โคมไฟแขวน หรือโคมล้านนา ของทางภาคเหนือมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นงานศิลปะหัตกรรมที่มีความสวยงาม ประดับด้วยลวดลายของทางล้านนาอย่างประณีตบรรจง
เมื่อถึงเทศกาลยี่เป็ง หรือขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวล้านนาจะเตรียมเครื่องไทยทาน แล้วพากันไปทำบุญที่วัด
ผู้เฒ่าผู้แก่จะถือโอกาสไปฟังธรรมที่วัด พร้อมนอนค้างคืนที่วัด โคมล้านนาจึงเป็นของคู่กันมาช้านาน โคมล้านนาเป็นของจำเป็น จุดประสงค์คือ ต้องการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นตะเกียงจุดไฟให้แสงสว่างยามค่ำคืน แต่ในอดีตน้ำมันตะเกียงมีราคาแพง มักใช้ในราชสำนัก หรือในบ้านเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ชาวล้านนาจึงคิดรึเริ่มทำโคมไว้ใช้ภายในครอบครัว หรือสำหรับพิธีกรรมเท่านั้น
ปัจจุบัน โคมล้านนาถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น เพื่อการตกแต่งตามโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อความความสวยงาม อีกทั้งยังมีรูปแบบที่หลากหลายอีกด้วย
โคมล้านนาได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่สามารถทำรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ อีกทั้งยังสามารถสอนให้ลูกหลาน หรือผู้ที่สนใจ ทำสืบสานต่อไปได้อีกด้วย
ทางกลุ่มผู้สูงอายุ จักสาน โคม ตุง บ้านห้วยส้านดอนจั่น ในตำบลจอมหมอกแก้ว ยังคงร่วมสืบสานการทำโคมล้านนา โดยจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ ร่วมกันตั้งกลุ่มเผยแพร่ความรู้ พร้อมทั้งเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เป็นวิทยากรให้แก่ผู้ที่สนใจ