ประวัติ : เจดีย์หักตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองราชบุรี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวิปัสสนาธุระ
หลักฐานทางด้านโบราณคดีของเจดีย์องค์นี้ ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงสูงขนาดย่อมก่อด้วยอิฐ และศิลาแลงฉาบปูน อิฐในฐานชั้นแรกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ในเนื้ออิฐมีแกลบข้าวปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก คล้ายกับอิฐที่พบโดยทั่วไปตามโบราณสถานสมัยทวารวดี ฐานชั้นที่สองก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น ส่วนของเรือนธาตุและส่วนยอดทลายลงมาหมดเมื่อปี พ.ศ. 2481 ทางด้านทิศตะวันตกของฐานเจดีย์ มีซากฐานอาคารสันนิษฐานว่าเป็นวิหาร ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูป พบเป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยและปางสมาธิ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์หัก เมื่อปี พ.ศ. 2532
ลักษณะของเจดีย์หักนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มของเจดีย์แบบที่เรียกกันว่า “แบบเมืองสรรค์” พบที่เจดีย์วัดพระแก้ว อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 และกลุ่มเจดีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี “แบบสุวรรณภูมิ” ซึ่งก่อสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น เจดีย์วัดพระรูป เจดีย์รายวัดไก่เตี้ย และเจดีย์วัดพระแก้ว เป็นต้น
ผลการศึกษาสรุปได้ว่าเจดีย์หัก วัดเจติยารามนั้นเป็นเจดีย์ที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย ทวารวดี แต่ได้พังทลายลง ต่อมาจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เจดีย์หัก วัดเจติยาราม นั้น น่าจะมีความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบและวิวัฒนาการร่วมกับเจดีย์แปดเหลี่ยม วัดพระแก้ว อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท วัดพระรูปและวัดไก่เตี้ย จังหวัดสุพรรณบุรี
การกำหนดอายุสมัย : สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 21-22)
การประกาศขึ้นทะเบียน : ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา