ประวัติความเป็นมาของการรำโจ๋ง
นายธวัช ธูปมงคล อายุ ๙๑ ปี นายธวัช ธูปมงคล ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ ๕๗ หมู่ ๕ ตำบล สระประ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ บิดาชื่อ นายสูตร ธูปมงคล มารดาชื่อ นางสองเมือง ธูปมงคล มีอาชีพ เกษตรกรรม ได้ให้สัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของการรำโจ๋งว่า การละเล่นรำโทนหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “รำโจ๋ง” เป็นการเล่นที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้ที่คิดค้นขึ้น แต่พอมีเค้าว่า ในสมัยก่อนนั้นชาวเมืองวิเชียรบุรีมักคิดติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาหรือเมืองต่าง ๆ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางลำน้ำป่าสักอยู่เนือง ๆ จึงนำเอาเครื่องดนตรีประเภทกลองโทน ฆ้อง รวมทั้งท่วงท่ารำจากการละเล่นรำวง การแสดงกลองยาวหรือลิเกของพื้นภาคกลาง แล้วคิดดัดแปลงท่วงท่ารำใหม่ตามภูมิปัญญาประยุกต์เข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนที่เมื่อยามหน้าแล้งว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาเด็ก ๆ หนุ่มและสาว ๆ ในช่วงยามเช้าหรือบ่ายมักต้อนวัวและควายจากคอกปล่อยออกไปและเล็มกินหญ้ากินน้ำตามทุ่งไร่ทุ่งนา ส่วนคนเลี้ยงบ้างก็พากันไปคุยกันเล่นกันอยู่ตามร่มไม้ใหญ่ บ้างก็ลงลำห้วยบึงแม่น้ำ หรือเช้าไปในชายป่าที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อหาเก็บผักหักฟืน พอวัวควายอิ่มพลีแล้วจึงแยกย้ายกันต้อนกลับคืนบ้านของตนทำให้เกิดท่าร่ายรำเยื้องย่างช้า ๆ มีกลองโทนและฆ้องคอยตีเพื่อกำกับจังหวะ
โดยมีจินตนาการในลักษณะการต้อนวัว ซึ่งแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายสมมุติให้ฝ่ายชายเป็นวัว ส่วนฝ่ายหญิงเป็นคนต้อนและไล่จับวัว โดยฝ่ายหญิงจะไปต้อนฝ่ายชายออกมาทีละคน ในขณะที่ไล่ต้อนจับกันอยู่นั้น จะมีสัญญาณโทนตีจังหวะเสียงดัง ครึ่ม ครึ่ม ครึ่ม เมื่อจับได้แล้ว ฝ่ายหญิงจะควบคุมไว้ แล้วไล่ต้อนจับฝ่ายชายคนต่อไปจนหมด แล้วจึงชวนกันออกมารำฝ่ายหญิงจะรำเป็นวงกลมอยู่รอบนอก ฝ่ายชายจะรำอยู่วงในทำทีเหมือนถูกล้อมคอก ท่ารำท่อนนี้จะเปลี่ยนไปตามจังหวะการตีของกลองโทน เสียงดัง โจงจะโจง ครึ่ม ๆ จำนวน 7 เที่ยว แล้วเปลี่ยนเป็นครึ่ม 1 เที่ยว ในช่วงนี้ฝ่ายชายจะเปลี่ยนคู่รำ อาจจะไปข้างหน้าหรือถอยมารำกับคนข้างหลังก็ได้ พอร่ายรำกันจนเหนื่อยแล้วจึงพักพูดคุยกันหรือแยกย้ายกันกลับบ้านเรือนของตน ครั้นเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้มีผู้นำเอาการเล่นรำโจ๋งไปประยุกต์เป็นการละเล่นต่าง ๆ เช่น รำเทิ่งบ้อง รำวงประยุกต์ เป็นต้น
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบที่สำคัญ
๑.กลองโทน ๒ – ๔ ลูก ซึ่งเดิมได้ทำจากเครื่องปั้นดินเผา สำหรับหนังช่วงใช้ตีโทนสมัยก่อนจะนำหวายมาสานขึงหนังตะกวด หรือหนังตัวแลนให้แน่นตึงกับดินเผา แต่ปัจจุบันส่วนมากจะทำด้วยหนังงูเหลือม
๒.ฆ้องโหม่ง ๑ ใบ
ลักษณะการแต่งกาย
๑. ฝ่ายหญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก และห่มสไบ
๒. ฝ่ายชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าสไบคล้องคอ
ก่อนจะมีการแสดงรำโจ๋ง
ผู้ให้สำภาษณ์ คือ นายธวัช ธูปมงคล และนางน้อย ตะกรุดแก้ว ผู้แสดงรำ และผู้แสดงตีโทน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะรำต้องมีการไหว้ครูเสียก่อน ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้
๑. เงินค่าครู จำนวน ๑๒ บาท
๒. ดอกไม้ใส่กรวย ๑ คู่
๓. บุหรี่ หมาก พลู จำนวน ๕ คำ
๔. ธูป ๓ ดอก
๕. เทียน ๒ เล่ม