ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 52' 5.0642"
19.8680734
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 38' 48.1787"
99.6467163
เลขที่ : 192521
การแต่งกายชนเผ่าอาข่า บ้านปางขอน
เสนอโดย เชียงราย วันที่ 23 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 23 มีนาคม 2563
จังหวัด : เชียงราย
0 1334
รายละเอียด

อาข่า(หรือ อีก้อ)เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในแถบภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน เป็นต้น ชนเผ่าอาข่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้ เป็น3กลุ่มคือ กลุ่มอุโล กลุ่มโลมีซาและกลุ่มลอบือ บุคลิกของชาวอาข่าเป็นคนร่าเริง รักอิสระ ชาวอาข่าไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเองจึงมักถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้กับลูกหลานผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี บทเพลง ตลอดจนถึงงานปักผ้าลวดลายสัญลักษณ์อันงดงามลงบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชนเผ่า งานปักผ้าจึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงชาวเผ่าอาข่าทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก โดยผู้เป็นแม่เป็นผู้ถ่ายทอด สั่งสอน หญิงชาวอาข่า จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีฝีมือและความชำนาญเป็นเลิศในการปักลายผ้าที่มีความละเอียดและงดงามมากที่สุดไม่แพ้หญิงชนเผ่าอื่นๆ งานปักของชนเผ่าอาข่าใช้สีสันสดใสสวยงามลวดลายปักบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ และยังสืบทอดลวดลายการปักลงบนผืนผ้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์การแต่งกายของชนเผ่าอาข่าในประเทศไทยจะมีความคล้ายคลึงกัน มีจุดเด่นที่หมวกโลหะสีเงิน และเครื่องประดับบนศรีษะทั้งที่เป็นผ้าคลุมปักสีสันลวดลายสดใส และเครื่องเงินหรือโลหะที่ประดับประกอบในรูปแบบต่างๆ(ชนเผ่าอาข่าแต่ละกลุ่มในประเทศไทยอาจมีรูปแบบและลักษณะหมวกและเครื่องประดับบนศรีษะที่แตกต่างกัน)การสวมเครื่องประดับ สวมเสื้อสีดำตัวยาวซึ่งด้านหลังตัวเสื้อจะมีลวดลายปักที่หลากหลายสีสันสวยงาม กระโปรงสั้นสีดำ คาดเข็มขัด สวมผ้าพันน่องทั้งสองข้าง ผู้หญิงชาวอาข่าจะสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าด้วยการปักเป็นหลัก ปักลวดลายที่งดงามเพื่อใช้ตกแต่งประดับบริเวณด้านหลังเสื้อ แขนเสื้อ ผ้าพันรอบกระโปรง และผ้าพันน่อง โดยเฉพาะด้านหลังของตัวเสื้อจะมีการปักลวดลายหลายๆ ลวดลายเต็มแผ่นหลัง หรือเกือบเต็มแผ่นหลังของตัวเสื้อนับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชนเผ่าอาข่าและนอกจากการปักแล้ว ชนเผ่าอาข่ายังมีฝีมือในการผสมผสานเทคนิคการเย็บผ้าปะติดร่วมอยู่ในผืนผ้าแต่ละชิ้นด้วย ดังนั้นเมื่อหญิงชาวอาข่าแต่งกายด้วยชุดแต่งกายประจำเผ่าอย่างครบถ้วน จะมีความสวยงามตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าอย่างน่าทึ่งเลยทีเดียวนอกจากนี้หญิงชาวอาข่ายังมักนิยมสร้างความสวยงามแพรวพราวให้เครื่องแต่งกายเพิ่มเติมด้วยการปักเหรียญเงิน ลูกปัดหลากสีสัน เปลือกหอยเบี้ยประดับลงบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประจำเผ่าแทบทุกชิ้นโดยเฉพาะส่วนที่เป็นเข็มขัดมักพบว่ามีการปักประดับเปลือกหอยเบี้ยมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากชาวอาข่ามีความเชื่อว่าเปลือกหอยเบี้ยจะเป็นเสมือนเครื่องรางช่วยคุ้มครองป้องกัน ช่วยขจัดปัดเป่าอันตราย นำพาแต่สิ่งที่ดีๆ มาให้กับผู้สวมใส่

ในปัจจุบัน ผ้าปักชนเผ่าอาข่านอกจากจะเป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนความเป็นชนเผ่าอาข่าแล้วผ้าปักอาข่ายังสามารถนำไปแปรรูปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ มีการปรับประยุกต์ลวดลายให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตามสมัยนิยมตามกาลเวลาและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวอาข่ามีรายได้ยังชีพจนส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รวมทั้งหญิงชาวอาข่าก็ยังมีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ สืบทอดลวดลายปักดั้งเดิมไว้ด้วย

เอกลักษณ์และศิลปะลวดลายบนผืนผ้า

อาข่า เป็นชนเผ่าที่มีการแต่งกายประจำชนเผ่าที่มีความแพรวพราวและโดดเด่นเป็นอย่างมาก การปัก การเย็บ การตกแต่งประดับประดาในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหญิงชาวอาข่าล้วนกระตุ้นความสนใจและสร้างความสะดุดตาให้กับผู้พบเห็นได้เสมอ การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าของชาวเผ่าอาข่าส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการปัก และการเย็บผ้าปะติดกับผืนผ้า ลักษณะลวดลายกลายเป็นศิลปะและเอกลักษณ์ที่ถูกสั่งสมจากบรรพบุรุษในอดีตและสืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ลักษณะของลวดลายส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากจินตนาการอันเพริศแพร้วของบรรพบุรุษในการนำเอาลักษณะของธรรมชาติที่ปรากฎอยู่รอบตัว เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ สัตว์ แมลง ก้อนหิน เป็นต้น นำมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายงานปัก ผสมผสานไปกับลวดลายที่มาจากข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดนตรี ในวิถีชีวิตประจำวันและในประเพณีของชนเผ่าอาข่าจนกลายเป็นลวดลายงานปักที่หลากหลาย เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าปักชนเผ่าอาข่าที่สะท้อนถึงตัวตนของชนเผ่าอาข่าที่ชัดเจน ซึ่งไม่ว่าจะพบเห็นจากแห่งหนใดก็รับรู้ได้ว่านี่คือเอกลักษณ์ผ้าชนเผ่าอาข่านั่นเอง

ลวดลายที่เป็นลวดลายดั้งเดิมที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษของชนเผ่าอาข่านับหลายร้อยปีถือเป็นเอกลักษณ์ของอาข่าที่มีความโดดเด่นที่เรามักพบเห็นอยู่บนผืนผ้าอาข่าแทบทุกผืน เช่น ลายลาฉ่อง หรือลายแถบแฉก ลักษณะลวดลายของลายลาฉ่องดูคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่มีลักษณะเรียวยาวปลายแหลมทั้งด้านบนด้านล่างถูกเย็บตรึงบนผืนผ้าด้วยด้ายหลากสีสัน ชาวอาข่าบางหมู่บ้านเรียก ลายนี้ด้วยชื่อภาษาไทยว่าลายแถบแฉกหรือการออกเสียงแบบชนเผ่าว่าแถะแฉะเป็นลายโบราณดั้งเดิมที่มีการสืบทอดจนกลายเป็นลายเอกลักษณ์บนผืนผ้าของชาวเขาเผ่าอาข่าที่พบได้ในผ้าของชาวอาข่าแทบทุกผืน หรือลายลาเถ่ ที่มีลักษณะเหมือนการนำลายแถบแฉกมาแบ่งครึ่งกลายเป็นสามเหลี่ยมทรงสูงจึงมักเรียกลายนี้ว่าแถบแฉกครึ่งเดียวเป็นลายที่ได้รับความนิยมสูงมากเช่นเดียวกับลายแถบแฉกที่สามารถพบลวดลายนี้ได้ในผ้าของชาวอาข่าแทบทุกผืนเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีลวดลายอื่นๆ อาทิเช่น ลายลิ้นผีเสื้อ ลายดอกแสงอาทิตย์(ชิมิจาดุ)ลายก้อนหิน ลายขาแมงมุม

จะเห็นได้ว่าจินตนาการของบรรพบุรุษชาวอาข่าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนละเอียดอ่อนที่มีความสัมพันธ์และใกล้ชิดธรรมชาติ สร้างสรรค์ลวดลายด้วยการสังเกตจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวถ่ายทอดสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นที่ยังคงมีการสืบทอดให้เห็นเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผืนผ้าปักอาข่าจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันนี้ เราอาจพบว่าเอกลักษณ์และศิลปะลวดลายบนผืนผ้าของชาวเผ่าอาข่าที่หลาสกหลายนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่นำมาออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายและประยุกต์สีสันที่สดใส

สอดแทรกเข้าไปเครื่องแต่งกายหรือเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันยุคใหม่อีกด้วย

สถานที่ตั้ง
หมู่บ้านปางขอน
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านปางขอน
ตำบล ห้วยชมภู อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สิริรัตน์ โอภาพ อีเมล์ sirirat_kn@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่