บ้านแม่แอบ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยพันเอกพงเกา แซ่จาง ทหารชาวจีน ได้นำกำลังมาปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่มาทำการก่อการในพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อเสร็จภารกิจทางทหารทางราชการจึงให้ดูแลพื้นที่แห่งนี้ พร้อมทหารชาวจีนที่ผ่านการรบมาแล้ว หลังพันเอกพงเกา แซ่จาง เสียชีวิตแล้วทหารชาวจีนก็กระจายกันตั้งครอบครัวทำมาหากินกันในบริเวณนี้ผู้นำหมู่บ้านต่อจากพันเอกพงเกา แซ่จาง คือ นายพลยี่เขง แซ่หลุย ซึ่งปัจจุบัน คือ นายชาตรี เด่นวิภัยวนา
บ้านแม่แอบ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศตะเหนือ ติดกับ บ้านห้วยข่อยหล่อย ตำบลบ้านแซว
ทิศใต้ ติดกับ บ้านขุนแม่บง (อำเภอดอยหลวง)
ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยน้ำเย็น
ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านขุนแม่บง (อำเภอดอยหลวง)
ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ๒๗ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๔๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ทหารและกรมป่าไม้จัดให้ราษฎรอยู่อาศัย จำนวน ๓๕๐ ไร่ เดิมอยู่ในเขตปกครองของทหาร และได้โอนให้อยู่ในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือน กันยายน ๒๕๓๘ โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นรับมอบ ราษฎรในหมู่บ้านมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น จีน ไทยใหญ่ ลั๊วะไทยลื้อ อาข่า มูเซอ เย้า ปะล่อง ลีซอ ว้า ส่วนชาวจีนคณะชาติอพยพและจีนฮ่ออิสระ มีจำนวน ๓๙๐ หลังคาเรือน ราษฎรที่ได้รับสัญชาติไทยมีน้อยกว่าราษฎรที่ถือบัตรบุคคลพื้นที่สูง(บัตรสีฟ้า) ปัจจุบันหมู่บ้านมีการพัฒนาขึ้นมาก มีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์โรงเรียน สถานีอนามัย วัด โบสถ์ สหกรณ์ ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน
ประวัติชุมชนบ้านแม่แอบ
เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๓ นายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพร้อมด้วยพลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และพลโทจำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าวกองทัพภาค ๓ ถูกผู้ก่อการร้ายยิงเสียชีวิตที่บริเวณดอยหลวง (บ้านห้วยกว๊าน หมู่ ๙ ตำบลบ้านแซวในปัจจุบัน) ตอนนั้น ปก.๐๔ ได้มีคำสั่งให้กองพล ๙๓ โดยการนำของนายจี่เกา แซ่จาง ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล ๙๓ สังกัดบ้านแม่สลอง จำนวน ๕ กองร้อย เข้าปราบปราบผู้ก่อการร้ายที่บริเวณดังกล่าว จนถึงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ ประสบผลสำเร็จ ผลจากการปราบปรามดังกล่าวทางราชการจึงได้จัดสรรพื้นที่จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ พร้อมกับจัดสร้างบ้านพักจำนวน ๔๐ หลัง ให้แก่กำลังพลของกองพล ๙๓
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้อพยพราษฎรจากบ้านแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จำนวน ๔๐ ครัวเรือน เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว โดยตั้งเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านป่าตึง หมู่ ๕ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ภายใต้การปกครองของกองอำนวยการทหารสูงสุด
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๘ ทางกรรมการหมู่บ้านแม่แอบได้ไปรับมอบการปกครองตนเองจาก ฉก.๓๒๗ กองอำนวยการทหารสูงสุดที่บ้านผาตั้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น โดยให้มีการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ หมู่บ้านแม่แอบจึงได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านโดยสมบูรณ์ มีประชากรอยู่ร่วมกันหลากหลายชนเผ่า ได้แก่ จีน ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลัวะ มูเซอ อาข่า ว้า ลีซอ
ราษฎรในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และบรรพบุรุษ วัฒนธรรมและประเพณีในชุมชน มีทั้งประเพณีจีน ไทยใหญ่ ลัวะ ฯ
การสื่อสารส่วนใหญ่เป็นชุมชนคนจีน พูดภาษาจีน ในหมู่บ้านมีทั้งโรงเรียนไทยและโรงเรียนจีน เหมือนชุมชนบ้านแม่สลอง บ้านเวียงหมอก บ้านผาตั้ง หรือบ้านเทิดไทย
ผู้นำหมู่บ้าน
๑. ผู้พันศรี หรือคุณกมล เด่นวิชัยมาศ เป็นผู้นำหมู่บ้าน
๒. ผู้พันหวู หรือคุณสมจิตร ผาติล้ำเลิศ เป็นผู้นำหมู่บ้าน
๓. คุณชาตรี เด่นวิภัยวนา เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๕
๔. คุณพรทิพย์ ผาติเกษมสันต์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๕๐
๕. คุณปนัดดา อติภาสวร เด่นวิภัยวนา เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน
สถานที่สำคัญในชุมชน
๑. วัดแม่แอบดอนแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ๑๔ ไร่ มีพระธาตุดอยตุงจำลอง ๑ องค์ ก่อสร้างโดยพลังความศรัทธาจากชาวบ้านแม่แอบ ปัจจุบันมีพระสงค์จำวัด
โดยท่านพระครูปภาระโร เป็นเจ้าอาวาส
๒. คริสตจักรแม่แอบฟื้นฟูใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศาสนาคริสต์ ปัจจุบันมีคุณหวัง เป็นผู้ดูแล
๓. อนุสรณ์ชุดบัญชาการ ฉก. ๑๒ (บก. ๐๔) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗
โดยรัฐบาลไทย เป็นกองบัญชาการและจุดประสานงานของอดีต บก.๐๔ (ทหารบก)
กับอดีตทหารจีนคณะชาติ
๔. ศาลเจ้าพี่น้องชาวไตย ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยการนำของคุณพิชัย ผดุงกิจการ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของพี่น้องชาวไตยในชุมชน
๕ อนุสรณ์สถานบ้านแม่แอบ ก่อสร้างอาคารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากชาวจีนโพ้นทะเลใต้หวัน เป็นสถานที่เก็บป้ายวิญญาณของทหารจีนคณะชาติที่เสียชีวิต และผู้กล้าหาญของหมู่บ้าน
๖. กองบัญชาการทหารจีนคณะชาติ (กองพล ๙๓) เป็นอาคารอนุสรณ์ของทหารจีนคณะชาติ (กองพล ๙๓) ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยการนำของผู้พันศรี หรือคุณกลม เด่นวิภัยมาศ ผู้บัญชาการอดีตทหารจีนคณะชาติกับรัฐบาลไทยที่ทำการรบกับผู้ก่อการร้าย
๗. อนุสรณ์สถาน ที่เก็บคลังอาวุธของอดีตทหารจีนคณะชาติ นำการสร้างโดยผู้พันหวู หรือคุณสมจิตร ผาติล้ำเลิศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
๘. ศาลเจ้าบ้านแม่แอบ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน S M L ซึ่งมีนายพิซิต แดนเดือนเพ็ญ เป็นประธานดำเนินการ
๙. โรงเรียนจีน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาคมชาวจีนโพ้นทะเล (ไต้หวัน) เป็นสถานที่สอนภาษาจีนแก่บุตรหลานในชุมชนบ้านแม่แอบ มีครูทั้งหมด ๘ คน ชาย ๕ หญิง ๓ คน มีเล่าซือหมิงหย่า แซ่ลี หรือครูนเรศ ใจมัสุขทุกาพลา เป็นครูใหญ่
๑๐. โรงเรียนไทย ก่อสร้างอาคารถาวรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีนักเรียนทั้งหมด ๖๙๕ คน