ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 4' 45.2308"
16.079230770564486
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 48' 16.1055"
101.8044737365235
เลขที่ : 115750
ผ้าฝ้ายย้อมโคลน
เสนอโดย ชัยภูมิ วันที่ 27 กันยายน 2554
อนุมัติโดย ชัยภูมิ วันที่ 3 เมษายน 2563
จังหวัด : ชัยภูมิ
2 3404
รายละเอียด

ผ้าฝ้ายย้อมโคลน

อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

ผ้าฝ้าย(Cotton)

ผ้าฝ้าย(Cotton) คือเส้นใยเก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ สิ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีการปลูกฝ้าย และปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งขุดพบ ในซากปรักหักพังอายุประมาณ๓,๐๐๐ปีก่อนคริสตกาล ที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจ ดาโร(Mohenjo daro)

ซึ่งอยู่ในบริเวณแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ได้มีการปลูกฝ้ายและปั่นทอทำเป็นเสื้อผ้ามาแต่โบราณ หลักฐานพอที่จะอ้างอิงได้ คือจากพุทธบัญญัติให้พระภิกษุใช้ผ้าเป็นเครื่องห่มครองได้๖ ชนิด รวมทั้งผ้าฝ้ายด้วย โดยมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า“กัปปาสิคพัตร” ซึ่งแสดงว่า เมื่อพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทย คนไทยรู้จักการปลูกฝ้ายและทอผ้าแล้ว

พันธุ์ฝ้ายในประเทศไทยมีหลายชนิด และมีฝ้ายพื้นเมืองอยู่ ๒สายพันธุ์ คือ ฝ้ายพันธุ์ซึ่งให้ปุย สีขาวอย่างที่มักพบเห็นทั่วไป และฝ้ายพันธุ์ซึ่งให้ปุยสีน้ำตาลอ่อนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า“สีขี้ตุ่น” หรือ “สีตุ่น” และเรียกฝ้ายชนิดนี้ว่าฝ้ายตุ่น ฝ้ายตุ่นเป็นพันธุ์ฝ้ายที่หายากและปั่นยากกว่าฝ้ายพันธุ์สีขาว เนื่องจากมีปุยสั้นและไม่ค่อยฟูเหมือนพันธุ์สีขาว ดอกฝ้ายสีตุ่นมีขนาดเล็ก สีน้ำตาล เส้นใยสั้น ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้าด้วยมือแบบพื้นเมือง ส่วยฝ้ายพันธุ์ชนิดอื่นๆมักใช้สำหรับการทอผ้าระดับ อุตสาหกรรม

สมอฝ้ายหรือผลฝ้ายนั้น เมื่อแก่เปลือกของสมอจะแตกบานออก ปุยฝ้ายซึ่งอยู่ภายในจะพองฟู

ออกมาการเก็บเกี่ยวฝ้ายเก็บจากปุยฝ้ายที่โผล่ออกมาจากสมอซึ่งเรียกว่า ฝ้ายทั้งเมล็ดหรือฝ้ายดอก (seed cotton) ต่อไปจึงนำไปแยกเอาเส้นใยฝ้ายหรือปุย(lint หรือfiber) กับเมล็ด(seed) ออกมาจากกัน

ปุยฝ้าย หรือเส้นใยที่แยกออกจากเมล็ดนี้ได้ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากนำมาผ่านกระบวนการต่างๆจนเป็นเส้นด้ายใช้สำหรับทอผ้า

โคลน(Mud)

โคลน หรือดินเหนียว มีส่วนประกอบด้วยธาตุเหล็ก ได้ถูกค้นพบและมีการทดลองในกระบวนการย้อมผ้าหรือย้อมฝ้ายมาตั้งแต่โบราณ การย้อมผ้าด้วยวิธีการเขียนเทียนหรือใช้ดินเหนียวเขียนลายในการย้อมแบบกับสี (Resist Pyeing) ทำกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่๑๕

คำบอกเล่าตำนานของผ้าฝ้ายย้อมโคลน

ความเป็นมาของผ้าฝ้ายย้อมโคลน

ด้วยลักษณะภูมิประเทศของอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีภูเขาล้อมรอบที่ราบ และ

มีหนองน้ำตามธรรมชาติ หลายแห่ง หนองน้ำเหล่านี้มี “โคลน” หรือดินเหนียวมากมาย ที่เกิดจากการ ชะล้างของตะกอนดินและแร่ธาตุต่าง ๆ นับเป็นพันๆปี ทำให้ดินเหนียวหรือโคลนของอำเภอหนองบัวแดง

มีคุณลักษณะพิเศษจากโคลน แหล่งอื่น ๆ คือสามารถทำปฏิกิริยากับสีธรรมชาติต่าง ๆ โคลนจากอำเภอหนองบัวแดง เป็นแหล่งเดียวในประเทศที่มีธาตุเหล็กมากที่สุด เพราะต้นกำเนิดจากลำน้ำชี ที่ทับถมกันหลายพันปี และจากการสังเกตชาวนาที่เอาขาลงจุ่มในโคลนเวลาทำนา ผ้าตรงนั้นจะมีสีซีดลง และซักเท่าไรก็ไม่ออก จึงเกิดความคิดที่จะนำโคลนมาย้อมผ้า

อำเภอหนองบัวแดงกับผ้าฝ้ายย้อมโคลน

วัฒนธรรมและภูมิปัญญาสอนให้สตรีไทยรู้จักการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและผูกพัน

กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวัน กลุ่มสตรีบ้านหนองบัวแดงซึ่งตระหนักในความสำคัญของ การทอผ้า จึงได้รวมกลุ่มกันขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาและขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตั้งเป็นกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหนองบัวแดง ปี ๒๕๔๙ เพื่อทอผ้าออกจำหน่ายเป็นลวดลายผ้าโบราณ และลวดลายพื้นบ้านธรรมดา จนกระทั่งได้รับการแนะนำจากผู้สูงอายุในหมู่บ้านซึ่งมีอายุกว่า ๑๐๔ ปี เล่าว่าคนโบราณนำโคลนเข้ามาใช้ในการย้อมผ้าให้ได้สีเอิร์ธโทน ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาด จึงทดลองกับโคลนแต่ละบ่อมีแร่ธาตุต่างกัน เช่น บางบ่อจะมีธาตุเหล็กที่ซึมเข้าไปเคลือบเส้นใยผ้า ทำให้ได้สีแบบเอิร์ธโทน และสีไม่ตกและบ่อโคลนต้องเป็นบ่อโคลนที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโคลนที่ละเอียดเหมาะแก่การย้อมผ้า

การย้อมมี ๒ อย่าง คือ ย้อมร้อนและย้อมเย็น การย้อมร้อนคือ การนำวัตถุดิบ (ใบไม้ )

ไปต้มให้ร้อนก่อนทำการย้อม การย้อมเย็น คือ การนำเส้นด้ายลงจุ่มในน้ำได้เลย มีคุณภาพดีมาก ทำให้ สีไม่ตก ภูมิปัญญาเรื่องการย้อมเย็นนี้จะมีประโยชน์มาก ทำให้สีหอมและสีที่ได้จะสด

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

๑. ฝ้าย

๒.โคลน

๓. สารส้ม

๔. น้ำข้าวสุก

อุปกรณ์ในการผลิต

๑. อิ้ว

๒.เพียด

๓.สายดีด

๔.แป้นล้อฝ้าย

๕.ไน

๖.ไม้เปียฝ้าย

๗.กี่พื้นบ้าน

ขั้นตอนการผลิต

ขั้นตอนการเตรียมเส้นด้าย

๑) ปลูกฝ้าย เพื่อเก็บดอกสำหรับทำเป็นเส้นด้าย

๒) เก็บดอกฝ้าย

๓) อีดฝ้าย คือ การรีดเมล็ดฝ้ายออกจากเนื้อฝ้าย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อิ้ว”

๔) การดีดฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่รีดเมล็ดแล้วมาดีดให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือ

ที่เรียกว่า “เพียด” และ “สายดีด”

๕) การล้อฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่ผ่านการดีดฝ้ายแล้วมาคลึงกับแป้นล้อฝ้าย เพื่อให้ได้

ฝ้ายเป็นแท่ง ๆ สำหรับนำไปเข็นฝ้าย

๖) เข็นฝ้าย คือ การนำฝ้ายที่ผ่านการล้อแล้วเป็นแท่งไปใส่เครื่องมือที่เรียกว่า ไน ซึ่งมี

ลักษณะเป็นล้อหมุน เพื่อกรอเป็นเส้นด้าย

๗) เปียฝ้าย คือ การนำเส้นด้ายที่ได้จากการเข็นฝ้าย มาจับเก็บเป็นกลุ่มๆ เพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกันจะได้ออกมาเป็นกลุ่มก้อน

๘) นำเส้นด้ายที่เป็นกลุ่มก้อนไปแช่น้ำก่อน ๑ คืน เพื่อให้ไขมันออกจากเส้นด้าย

๙) การฆ่าฝ้าย คือ การนำเส้นด้ายไปแช่น้ำซาวข้าวสุก ประมาณ ๒๐ นาที เพื่อให้

เส้นด้ายมีความเหนียว มีน้ำหนักและย้อมสีติดง่าย

ขั้นตอนการเตรียมโคลน

๑) บ่อโคลน ต้องมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา และมีอายุ ๑๐ ปีขึ้นไป ดินต้องเป็นดินเหนียว

มีความเหนียวหนืด

๒) นำดินโคลนที่ได้มาตากแดดให้แห้ง

๓) บดให้ละเอียดแล้วร่อนเพื่อให้ได้เนื้อดินที่ละเอียด

๔) นำเนื้อดินโคลนที่ร่อนจนละเอียดแล้วมาผสมกับน้ำและกรองเอาเศษวัสดุที่ติดมากับ

โคลนออกให้หมด ให้สังเกตุถ้าเป็นโคลนที่ดีจะมีลักษณะเป็นมันและดินเหนียวคล้ายกับแป้งที่ใช้ทำขนม

ขั้นการผลิต

๑) นำเส้นด้ายลงย้อมในโคลนที่เตรียมไว้ บิดเส้นด้ายไปมาจนกว่าโคลนจะติดเส้นด้าย

๒)บิดเส้นด้ายให้หมาด แล้วนำไปตากให้แห้ง

๓) นำเส้นด้ายไปล้างน้ำ แล้วลงย้อมในโคลนอีกรอบ แล้วนำไปตาก

๔ ทำการย้อมโคลนอีก ประมาณ ๘–๑๐ ครั้ง จึงจะได้สีที่ติดทนนาน หรือแล้วแต่

ความต้องการ

๕) นำเส้นด้ายที่ตากแห้งแล้วมาล้างด้วยน้ำสารส้ม เป็นขั้นตอนสุดท้าย แล้วจึงนำเส้นด้ายไปสู่กระบวนการทอ

๖) นำเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมโคลนแล้วมาทอโดยใช้เครื่องมือที่ทอมี ๒ แบบ คือ ผ้าสีพื้น

และลายมัดหมี่

ขั้นหลังการผลิต

๑) ทอเป็นผืนผ้า ทั้งผ้าสีพื้นและผ้ามัดหมี่

๒) ส่งขายเป็นผืน

๓) นำผ้าเป็นผืนมาออกแบบลวดลายเพื่อตัดเป็นเสื้อ กระโปง ตัดเย็บเป็นซิ่นต่อตีนต่อหัว

ลักษณะพิเศษของผ้าฝ้ายย้อมโคลน

๑) ผ้าฝ้ายมีคุณสมบัติระบายความร้อนในร่างกายได้ดีเมื่ออยู่ในที่ร้อน

๒) สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นลงบนผ้าฝ้าย ซึ่งย้อมด้วยวิธีธรรมชาติ คือ การย้อมโคลน

๓) การย้อมโคลน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่เกิดมลภาวะเป็นพิษ ช่วยรักษา

สภาพแวดล้อม

๔) สีที่ได้มีความคงทนอยู่ได้นานจนกว่าผ้าจะขาด

๕) ผ้าที่ใช้ย้อมต้องเป็นเส้นใยจากพืชเท่านั้น

๖) สีที่ได้มีสีอ่อนเป็นธรรมชาติ

ระยะเวลาการผลิตจำนวน ๕ วัน

วัตถุประสงค์ของการผลิตจำหน่ายและใช้สอย

สถานที่ตั้ง
อำเภอหนองบัวแดง
เลขที่ 75 หมู่ที่/หมู่บ้าน ตำบลหนองบัวแดง ซอย - ถนน หนองบัวแดง - ชัยภูมิ
ตำบล หนองบัวแดง อำเภอ หนองบัวแดง จังหวัด ชัยภูมิ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
บุคคลอ้างอิง นางสาวอนัญญา เค้าโนนกอก
ชื่อที่ทำงาน -
เลขที่ 75 หมู่ที่/หมู่บ้าน 13 ซอย - ถนน หนองบัวแดง - ชัยภูมิ
ตำบล หนองบัวแดง อำเภอ หนองบัวแดง จังหวัด ชัยภูมิ รหัสไปรษณีย์ 36210
โทรศัพท์ 044-872037 โทรสาร 044-872037
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่