กล้วยเถื่อนคือกล้วยป่าพบมากบริเวณที่ราบสูงและเชิงเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถางป่าทำไร่ มีลักษณะทั่วไปเหมือนกับกล้วย ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มซ้อนกันเป็นลำต้นมีขนาดเล็กกว่ากล้วยทั่ว ๆ ไป เนื้ออ่อนตรงใจกลางต้น หรือที่เรียกว่า “หยวกกล้วย” เป็นสีขาวใบแบนยาว ด้านหน้ามีสีเขียว ด้านหลังมีปุยขาว ๆ เกาะอยู่และจะเล็กกว่าใบกล้วยอื่น ๆ ทางใบเรียวยาวมีสีค่อนข้างแดง ออกดอกที่ปลายต้นเป็นปลียาวและเป็นงวงสีแดง ในปลีมีดอกเป็นริ้วเล็ก ๆ คล้ายนิ้วมือ มีสีขาว ตรงปลายดอกมีสีเหลือง ต่อมาส่วนนี้กลายเป็นผล เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม เนื้อในมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่มีเมล็ดมาก คนจึงไม่ค่อยนิยมรับประทานผล แต่จะเอาเฉพาะหยวกกล้วยไปแกงหรือทำผักเหนาะ วิธีตัดต้นกล้วยเถื่อนเพื่อเอามาเป็นอาหาร จะต้องตัดส่วนปลายต้นออกก่อน เพื่อให้น้ำในต้นไหลมาที่โคนเสียก่อนแล้วจึงตัดส่วนโคน หยวกที่ได้จึงจะไม่มีรสขม
วิธีเลือกหยวกกล้วยเถื่อนเพื่อนำมาทำอาหาร ให้เลือกต้นกล้วยที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป และถ้าต้นใดมียอดม้วนกลมด้วยก็ยิ่งดี เพราะจะได้หยวกที่อ่อนนุ่มมีใยน้อยและมีรสหวานเรียกกันว่า เป็น “หยวกทรามกิน”
ในทางสมุนไพรใช้รากและเหง้าผสมยาอื่น ปรุงเป็นยาดับพิษฝีภายใน แก้ไข้ผิดน้ำ (เป็นไข้เข้าใจว่าหายแล้วไปอาบน้ำกลับมาไข้อีก)ผลที่เปลือกพอเริ่มเหลืองนิด ๆ นำมากินดิบรักษาแผลในกระเพาะใบกล้วยเถื่อนใช้หางใบ ๓ หาง วางซ้อนกันหงายลงในหม้อ และเอากะลาตัวเมียคว่ำปิด ใส่ลงในหม้อพอประมาณ ต้มกินน้ำแก้ตกเลือด(พันธรักษ์ราชเดช(บุตร์ พันธรักษ์), พล.ต.ต.; ขุน)