เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และขยายระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยังพร้อมทั้งให้พิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่
และเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพะยังเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่าให้รีบดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มายังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่ามีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็กๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ จนหมดและน้ำที่ออกมาก็ให้พิจารณาว่าจะนำไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ ในการบำรุงรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้นได้มากเพียงใด ตัวอย่างเช่น โครงการลำตะคองพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติยังทำได้เพราะทำแล้ว ได้ประโยชน์มาก
อ่างเก็บน้ำลำพะยัง ความจุ ๔,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
มีพื้นที่รับประโยชน์จากการส่งน้ำ ๔,๖๐๐ ไร่
ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๖ - พ.ศ. ๒๕๔๙ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มายังพื้นที่ทำการเกษตรของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย
อุโมงค์ลอดภูเขายาว ๗๑๐ เมตร ขุดร่องชักน้ำยาว ๗๕๐ เมตร วางท่อผันน้ำยาว ๑,๘๖๐ เมตร ก่อสร้างถังพักน้ำ ๑ แห่ง
ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเข้าแปลงจำนวน ๑๒ สาย ระยะทางรวม ๓๓.๕๓๘กิโลเมตร ในวงเงินงบประมาณ ๑๖๔ ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๒ ปี (ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ -พ.ศ. ๒๕๕๐) ทั้งนี้ภายในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ จะก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำให้แล้วเสร็จก่อนเป็นระยะทาง ๘.๓ กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำให้ราษฎรได้ใช้ในฤดูแล้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ จำนวน ๓,๑๓๐ไร่ จากพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมดของการผันน้ำเพิ่มเติม ๑๒,๐๐๐ ไร่
สรุป เมื่อก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ฝั่งโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ ๔,๖๐๐ไร่ เมื่อได้น้ำจากอุโมงค์ผันน้ำจะเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้อีก ๑๒,๐๐๐ ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด ๑๖,๖๐๐ ไร่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารควบคุม (Control House)
และติดตั้งอุปกรณ์ผันน้ำฝั่งกาฬสินธุ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
การบริหารจัดการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ
สำนักงาน กปร. ได้จัดให้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร และน้ำที่สามารถจะผันมายังพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการผันน้ำ เนื่องจากพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของทั้งจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดกาฬสินธุ์
การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่งจังหวัดมุกดาหาร
อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มีความจุ ๑๐,๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้เฉลี่ย๙,๐๐๐,๐๐๐ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน ๑,๖๐๐ ไร่ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำไม่เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำกักเก็บต่ำสุด (Dead storage) ๘,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำสำหรับผันมายังพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่งจังหวัดกาฬสินธุ์
เนื่องจากพื้นที่รับประโยชน์จากอุโมงค์ผันน้ำครอบคลุมพื้นที่ ๑๒,๐๐๐ไร่ แต่น้ำที่จะผันมีจำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สำนักงาน กปร. จึงได้ประสานกรมชลประทานให้พิจารณาการบริหารจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์ โดยมีแนวทาง
การดำเนินการ ดังนี้
๑. กำหนดพื้นที่นำร่อง (Pilot Area) สำหรับการทดลองผันน้ำและกระจายสู่พื้นที่รับประโยชน์ในระยะแรกเป็นพื้นที่ ๓,๑๓๐ ไร่ ในฤดูแล้งปี พ.ศ.๒๕๕๐
๒. การผันน้ำ จะเน้นการส่งน้ำในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งจะส่งน้ำให้เฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จริงเท่านั้นพื้นที่รับประโยชน์จากอุโมงค์ผันน้ำ ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่อง ๓,๑๓๐ ไร่ เพื่อเฉลิม
พระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- - งานขยายผลการเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ - -
ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๗ สำนักงาน กปร. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสนับสนุนงานพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่อำเภอเขาวง ปัจจุบันมีสระน้ำทฤษฎีใหม่ รวมทั้งสิ้น ๔๗๑สระ
การปลูกพืชในเขตชลประทาน หมู่ที่ ๕,๖,๗,๑๐,๑๔,๑๑๕,๑๖ ตำบลสงเปลือย ได้แก่ ข้าวโพด ๗๐ ไร่ ยาสูบเตอร์กิส ๕ ไร่ ถั่วลิสง ๔๐ ไร่ กระเทียม ๕ ไร่ ฟักทอง ๓ ไร่ บวบ ๒ ไร่ ถั่วฝักยาว ๒ ไร่ถั่วพุ่ม ๒ ไร่ รวมพื้นที่ ๑๔๔ ไร่ เกษตรกร ๔๘ ราย มูลค่าผลผลิต ๕๒๗,๐๕๖ บาทส่งเสริมการผลิตข้าวชุมชน (ข้าวเหนียวกอเดียว) ในพื้นที่ หมู่ที่ ๒,๓,๔,๑๒ ตำบลสงเปลือย ๑๒๖ ราย พื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ และหมู่ ๕ ตำบลคุ้มเก่า ๔๔ ราย พื้นที่ ๓๐๐ ไร่
ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิชุมชน ในพื้นที่เกษตรกรหมู่ที่ ๔,๗,๘ ตำบลสงเปลือย ๙๐ ราย พื้นที่ ๗๕๐ ไร่ หมู่ที่ ๕ ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ ๓๐ ราย ๒๕๐ ไร่ รวมทั้งสิ้น ๑๒๐ ราย ๑,๐๐๐ ไร่
ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตการเกษตร ๓ แห่ง ได้แก่ ตำบลสงเปลือย ตำบลหนองผือ ตำบลกุดปลาเค้า สามารถผลิตปุ๋ยได้โรงงานละ ๑๐๐ ตันต่อปี เพื่อสนับสนุนการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ