ตะกรอ

๗. นำไหมที่ย้อมแล้วมาเตรียมเป็นเส้นพุ่ง โดยนำอักไหมมาใส่ในหลา เพื่อปั่นใส่หลอดพอประมาณ ก็จะได้เส้นไหมในหลอดเตรียมใส่กระสวยสำหรับใช้ในการทอ

๘. วิธีการทอ ผู้ทอต้องฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อให้เกิดความชำนาญจึงจะได้ผ้าไหมที่สวยงามมีความตึงและลวดลายตามที่ต้องการ ซึ่งในการทอเพื่อให้ได้ผ้าไหมเป็นลายนั้นจะมีขั้นตอนพอสังเขป ดังนี้

การเหยียบครั้งที่ ๑ ให้เหยียบไม้ที่ ๑ และ๒ พร้อมกัน นับจากด้านซ้าย แล้วสอดกระสวย ในการสอดกระสวยครั้งแรก ให้จับเส้นด้ายฝั่งที่สอดกระสวยไว้ เพื่อยึดเส้นด้าย หลังจากที่สอดกระสวยพ้นแล้วให้ดังเส้นไหมให้ดึงแล้วปล่อยเท้าที่เหยียบไม้เท้าออก แล้วกระทบฟืม ๑ ถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่สองเหยียบไม้ที่ ๓ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืมเหมือนเดิม ครั้งที่สามเหยียบไม้ที่ ๑ ๓ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม ครั้งที่ ๔ เหยียบไม้ ที่ ๒ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม ครั้งที่ห้า เหยียบไม้ที่ ๑ ๒ ๔ พร้อมกัน ครั้งที่หก เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน ครั้งที่เจ็ด เหยียบไม้ ๑ ๒ ๔ พร้อมกัน ครั้งที่แปด เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน เมื่อครบเจ็ดครั้ง จะได้ลวดลายออกมาเป็นลายลูกแก้ว และให้ทอโดยการเหยียบไม้ซ้ำเหมือนเดิมตั้งแต่ครั้งที่หนึ่งถึงเจ็ดไปเรื่อย ๆ จนเป็นผืนผ้าที่ต้องการ

รายละเอียดผลิตภัณฑ์

๑. ราคา ผ้าพื้นสีดำหรือสีอื่น ๆ ตามต้องการ เมตรละ ๖๐๐ บาท ผ้าถุงไหมลายสวยงามหรือผ้าโสร่งไหม ผืนละ ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ บาท

๒. ระยะเวลาในการผลิต มีการทอผ้าตลอดทั้งปีสามารถสั่งซื้อได้

๓. สถานที่ในการจัดจำหน่าย

๑) ที่ชุมชนคุณธรรมบ้านกู่

๒) การออกร้านงานจำหน่ายสิ้นค้าของภาครัฐ หรือสั่งซื้อทางโทรศัพท์ หรือช่องทางออนไลน์จากกลุ่ม

สถานที่ตั้ง
ชุมชนบ้านกู่
หมู่ที่/หมู่บ้าน 14
ตำบล กู่ อำเภอ ปรางค์กู่ จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางชมพู่ แก้วละมุน
หมู่ที่/หมู่บ้าน 14
ตำบล กู่ อำเภอ ปรางค์กู่ จังหวัด ศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33170
โทรศัพท์ 093 559 3827
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่