ความเป็นมา
การจัดประเพณีบุญบั้งไฟของชาวพุเตยนั้นเป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพุเตย ซึ่งส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน ตามหลักความเชื่อที่ว่าผู้ที่ทำให้ฝนตกลงมา คือ เทพผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการคิดกุสโลบายด้วยการสร้างบั้งไฟ เพื่อจุดขึ้นฟ้าเป็นเสมือนสื่อกลางและทำหน้าที่แจ้งข่าวให้เบื้องบนทราบว่าถึงฤดูทำการเกษตรแล้ว ขอให้ท่านบันดาลฝนให้ตกลงมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของพี่น้องชาวพุเตย นอกจากการสร้างขวัญและกำลังใจแล้วถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวเทศบาลตำบลพุเตย นั้นคือ ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีและความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
เมื่ออย่างเข้าเสาร์-ทิตย์ที่ 3 ของเดือน 6 คือ เดือนพฤษภาคม ของทุกปี ชาวพุเตยต่างใจจดใจจ่อกับงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ “ ประเพณีบุญบั้งไฟ ” ซึ่งเป็นประเพณีที่ทางเทศบาลฯ ภายใต้การนำของ นายกฯจินตนา ทองใจสด นายกเทศมนตรี จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 11 แล้ว กลายเป็นประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวเทศบาลตำบลพุเตยและยิ่งไปกว่านั้น ประเพณีบุญบั้งไฟพุเตยนับเป็นประเพณีบุญบั้งไฟที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ”
ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวพุเตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลเกียรติยศให้กับชุมชนที่ชนะเลิศการประกวด ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟเทศบาลตำบลพุเตยจะจัดขึ้น 2 วันด้วยกัน โดยวันแรกจะมีการแห่ขบวนบั้งไฟ ที่แต่ละชุมชนตกแต่งริ้วขบวนไว้อย่างสวยงาม มีขบวนนางรำที่มีท่ารำอ่อนช้อยผสานกับจังหวะเร้าใจสไตล์อีสานบ้านเฮา จุดเริ่มต้นของงานเริ่มที่หน้าศาลเจ้าพ่อพุเตย ซึ่งแต่ละชุมชนจะต้องรำถวายเจ้าพ่อพุเตยเป็นจุดแรก หลังจากนั้นจะแห่ขบวนบั้งไฟไปตามถนนสายหลักของเมืองไปยังบริเวณสถานที่จัดงาน เพื่อทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมีการแสดงของแต่ละชุมชน ส่วนในวันที่ 2 จะมีประกวดแข่งขันจุดบั้งไฟสูง และในปีนี้เทศบาลได้จุด บั้งไฟแสน และ บั้งไฟล้าน อีกด้วย