ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 30' 56.8044"
16.5157790
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 41' 35.5614"
103.6932115
เลขที่ : 100340
งานฌาปนกิจศพ บ้านหนองแคน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์
เสนอโดย กาฬสินธุ์ วันที่ 22 มิถุนายน 2554
อนุมัติโดย mculture วันที่ 18 มีนาคม 2559
จังหวัด : กาฬสินธุ์
0 1520
รายละเอียด

ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน

การตั้งศพ
เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนประดับเรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (ตะเกียงมีโคมหรี่ไว้ปลายเท้า 1 คู่)
ในพิธีทางราชการ เมื่ออาบน้ำศพและนำศพขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระ 10 รูป หรือ 20 รูป สดับปกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ ก็เป็นเสร็จพิธี
แต่ศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์มา 10 รูป หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อพระมาถึงแล้ว ทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพ หรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร, จีวร, สบง, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดหน้า ก็ได้) เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีในตอนนี้

ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม

- ได้เวลานิมนต์พระประจำที่

- เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป ณ ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

เสร็จแล้วจุดเทียนธูปบูชาหน้าศพ แล้วกลับมานั่ง

- พิธีกร อาราธนาศีล รับศีลจบแล้ว พระสงฆ์ก็เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป

- เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดพระอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว พิธีกร

เชิญเจ้าภาพถวายไทยธรรม แล้วชักผ้าภูษาโยง หรือด้ายสายสิญจน์

- เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)

- พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์อนุโมทนา

- เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์เดินทางกลับ

- เสร็จพิธี

การทำบุญ7 วัน
เมื่อเก็บศพไว้ครบ 7 วัน เช่น ตายในวันศุกร์ พอถึงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ต่อมา ก็นิมนต์พระ 7 รูป (พิธีทางราชการ 10 รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้าในวันรุ่งขึ้น แล้วจะมีสดับปกรณ์ (สวดมาติกาบังสุกุล) แสดงพระธรรมเทศนาต่อก็ได้ หรือทำในตอนเช้าหรือตอนเพล โดยไม่ต้องสวดมนต์เย็นก็ได้

การฌาปนกิจศพ
การฌาปนกิจศพหรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน
เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก 3 วัน 7 วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ

การเก็บอัฐิ
เมื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายในตอนเย็นวันเผาเลย ทั้งนั้น เพื่อจะฉลองเสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ 19.00 น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ 20.00 น. นิมนต์พระสวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือเก็บกลับบ้าน ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ส่วนมากเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับพิธีทางราชการ
สำหรับชนบทบางที่ นิยมเก็บในวันที่ 7 จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา

การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป 1 เทียน 1 ใส่เชิงเล็กและดอกไม้ทำเป็น 3 พุ่ม) 1 ที่, สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ) ใส่น้ำอบไทย 1 ขวด พานใส่เงิน (เศษสตางค์) 1 พาน และที่ที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ
เมื่อพร้อมกันแล้วก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายพระ เลี้ยงพระ 3 ชุด ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองที่มีสำรับคาว 1 หวาน 1 เป็นเครื่องกิน ชุดที่สามมีหม้อข้าวเตาไฟเครื่องใช้
หรือจะจัดสามหาบอีกหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าวเชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และเหมือนกันอย่างนี้ทั้งสามหาบ จัดให้บุตรหลานหรือเครือญาติ 3 คน เป็นผู้หาบคนละหาบ
หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น 9 คน แบ่งเข้าชุด 3 คน ต่อ 1 ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้คือ ถือไตร 1 คน, ถือจาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ 1 คน, หาบสำรับคาวหวาน 1 คน จัดอย่างนี้ทั้ง 3 ชุด เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ 3 รอบ เวลาเดินให้กู่กันด้วยตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า "วู้ ๆ ๆ" คนและ 3 ครั้ง แล้วจึงนำสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์
เมื่อเดินสามหาบแล้วก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้ววางไตร 3 ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบ และเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคือ อังคารรวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้น รวบชายขึ้นห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบและบังสุกุล แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน หรือถ้าไม่มี 3 หาบ ก็เก็บอัฐิอังคารและบังสุกุล ณ ที่นั้น เป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้วขึ้นบันไดบ้าน เมื่อถึงบ้านนั้น เจ้าภาพจะโปรยเศษสตางค์เป็นการให้ทานด้วย

แปรธาตุ
ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผา หรือในวันรุ่งขึ้น หรือ 3 วัน 7 วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า "บังสุกุลตาย" จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข" เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า "บังสุกุลเป็น" พระสงฆ์บังสุกุลว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ" แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป

ทำบุญอัฐิ(ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก 3 วัน หรือ 7 วัน จึงทำก็ได้ รายการมีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตักบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายสีต่าง ๆ จากสีขาว - ดำได้

ได้อะไรในงานศพ
1. ได้แสดงความเคารพนับถือผู้ตาย
2.ได้เห็นใจท่านเจ้าภาพ
3. ได้ซึมซาบสัจธรรม
4.ได้ชื่นชมของชำร่วย
5. ได้รวยทางลัด (เอาอายุคนตายไปเล่นหวย)

สีที่ไว้ทุกข์ในสมัยโบราณ
สีดำ – สำหรับผู้ใหญ่ที่แก่กว่าคนตาย
สีขาว – สำหรับผู้อ่อนอายุกว่าคนตาย
สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่ – สำหรับผู้ที่มิใช่เป็นญาติกับคนตาย
ตกมาปัจจุบัน คงใช้สีดำเป็นส่วนใหญ่
วันห้ามเผาศพ
1. วันพระ – เพราะเป็นวันรักษาอุโบสถ ผู้คนย่อมไม่สะดวกในการเผาศพ ลำบากแก่ผู้จะไปและการแต่งกาย
2. วันพฤหัสบดี – เพราะถือว่าเป็นวันครู ถ้าเผาศพในวันนี้ก็เท่ากับเผาครู เป็นการไม่ดี
3. วันศุกร์ – โบราณถือมาก ถือว่าเป็นวันแห่งความสุข ไม่ควรจะมีงานอันเกี่ยวแก่ความทุกข์ จึงต้องงดเว้นอย่างเด็ดขาด

ทักษิณานุปทานคืออะไร
ตามประเพณีนิยมเมื่อเผาศพ จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับ พิธีนี้เรียกว่า “ทักษิณานุประทาน” หรือที่เรียกว่า ทำบุญ 7 วัน(สัตตมวาร) ทำบุญ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) ทำบุญ 100 วัน(สตมวาร)

เทียนทำน้ำมนต์เมื่อดับแล้วห้ามจุดอีก
เมื่อพระท่านทำพิธีทำน้ำมนต์และดับเทียนแล้ว มีเคล็ดอยู่ว่าอย่านำเทียนนั้นมาจุดอีก เพราะเวลาท่านทำพิธีดับนั้น เป็นการดับทุกข์โศกโรคภัยและเสนียดจัญไรทั้งปวง

วันโบราณห้าม
1. ขึ้นบ้านวันเสาร์
2. เผาผีวันศุกร์
3. โกนจุกวันอังคาร
4. แต่งงานวันพุธ

ทำไมจึงห้าม
วันเสาร์ – เป็นวันทุกข์โศก ขึ้นแล้วจะไม่มีความสุข
วันศุกร์ – เป็นวันโชคลาภ รื่นเริง มีสุข จึงมิควรเผาศพคนอยู่จะเดือดร้อน ดังคำที่ว่า “เผาผีวันศุกร์ให้ทุกข์คนยัง” ที่จังหวัดเพชรบุรี มีคำกลอนสอนไว้ว่า “วันศุกร์ห้ามขึ้นเขา วันเสาร์ห้ามลงทะเล”
วันอังคาร – เป็นวันแรง มักมีอุปัทวเหตุ เลือดตกยางออก หากโกนจุกวันนี้อาจเผลอพลาด ทำมีดบาดได้ง่าย
วันพุธ – เป็นวันเรรวน ไม่แน่นอน หากแต่งงานหรือหมั้นหมาย มักจะไม่ยั่งยืน

ทำไมจึงห้ามข้ามด้ายสายสิญจน์
เวลาพระเจริญพระพุทธมนต์ ท่านโยงด้ายสายสิญจน์มาจากฐานพระประธาน หากข้ามด้ายก็เท่ากับข้ามพระ (เป็นการเสียมารยาทและขาดความเคารพ)

สถานที่ตั้ง
วัดวิเศษไชยศรี
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านหนองแคน
ตำบล ดอนจาน อำเภอ ดอนจาน จังหวัด กาฬสินธุ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดวิเศษไชยศรี
บุคคลอ้างอิง ณัฐวดี รอดภัย
ชื่อที่ทำงาน สนง.วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
เลขที่ ศาลากลางชั
ตำบล กาฬสินธุ์ อำเภอ เมืองกาฬสินธุ์ จังหวัด กาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ 46000
โทรศัพท์ 043-815806 โทรสาร 043-811394
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่