พิธีขึ้นเปลเด็กของชาวบ้านอำเภอลำทับ ถือเป็นการรับขวัญเด็กแรกเกิด หรือสมาชิกคนใหม่ในบ้านอย่างเป็นทางการ โดยกระทำเมื่อเด็กมีอายุครบ ๑ เดือนเมื่อเด็กมีสุขภาพแข็งแรงดี โดย บิดามารดา ปู่ย่าตายาย จะเชิญหมอ ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่มีความรู้ด้านการทำคลอด การผดุงครรภ์โบราณ การเลี้ยงดูเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งส่วนมากจะเป็นหมอตำแยในสมัยก่อน มาทำพิธี ในที่นี้ เรียกว่า หมอทำขวัญ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กเลี้ยงง่ายมีอายุมั่นขวัญยืน สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งบิดามารดา ต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม , แกงคั่วไก่ , ขนมโค , ข้าว ๑๒ ( ได้แก่ ข้าว ปลา อาหารที่จัดวางไว้ในถ้วยใบเล็ก ๆ ให้ครบ จำนวน ๑๒ ใบ ) มะพร้าวอ่อน, หมากพลู , ไว้ให้พร้อมเพื่อให้หมอได้ทำพิธีเชิญปู่ย่าตายายให้มาคุ้มครองเด็ก เจิมหัวนอนเด็กด้วยแป้งจันทร์มันหอม หมากพลู เงินทอง วางในเปล ต่อจากนั้นจึงนำเด็กลงวางในเปล เห่กล่อมด้วยเพลงกล่อมเด็กแบบการเลี้ยงของคนสมัยโบราณ เป็นอันเสร็จพิธี