หลวงพ่อพระครูเกษมธรรมานุวัตร หรือที่ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนศิษยานุศิษย์นิยมเรียกกันติดปากตามภาษาท้องถิ่นว่า"ญาท่านเกษม" หรือ "พ่อท่านเกษม" เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี มีสถานะเดิมชื่อ นายบุญชู สายเล็น เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2489 บิดาชื่อนายออน สายเล็น มารดาชื่อนางพร สายเล็น (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ญาท่านอายุได้ 3 ขวบ) ญาท่านเกษม เกิดที่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 1 ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 3 คน โดยญาท่านเกษม เป็นบุตรคนที่ 3พระครูเกษมธรรมานุวัตร เข้าสู่เพศบรรพชิตเมื่อขึ้น 3 ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ 2509 ณ พัทธสีมา วัดเกษมสำราญ ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลฯ พระอุปัชฌาย์คือ พระครูนันทปัญญาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ ในสมัยนั้น เมื่อปี 2516 สอบไล่ได้ประโยคนักธรรมชั้นเอก และ พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์พัดยศเป็นพระครูเกษมธรรมานุวัตร (พระครูชั้นตรี) จนกระทั่งปี พ.ศ.2539 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญและในปี พ.ศ.2550 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก (ตำบลเกษม) ท่านเป็นพระที่ไม่เคยถือตัว ใช้ชีวิตอย่างสงบ สมถะ เรียบง่าย และท่านยังมีความรู้ด้านต้นไม้และสมุนไพรเป็นอย่างดี ที่สำคัญท่านเป็นผู้ที่มีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าท่านได้พูดอะไรหรือทักอะไร มักจะเป็นดังที่ท่านพูดเสมอ สุจริตชนใดได้วัตถุมงคลของท่านไป มักจะสุข สมหวัง แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ยิ่งในระยะหลังๆ ผู้ที่ถอยรถป้ายแดงจากทั่วสารทิศ นิยมนำรถไปให้หลวงพ่อเจิมให้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีคณะสาธุชนเดินทางไปกราบไหว้ญาท่านเกษมไม่ขาดสาย ทั้งที่มาจากในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนจากต่างถิ่นแดนไกล พระครูเกษมธรรมานุวัตร หรือญาท่านเกษม มีผลงานที่โดดเด่นจนได้รับโล่รางวัลวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา และโล่รางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งด้านการพัฒนาวัด พัฒนาชุมชน ด้านการศึกษาของชุมชน และด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ทำให้วัดเกษมสำราญมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นทั้งวัดและเป็นทั้งทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชน มีห้องสมุด มีพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม มีสิมเก่าให้ชื่นชม มีศูนย์หัตถกรรมจักสาน มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เป็นที่ชื่นชมและประทับใจของชาวบ้านและแขกผู้มาเยือน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ที่มาทัศนศึกษาหาความรู้จากวัดแห่งนี้