พิธีฮดสรง หรือ พิธีเถราภิเษก เป็นงานประเพณีโบราณของชาวอีสาน จัดขึ้นเพื่อยกย่องพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีคุณธรรม มีความสามารถในชุมชนยกย่องขึ้นเป็น สำเร็จ, ซา, คู ฯลฯ เป็นการทำพิธีเถราภิเษกมอบถวายสมณศักดิ์กันในระดับชาวบ้านโดยชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายในชุมชน...นิยมทำในเดือนเมษายน หรืออาจจัดทำพิธีขึ้นเองในงานบุญตามประเพณี...ฮางฮด (ภาษาอีสานออกเสียง ราง เป็น ฮาง ออกเสียง รด เป็น ฮด) รางรดน้ำทำด้วยไม้เป็นรูปพญานาค ลำตัวเขียนหรือแกะสลัดลวดลายให้สวยงาม หลังพญานาคทำราวเหล็กสำหรับติดเทียนกิ่งหรือเทียนง่าและเทียนกาบ บูชา ๑ ราว บริเวณคอพญานาค มีใบคูณใบยอ หญ้าแพรกและใบตองรองพื้น เอาผ้าผืนบาง ๆ ห่อพันกล่องหลาบ ข้างในห่อด้วย เครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องนาก เขี้ยว งา พระเครื่อง เพื่อให้น้ำที่ฮดสรงไหลและรดลงมายังพระภิกษุผู้รับได้รับถวายการฮดสรง และที่สำคัญพระเถระบางรูปเป็นผู้ทรงพุทธวิทยาคมขั้นสูง น้ำที่สรงจะมีชาวบ้านน้ำไปพรมที่ศรีษะหรือใช้ล้างหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล….การตั้งฮางฮด จะตั้งห่างจากศาลาโรงธรรมอย่างน้อยประมาณ ๑๐ วา ปลูกต้นกล้วยต้นอ้อยสองข้างทาง ใช้ผ้าขาวคาดเป็นเพดานจากโรงธรรมถึงฮางฮด หันหัวนาคฮางฮดไปทางทิศเหนือ หางนาคไปทางทิศใต้ ทำห้องสรงไว้ทางหัวนาค กั้นห้องสรงให้มิดชิด และให้หัวนาคอยู่ตรงบนห้องสรง หางนาคให้อยู่นอกห้องสรงปลูกศาลเพียงตาขึ้นที่สองข้างฮางฮด สำหรับตั้งบายศรีซ้ายขวา นำก้อนศิลามงคลไปวางไว้ใต้ฮางฮด
"กองฮด" หมายถึง การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในพิธีรดน้ำเถราภิเษก(ฮดสรง) เริ่มพิธีกรรมโดยการที่ชาวบ้านจัดหาไตรจีวร และเครื่องอัฐบริขาร เพื่อให้พระสงฆ์ได้เปลี่ยนผ้า กองฮดนิยมทำในเดือนเมษายน (คล้ายกองกฐินซึ่งทำในเทศกาลออกพรรษา) ผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านจะเข้าแถวกันรด (ฮด) น้ำให้ไหลไปตามรางน้ำที่ทำเป็นรูปพญานาค แล้วไหลไปรดตัวพระสงฆ์ เสร็จแล้วเอาจีวรเก่าออก แล้วเอาจีวรใหม่มาห่มแทน ถวายบริขาร ขอรับศีลรับพรจากท่าน พระสงฆ์ที่ผ่านการฮดสรงแล้ว การเรียกขานคำนำหน้าชื่อพระสงฆ์ผู้นี้ภายหลังการลาสิกขาบทออกไปแล้วจะเรียกว่า "จารย์" เป็นคำนำหน้าชื่อ
พระสงฆ์และสามเณรที่ไม่ผ่านพิธีการฮด เมื่อลาสิขาบทแล้ว พระสงฆ์ จะเรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "ทิด" สามเณร จะเรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "เซียง" พระสงฆ์ที่สอบเปรียญได้ ถึงแม่ว่าจะไม่ผ่านการฮดสรงเมื่อลาสิกขาบทแล้วก็เรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "มหา" พระสงฆ์บวช 10 พรรษาขึ้นไป เรียก "ญาคู" พระสงฆ์อาวุโสบวช 10 พรรษาขึ้นไปและเป็นพระอุปัชฌาย์ คือบวชผู้อื่นได้ เรียกว่า "ญาซา" คำว่า "จัว" เป็นคำเรียกเณร คำว่า "เจ้าหัว" เป็นคำเรียกพระสงฆ์ แต่ถ้าถ้าบวชเป็นระยะเวลานานๆ จะเรียกชื่อว่า "ญาคู"