นายจาง ฟุ้งเฟื่อง
นายจางมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๑๑/๕ หมู่ ๗ บ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ประกอบอาชีพทำการประมง
ชีวิตวัยเด็ก
ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง เรียนจบการศึกษาชั้น ป.๔ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เริ่มทำงานเนื่องจากพ่อ แม่ยากจน และมีลูกมาก ต้องช่วยพ่อ แม่หาเงินเลี้ยงน้อง ๆ ก็ฝึกการออกทะเลกับพ่อแม่ พอเกิดความชำนาญ ก็เริ่มจากการทำงานเป็นลูกจ้างทางประมง เช่น การทำโป๊ะ ออกอวนเฉ เป็นลูกจ้างจนอายุ
๒๘ ปี ก็ออกมาแต่งงานกับนางประเทือง ที่บ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากในปี ๒๕๓๒ เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ ได้อพยพครอบครัวกับนางประเทือง มาอยู่ที่เกาะเตียบ ในปี ๒๕๓๔ เนื่องจาก ชายฝั่งและทะเลอ่าวทุ่งมหามีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงได้ทำการประมงชายฝั่งตลอดมา
ประสบการณ์การทำงานด้านที่เชี่ยวชาญ
๑. ด้านการทำประมงชายฝั่ง การออกอวนปู ลอบดักปู การทำ “ธนาคารปู”
๒. ระยะเวลาในด้านที่มีความเชี่ยวชาญ ๘ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน
๓. ลุงจางได้ถ่ายทอดและการพัฒนาการถ่ายทอดความรู้ โดยการ
- เป็นวิทยากรในโรงเรียน นอกโรงเรียน ในชุมชน ในจังหวัด และต่างจังหวัด
- ไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและประเทศญี่ปุ่น
- มีเครือข่ายมาศึกษาดูงานที่บ้าน ที่กระชังปู
- ออกรายงาน TV หลายช่อง
- สอนผ่านทางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
๔. ผู้รับการถ่ายทอดความรู้ในโรงเรียน/นอกโรงเรียน/ตามอัธยาศัย จำนวน ๒๐,๐๐๐ คน ถ่ายทอดทั้งในพื้นที่ ในจังหวัด ต่างจังหวัด
๕. ผู้รับการถ่ายทอดนำความรู้ไปใช้ จำนวน ๕,๐๐๐ คน
๖. การสร้างเครือข่ายและการเผยแพร่ความรู้
(๑) เครือข่ายชื่อ นักเรียนนักศึกษา จำนวน ๑๕๐๐ คน
(๒) เครือข่ายชื่อ นักจัดรายการ TV หลายช่อง จำนวน ๑๐๐ คน
(๓) เครือข่ายชื่อ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทั้งในพื้นที่จังหวัด และต่างจังหวัด จำนวน ๕,๐๐๐ คน
๗. ประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญอื่นๆ เช่น
เป็นวิทยากรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยเฉพาะ เรื่อง ธนาคารปูม้า ทั้งในและนอกพื้นที่อำเภอปะทิว
ผลงานที่ปรากฏ
๑. ผลงาน (ที่มีความเชี่ยวชาญในข้อ ๒.๑) เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม
ได้แก่ เรื่อง สนับสนุนรายการ “ศักษาทัศน์” ตอน “ธนาคารปูม้า” เผยแพร่ที่ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
เรื่อง ปราชญ์เดินดิน เผยแพร่ที่ รายการ เรื่องจริงผ่านจอ ผ่านโทรทัศน์ช่อง
เรื่อง ทุ่งแสงตะวัน เผยแพร่ที่ รายการทุ่งแสงตะวัน ผ่านโทรทัศน์ช่อง
เรื่อง แผ่นดินพอเพียง เผยแพร่ที่ รายการแผ่นดินพอเพียง
เรื่อง ธนาคารปู เผยแพร่ที่ รายการเพื่อสยาม
เรื่อง ตามหาปูม้า..กับลุงจาง
เรื่อง แทนคุณแผ่นดิน
๒. ผลงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์
การจัดตั้ง “ธนาคารปูม้า” รายละเอียดตามเอกสารในภาคผนวกการทำลอบปูม้าตาห่าง
๓. ผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคม
-เป็นประธานกลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า เครือข่ายลุ่มน้ำปากพนังในการบริหารจัดการ “ธนาคารปู” ภายใต้กิจกรรมเสริมศักยภาพเครือข่ายลุ่มน้ำปากพนัง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ริเริ่มในการทำ “ธนาคารปู”ในพื้นที่ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
- เป็นวิทยากรฝึกอบรมโครงการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แก่ผู้แทนนักเรียนช่วงชั้นที่ ๒ ในพื้นที่อำเภอปะทิวจำนวน ๑๓๐ คน จัดโดยสภาวัฒนธรรมอำเภอปะทิว อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
- ปี ๒๕๕๐ เป็นผู้ให้การสนับสนุนรายการ “ศักษาทัศน์” ตอน “ธนาคารปูม้า” จัดโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดย นายขวัญแก้ว วัชโรทัย และสถานีโทรทัศน์หลายช่อง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์/เกียรติคุณ/รางวัลที่เคยได้รับ
เกียรติคุณและรางวัลที่เคยได้รับ
- ในปี ๒๕๔๙ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน”
- ในปี ๒๕๕๐ ได้รับรางวัลแทนคุณแผ่นดิน “ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน สาขาเกษตรกรรม”
- ได้รับรางวัล “ชาวประมงดีเด่นด้านการอนุรักษ์ปูม้า อาวทุ่งมหา”จากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมประมง
- ปี ๒๕๕๐ เป็นบุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร
ประวัติชีวิตและการทำงาน
จาง ฟุ้งเฟื่องเรียนจบการศึกษาชั้น ป.๔ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เริ่มทำงานเนื่องจากพ่อ แม่ยากจน และมีลูกมาก ต้องช่วยพ่อ แม่หาเงินเลี้ยงน้อง ๆ ก็ฝึกการออกทะเลกับพ่อแม่ พอเกิดความชำนาญ ก็เริ่มจากการทำงานเป็นลูกจ้างทางประมง เช่น การทำโป๊ะ ออกอวนเฉ เป็นลูกจ้างจนอายุ
๒๘ ปี ก็ออกมาแต่งงานกับนางประเทือง ที่บ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากในปี ๒๕๓๒ เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ ได้อพยพครอบครัวกับนางประเทือง มาอยู่ที่เกาะเตียบ ในปี ๒๕๓๔ โดยอยู่ในเรือกลางทะเล เนื่องจาก ชายฝั่งและทะเลอ่าวทุ่งมหามีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อจับปู ปลาได้ ก็นำไปขาย ซื้ออาหารลงมากินในเรือ อยู่อย่างนี้ตลอดมา อยู่ที่เกาะเตียบ อ่าวทุ่งมหานี้ประมาณ ๑ เดือน กลับบ้านที่บ่อนอกครั้งหนึ่ง ต่อมาก็สร้างเป็นขนำที่ชายหาดอาศัยชั่วคราว ซึ่งเป็นที่ของเอกชนจนถึงปี ๒๕๔๕ เกิดวิกฤตในเรื่องของการทำอาชีพประมงชายฝั่ง ไม่ค่อยมีสัตว์น้ำที่จะให้จับ
ในปี ๒๕๔๕ ลุงจางฟุ้งเฟื่อง เริ่มคิดหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้อาชีพของเราอยู่ได้ ปรึกษากับเพื่อนบ้านในชุมชนเกาะเตียบ จึงรวมกลุ่มรั้งแรกได้ ๑๘ คน โดยนายจาง ฟุ้งเฟื่องเป็นประธานกลุ่ม จัดตั้งเป็น “ธนาคารปู” จึ่งได้สมทบทุนในหมู่สมาชิกสร้างกระชังปูในทะเล กระชังปูเป็นที่พักของแม่ปู หาก
สมาชิกคนใดจับแม่ปู (ปูไข่) ได้ให้นำมาให้ลุงจางวันละตัวเพื่อนำไปปล่อยในกระชัง ให้แม่ปูวางไข่หมดจึ่งจับมาขายต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน และเงินที่ได้จากการจับแม่ปูที่วางไข่แล้วจากกระชังจะรวบรวมและนำมาปันผล และเป็นสวัสดิการแก่สมาชิก ทำอย่างนี้จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ปูม้ามีจำนวนมากขึ้น ประชาชนที่ทำประมงชายฝั่งโดยเฉพาะการจับปูม้า ก็หาเงินได้พอเลี้ยงชีพ ปัจจุบันลุงจางมีสมาชิกในธนาคารปูม้ามากว่า ๕๐ คน และมีหน่วยงานราชการ เอกชน เข้ามาให้การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณ จำนวนหลายหน่วยงาน
และปัจจุบันลุงจาง ได้คิดสร้างลอบดักปูม้าตาห่างให้เหมาะแก่การจับปูที่จะต้องไม่จับลูกปูขึ้นมาอีกและให้สมาชิกใช้ทุกคน เพื่อจะได้จับเฉพาะปูที่โตเต็มวัยมาขายและได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงทั่วไปได้ใช้ลอบตาห่าง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ปัจจุบันลุงจางอายุ ๗๑ ปี คิดว่าตนเองได้ทำประโยชน์กับทรัพยากรมากมายและทำประโยชน์เพื่อสังคม ชุมชน อย่างเต็มที่ และตั้งใจจะทำต่อไปเรื่อง ๆ หากมีกำลังพอ และลุงจางได้มีคติประจำใจว่า“ฟื้นฟู คู่อนุรักษ์ รู้จักใช้อย่างยั่งยืน”และหากใครต้องการรู้เรื่องปูก็ต้องมาดูลุงจาง"