ประวัติอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา
คำว่า เสิงสาง หมายความว่า “ใกล้รุ่ง” หรือ อรุณรุ่ง
จากคำบอกเล่าของนายจุมพล ศรีนอก อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ 1 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ได้เล่าเรื่องจากคำบอกเล่าของนายชา ใหญ่กระโทก ผู้เฒ่าที่ชาวบ้านให้ความนับถือและเรียกว่า “พ่อใหญ่ชา” ว่า บ้านเสิงสางเดิมอยู่ในตำบลสระตะเคียน มีเขตการปกครองขึ้นตรงกับอำเภอโชคชัยต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ได้ย้ายไปขึ้นตรงกับอำเภอครบุรี และเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลเสิงสาง
สำหรับประวัติการเชื่อมโยงกับอำเภอพิมายและอำเภอนางรองนั้นสืบเนื่องมาจากนิทานโบราณที่เล่าต่อกันมาว่า ท้าวปาจิต เจ้าผู้ครองเมืองพิมายได้เดินทางออกจากเมืองพิมายเพื่อติดตามหานางอันเป็นที่รักยิ่งคือ นางอรพิม เมื่อเดินทางไปถึงเขาพนมรุ้งระหว่างทางผ่านป่าแห่งหนึ่งจึงถูกโจรฆ่าตาย ครั้นเมื่อนางอรพิมได้เดินทางติดตามหาท้าวปาจิตเช่นกัน เมื่อไปพบเข้าและรู้ว่า ท้าวปาจิตเสียชีวิตแล้วก็เสียใจและนั่งร้อง(ร้องไห้) อยู่ตรงนั้น จึงได้ชื่อว่าอำเภอนางรอง(ปัจจุบันขึ้นตรงกับจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ อาจเพี้ยน มาจากคำว่า “นางร้อง”หรือ “นั่งร้อง” ความทราบถึง พระอินทร์และพระพรหม ทั้ง ๒ พระองค์จีงแปลงกายลงมาเป็นงูกับแมงพร(พังพอน) แล้วแสดงอาการกัดกันให้เห็นว่าเมื่องูถูกแมงพรกัดตาย แมงพรก็ไปกัดกินเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งแล้วมาเป่า(พ่น)ใส่งู งูก็ฟื้นขึ้นแล้วกัดกันอีก คราวนี้ แมงพรตายบ้าง งูก็เอาต้นไม้ชนิดนั้นมากัดกินแล้วเป่าใส่แมงพร แมงพรก็ฟื้น นางอรพิมเห็นดังนั้น ก็บันดาลให้นางเอาต้นไม้นั้นมาเป่าใส่ท้าวปาจิต ท้าวปาจิตก็ฟื้นขึ้นมา แต่ด้วยกรรมเก่าจึงเกิดพลัดพรากจากกันอีก เพราะเมื่อเดินทางไปด้วยกันระยะหนึ่ง จึงพบแม่น้ำแห่งหนึ่งขวางหน้าอยู่ ทั้งสองไม่สามารถข้ามแม่น้ำได้ บังเอิญเห็นเณรน้อยรูปหนึ่งพายเรืออยู่กลางแม่น้ำ ก็ร้องเรียกให้มารับแต่เรือมาสามารถนำคนทั้งคู่ไปพร้อมกันได้ ท้าวปาจิตจึงข้ามน้ำไปก่อน แล้วให้เณรน้อยมารับนางอรพิมภายหลังเมื่อเณรน้อยกลับมารับนางอรพิม ก็เกเรไม่ยอมพานางข้ามฟากไปส่ง กลับพายเรือพานางหนีไปอีกทาง นางอรพิมเห็นดังนั้นก็ออกอุบายแสดงอาการหิวโหย ครั้งไปพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่งที่รมแม่น้ำ ก็ร้องขอให้เณรน้อยปีนต้นมะเดื่อเพื่อเอาหน่วย(ผลมะเดื่อ) ลงมากิน ขณะที่เณรน้อยขึ้นต้นมะเดื่อ นางอรพิมก็ถือโอกาสพายเรือหนีจากมา เณรน้อยก็ถูกมดแดงกัดตายที่อยู่ใต้ต้นมะเดื่อนั่นเองนางอรพิมได้พายเรือข้ามน้ำไปพบท้าวปาจิตในเวลารุ่งสาง (รุ่งอรุณ) ซึ่งเป็นเวลาที่ฟ้าเริ่มสว่าง จึงเรียกว่า “บ้านเสิงสาง” และได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลและกิ่งอำเภอเป็นลำดับต่อมาได้รับการเลือกตั้งเป็นอำเภอเสิงสาง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน
เนื้อที่และลักษณะพื้นที่
พื้นที่ อำเภอเสิงสางมีพื้นที่ ๑,๑๙๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ๗๔๘,๑๒๕ ไร่ สภาพพื้นที่ของอำเภอเสิงสางเป็นที่ราบสูง มีภูเขาเตี้ย ๆ ความสูงอยู่ระหว่าง ๑๕๐-๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านที่สำคัญ ๑สาย คือ ลำมาศ ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงเล็กไหลผ่านท้องที่ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลสระตะเคียน ตำบลกุดโบสถ์ ผ่านไปเขตท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และไหลไปบรรจบลำน้ำมูลที่อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
คำขวัญอำเภอเสิงสาง
"เขื่อนลำปลายมาศ เที่ยวหาดชมตะวัน ถิ่นมันหม่อนไหม ผลไม้พืชผักตะเคียนยักษ์ทับลาน นมัสการหลวงปู่สอน
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้ ติดต่ออำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันออก ติดต่ออำเภอปะคำ,อำเภอโนนดินแดง,อำเภอโนนสุวรรณ และอำเภอหนองกี่ จังหวัด บุรีรัมย์
ทิศตะวันตก ติดต่ออำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมมี ๓ ฤดู
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน เดือนมิถุนายน
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ถึงเดือน เดือนตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม ถึงเดือน เดือนกุมภาพันธ์
เนื้อที่และลักษณะพื้นที่
พื้นที่ อำเภอเสิงสางมีพื้นที่ ๑,๑๙๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ๗๔๘,๑๒๕ ไร่ สภาพพื้นที่ของอำเภอเสิงสางเป็นที่ราบสูง มีภูเขาเตี้ย ๆ ความสูงอยู่ระหว่าง ๑๕๐-๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง