ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 15' 18.8601"
15.2552389248578
ลองจิจูด (แวง) : E 102° 31' 47.6584"
102.529905110513
เลขที่ : 118499
หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปประจำจังหวัดพิจิตร
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : พิจิตร
0 4247
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

หลวงพ่อเพชร

หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์หนึ่งของประเทศไทย และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันองค์หลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องแวะนมัสการขอพรจากองค์หลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ที่ว่าองค์หลวงพ่อเพชรทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเนื่องมาจากมีประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก เมื่อมีใครเดือดร้อน เช่นของหาย หรือมีความทุกข์ยาก ก็จะเข้ามาบนบานศาลกล่าวขออำนาจ ขอพรจากหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยาก อุปสรรค ภัย อันตรายต่างๆ ให้หมดไป หรือขออำนาจบารมีหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปกปักรักษา ด้วยเดซะบารมี และอำนาจเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อเพชร ก็ดลบันดาลช่วยให้ได้รับผลทันตาเห็นแทบทุกราย แม้การเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาขอน้ำมนต์หลวงพ่อเพชรไปรด ก็รักษาหายได้และเมื่อผู้นั้นพันภัยอันตราย พ้นความทุกข์ยากแล้ว ก็จะกลับมาแก้บนนำหัวหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม ขนม ผลไม้ ถวายแด่องค์หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถ กลิ่นธูป และควันเทียนมีไม่ขาดระยะ ชาวเมืองพิจิตร ทุกผู้ทุกนามต่างให้ความเคารพ เลื่อมใสศรัทธานับถืออย่างสูงต่อองค์หลวงพ่อเพชร ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมจิตใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธา เคารพนับถือ และพุทธานุภาพขององค์หลวงพ่อเพชรไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของชาวเมืองพิจิตร และชาวพุทธทุกคน ด้วยสาเหตุหลายประการดังกล่าวมานี้ องค์หลวงพ่อเพชรจึงกลายเป็นพระคู่บุญบารมีคู่บ้านคู่เมืองพิจิตรนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตำนาน/ประวัติความเป็นมา ของหลวงพ่อเพชร

สำหรับประวัติขององค์หลวงพ่อเพชร มีทั้งการเล่าและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหลายตำรา แต่พอสรุปความได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามขบถจอมทอง เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักรี้พลที่เมืองพิจิตร ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตร ได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้วขอให้หาพระพุทธรูปงาม ๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของเจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ที่วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร ซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

ซึ่งบางกระแสก็อ้างเอาประวัติที่เกี่ยวกับทางวรรณคดีไทย ผูกเข้ากับเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน โดยแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยา ก็คือขุนแผนกับจมื่นไวยวรนาถ ผู้เป็นลูกชาย เป็นแม่ทัพได้ยกกองทัพกรุงศรีอยุธยาไปปราบขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ เมื่อยกทัพมาถึงเมืองพิจิตร ได้หยุดพักกองทัพอยู่กับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรเป็นเวลา ๒ - ๓ คืน ซึ่งแม่ทัพกับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรมีความเป็นมิตรกันมานานปี ในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ได้กล่าวไว้ว่าขุนแผนแม่ทัพกรุงศรีอยุธยาให้ความเคารพนับถือเจ้าเมืองพิจิตรเสมือนบิดาของตน เจ้าเมืองพิจิตร ได้ปรารภกับแม่ทัพว่า เมื่อปราบขบถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยหาพระเมืองเหนือ มาฝากสัก ๑ องค์เถิด ขุนแผน ได้รับปากแล้วยกทัพไปจอมทอง เมืองเชียงใหม่ แม้ในตำราขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับเสภา ชุดวรรณคดีสมัยกรุงสุโขทัย - อยุธยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ได้ตรวจสอบบทเสภาแล้ว ขุนแผนและจมื่นไวย มีความเกี่ยวข้องกับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตร กับนางบุษบาภรรยาเจ้าเมืองพิจิตรจริง โดยขุนแผนได้ให้ความเคารพนับถือพระพิจิตร และนางบุษบาภรรยาเจ้าเมืองพิจิตรเสมือนบิดามารดาของตนเอง ยามมีทุกข์ขุนแผนจักขึ้นมาพักอาศัยกับเจ้าเมืองพิจิตรเสมอ แม้แต่การยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่ก็มาแวะพักทัพที่เมืองพิจิตร ๒ - ๓ เพลา แต่ไม่มีเขียนในบทเสภาว่า พระพิจิตรขอให้ขุนแผนหาพระเมืองเหนือมาฝากหลังจากปราบข้าศึกราบคาบแล้วก็ตาม จึงสันนิษฐานได้ว่า ประการแรก การแต่งบทเสภาผู้แต่งบทประสงค์จะให้เนื้อหาของเรื่องมีความสนุกสนาน ชวนให้ติดตามกับเรื่องทางโลกมากกว่า ประการที่สอง เสภาเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน ได้แต่งหลังเหตุการณ์จริงๆ สมัยขุนแผนอาสาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ไปทำศึกกับเมืองเชียงใหม่ และได้แวะพักแรมที่เมืองพิจิตร คราวไปทำศึกชิงนางสร้อยทอง โดยเชื่อว่าเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจริง ซึ่งมีเนื้อความตามตำนานเสภา พระนิพนธ์สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทเสภาขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องขุนช้าง - ขุนแผนหน้า (๓)-(๑๐ ) ว่าเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่า เนื้อความปรากฏจดไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ตอนหนึ่งว่า...สมเด็จพระพันวษาโปรดตั้งให้ขุนแผน เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ เชิญนางสร้อยทอง พระราชธิดาของพระเจ้าล้านช้างสมเด็จพระพันวษานั้น คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงพอมีเหตุผลที่พอยืนยันได้ว่า ผู้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชร จากเมืองเหนือมามอบให้เจ้าเมืองพิจิตร ก็คือขุนแผน ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของกรุงศรีอยุธยา หลังจากขุนแผนปราบขบถจอมทองนครเชียงใหม่ได้แล้ว ย่อมมีอำนาจที่สามารถกวาดต้อนเชลยศึก ช้าง ม้า วัว ควาย ตลอดถึงสิ่งที่มีค่าอื่นๆ จากเมืองเหนือกลับมากรุงศรีอยุธยา ดังนั้นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพียง ๑ องค์ ขุนแผนนั้นย่อมแสวงหาให้เจ้าเมืองพิจิตรที่ตนเองเคารพเสมือนบิดาได้ ด้วยเหตุนี้เมืองพิจิตรจึงได้หลวงพ่อเพชรมาเป็นมิ่งขวัญ อันเป็นศรีสง่าของเมือง แต่ในบางตำรากล่าวว่า ขุนแผนกับจมื่นไวยวรนาถ ได้อาสาสมเด็จพระพันวษาไปปราบขบถจอมทอง ที่เชียงใหม่แล้วเลือกพระพุทธรูปที่พุทธลักษณะงดงามจากวัดหนึ่งในนครเชียงใหม่ ให้ทหารคุมล่องแพตามลำน้ำปิง และฝากแพจอดไว้ที่เมืองกำแพงเพชร แล้วขุนแผนก็ยกทัพกลับจากนครเชียงใหม่มาทางเก่า แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรทราบ เจ้าเมืองพิจิตรให้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรแห่แหนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า จัดให้มีการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน

การย้ายที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร

ประวัติการย้ายองค์หลวงพ่อเพชรจากวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า มายังวัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ จากคำบอกเล่า มี ๒ กระแส ดังนี้

๑. พระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล - นาควิจิตร) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ได้เขียนบันทึกไว้ว่า...ครั้นราวปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ได้รับคำสั่งจากเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ความว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์จะได้พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่พระนคร ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้สั่งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ได้ออกแสวงหาพระพุทธรูปตามพระราชประสงค์นำขึ้นไปเมืองพิษณุโลก เจ้าเมืองพิจิตรได้ออกตรวจดูพระพุทธรูปโดยทั่วๆ ไปของเมืองพิจิตร แล้วเห็นว่าหลวงพ่อเพชรมีพระพุทธลักษณะที่งดงามมาก จึงได้จ้างชาวญวนคนหนึ่งชื่ออาง ทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้มีน้ำหนักเบา นำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่ามีปะรำ ลากจูงด้วยเรือพายถึงเมืองพิษณุโลกเทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระยาเทพาธิบดี ได้กราบเรียนเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกว่าชาวเมืองพิจิตรโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก ด้วยความเสียดายองค์หลวงพ่อเพชร อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ดั้งเดิม ท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้ตรวจดูพระพุทธลักษณะแล้วเห็นว่างดงามจริง แต่องค์หลวงพ่อเพชรนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป กอปรด้วยเป็นการทำลายจิตใจชาวเมืองพิจิตร จึงได้สั่งพระยาเทพาธิบดี ให้นำองค์หลวงพ่อเพชรกลับคืนเมืองพิจิตร แต่การนำกลับคืนมาเมืองพิจิตรนั้น พระยาเทพาธิบดีหาได้นำกลับมาส่งถึงอุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่าไม่ หากแต่ท่านพระยาเทพาธิบดีได้นำองค์หลวงพ่อเพชรไปพักไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ ทำปะรำคลุมไว้ ประชาชนรู้ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรกลับมาเมืองพิจิตร ก็แตกตื่นมาปิดทอง บูชาสักการะกันเป็นการใหญ่ ด้วยความดีใจ ฝ่ายราษฎรเมืองพิจิตรเก่าก็ได้เตรียมการจะแห่แหนองค์หลวงพ่อเพชรกลับไว้ ณ อุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่าเช่นเดิม ส่วนราษฎรเมืองพิจิตรใหม่ก็เห็นว่าเมื่อเมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่แห่งใหม่แล้วก็ควรมีองค์หลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ด้วย จึงไม่ยินยอมให้ราษฎร์ชาวเมืองพิจิตรเก่านำองค์หลวงพ่อเพชรกลับคืนไป ในตอนนี้มีผู้รู้ได้เล่ากันต่อๆ กันมาว่า ได้เกิดมีการยื้อแย่งองค์หลวงพ่อเพชร ถึงขนาดเตรียมอาวุธจะเข้าประหัตประหารกัน หากแต่พระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ มงคลพิจิตร สังฆปาโมกข์ (หลวงปู่เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นที่ยำเกรงมีราษฎรให้ความเคารพนับถือ เลื่อมใสศรัทธาท่านมาก ได้เข้ามาห้ามปรามไว้ และพระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ ได้แจ้งราษฎรเมืองพิจิตรเก่าว่าจะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลอง องค์ขนาดเท่าเดิมให้ชาวเมืองพิจิตรเก่า นำไปบูชาสักการะแทนองค์เดิม ส่วนองค์หลวงพ่อเพชรเดิมนั้น ให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ ซึ่งพระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ด้วย ราษฎรชาวเมืองพิจิตรเก่าจึงยินยอมเชื่อฟัง

๒. มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกกระแสหนึ่งว่า การที่องค์หลวงพ่อเพชรจากเมืองพิจิตรเก่ามาอยู่เมืองพิจิตรใหม่ ก็โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะอัญเชิญพระพุทธชินราช จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มณฑลพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่พระนคร ซึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่ลักษณะงดงามไปแทนพระพุทธชินราช เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ทราบว่าองค์หลวงพ่อเพชรมีพระพุทธลักษณะที่งดงามมากควรแก่การนำไปแทนพระพุทธชินราช จึงให้พระยาเทพาธิบดี เจ้าเมืองพิจิตรจัดนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก ประชาชนชาวเมืองพิจิตรเก่ารู้ข่าวล่วงหน้า ด้วยความเคารพศรัทธาและหวงแหนองค์หลวงพ่อเพชรเป็นที่สุด จึงคิดอ่านว่าจ้างชาวญวน ชื่อ อาง ทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้มีน้ำหนักเบาแล้วได้ช่วยกันยกหนีไปซุกซ่อนไว้ในป่า ได้เคลื่อนย้ายที่ซุกซ่อนเรื่อยไปมิได้หยุดหย่อน แต่อย่างไรก็ดีหาได้พ้นจากการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายไม่ ในที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับเอาองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองพิจิตรเก่าจนได้ และนำมาพักไว้ที่วัดท่าหลวงเมืองพิจิตรใหม่เพื่อรอการนำไปเมืองพิษณุโลกในระยะเดียวกันนั้นเอง เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวเมืองพิษณุโลกหวงแหนพระพุทธชินราช พากันโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง ถึงกับร้องห่มร้องไห้กันทั้งเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระรับการนำพระพุทธชินราชไปพระนคร โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามแทน เหตุนี้ องค์หลวงพ่อเพชรที่นำมาพักรอไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ จึงตกอยู่ ณ วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นหลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐานอยู่ในโรงที่สร้างขึ้นชั่วคราว เป็นเรือนมีพื้นที่วัดท่าหลวง หลังจากไม่ต้องนำประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกแล้ว

วันที่ ๒๘ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนุวัดติวงศ์ได้เสด็จมา ณ วัดท่าหลวง ทรงนมัสการบูชาองค์หลวงพ่อเพชร และตรัสชมหลวงพ่อเพชรว่า “พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระทรงสั้นพวกเชียงแสน ทรงก็เข้ากันสั้นพร้อมดี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย และพุทธลักษณะที่งดงามมาก”

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระยาพิชัยณรงค์สงคราม (ดิษ) ข้าหลวงประจำจังหวัดพิจิตร จึงได้อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถไม้ที่สร้างขึ้นให้เหมาะสม และเป็นศรีสง่าแก่หลวงพ่อเพชรพระพุทธรูปสำคัญของเมืองพิจิตร โดยประทับบนฐานชุกชี ที่ก่อเป็นชั้นขนาดใหญ่พอที่พุทธศาสนิกชนจะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปิดทององค์พระ ตามความเชื่อและความศรัทธาได้สะดวก

ครั้นพอถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล - นาควิจิตร) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในขณะนั้น ได้เป็นประธานริเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่วิจิตรงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรเข้ามาประดิษฐาน เป็นพระประธานของพระอุโบสถวัดท่าหลวง มาตราบเท่าทุกวันนี้

พุทธลักษณะหลวงพ่อเพชร

หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวัดท่าหลวง โดยมีพุทธลักษณะดังนี้ หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปภูมิสปรรศมุทราหรือปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสำริด ขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) สันนิษฐานว่าเป็นการรับอิทธิพลมากจากศิลปะล้านนา โดยรับอิทธิพลจากพุกาม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มพุทธศาสนานิกายมหายานอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนิยมในส่วนใหญ่บริเวณทางเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อเพชรมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๓ นิ้วประทับนั่งบนฐานบัวปาละ กลีบใหญ่ (บัวฟันยักษ์/บัวเล็บช้าง) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) ถัดมาเป็นฐานโลหะเป็นแท่นชุกชีมีลวดลายปิดทอง ประดับกระจก ขมวดพระเกศาเล็ก มีอุษณีษะ พระโอษฐ์เล็ก พระเกตุมีลักษณะเป็นดอกบัวตูม พระพักตร์กลม สันนิษฐานว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเชียงแสนสิงห์หนึ่งของล้านนา ประภามณฑลเป็นซุ้มเรือนแก้วแบบอยุธยา มีลักษณะช่วงปลายเป็นมกร ชายสังฆาฏิหยักเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ ห่มสบงแบบเฉียง (เฉวียง) สังเกตได้จากมีการเจาะช่องแขนด้านขวาของพระพุทธรูปช่องแขนด้านซ้ายทึบ และสังเกตได้จากขอบสบงที่พาดผ่านพระอุระและบริเวณข้อพระกรข้างซ้ายของหลวงพ่อเพชร

จากการเปรียบเทียบรูปแบบกับประพุทธรูปเพื่อสันนิษฐานการสร้างและรูปแบบศิลปะของหลวงพ่อเพชร จึงสันนิษฐานว่าได้ว่าหลวงพ่อเพชรรับอิทธิพลและรูปแบบการสร้างของล้านนาซึ่งมีมีพระพักตร์กลม คล้ายรูปแบบพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง รูปแบบพระพุทธรูปศิลปะล้านนา จากรูปแบบของชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ พระถัน รูปแบบศิลปะเดียวกับพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายว่าหลวงพ่อเพชรรับอิทธิพลจากรูปแบบล้านนาจริงหรือไม่ แต่จากการสันนิษฐานเบื้องต้น สามารถที่จะสันนิษฐานตามหลักฐานและรูปแบบของศิลปะ กล่าวคือหลวงพ่อเพชร ได้รับอิทธิพลศิลปะรูปแบบของพระพุทธในหลายรูปแบบ หรืออาจเกิดจากการบูรณะในแต่ละยุคสมัยรูปแบบจึงเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือและรูปแบบศิลปะของยุคสมัยนั้นๆ อาทิ การรับอิทธิพลการสร้างรูปแบบศิลปะล้านนา พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง มีรัศมีเปลวเหนืออุษณีษะที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนาพระพุทธรูปรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง คือรัศมีเปลวดอกบัวตูม นิ้วมืออวบอ้วน นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบของประภามณฑลแบบซุ้มเรือนแก้วที่เป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบศิลปะอยุธยาเข้ามาปรับใช้กับอิทธิพลแบบล้านนาอีกด้วย (พระราชสิทธิเวที, รศ.ดร. เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร รักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมทีนั้น องค์หลวงพ่อเพชร ตอนย้ายมาจากวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า จะไม่มีกระเกตุเนื่องจากหลุดหายตอนย้ายไปซ่อน และไม่มีซุ้มเรือนแก้ว ต่อมาในสมัยของพระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล - นาควิจิตร) ได้หล่อพระเกตุขึ้นใหม่ และสร้างซุ้มเรือนแก้วเพื่อไม่ต้องการให้คนทั่วไปมองว่าหลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง แต่การหล่อพระเกตุและการสร้างซุ้มเรือนแก้วนั้น ไม่ปรากฏปีที่สร้าง)

ผู้ชำนาญการด้านการตรวจพุทธลักษณะขององค์พระปฏิมากรหลายท่านได้ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๑๖๖๐ ถึง พ.ศ. ๑๘๐๐ (นับว่าอายุการสร้างจนถึงปัจจุบันนี้ ประมาณ ๙๐๐ ปี)

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระกรณียกิจที่จังหวัดพิจิตร โดยเข้ากราบนมัสการหลวงพ่อเพชร และประกอบพิธีเวียนเทียน ณ พระอุโบสถวัดท่าหลวง พระอารามหลวง

ปัจจุบัน หลวงพ่อเพชรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เป็นมิ่งขวัญของเมืองพิจิตร ที่ชาวเมืองพิจิตรเคารพบูชาอย่างสูงสุด เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้ยึดมั่น ในการประกอบแต่กรรมดี เป็นที่พึ่งทางจิตใจยามมีทุกข์ร้อน เมื่อผู้ใดเข้าไปในพระอุโบสถได้บูชาหลวงพ่อเพชร ทุกคนจะบังเกิดมีความรู้สึกอบอุ่น ร่มเย็น สบายใจ ประกอบกับการตกแต่งจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่งดงาม และภายนอกก็ล้อมรอบไปด้วยสวนหย่อมที่เป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับอันสวยงามมีระเบียบ ยิ่งช่วยให้ผู้ได้พบเห็นบังเกิดมีความปีติ ร่มรื่นทั้งกาย ใจ

จากที่กล่าวอ้างมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อเพชรมีความสำคัญต่อชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก ดังคำขวัญประจำเมืองพิจิตรว่า...

(เดิม)

“เมืองชาละวัน แข่งขันเรือยาว

ข้าวจ้าวอร่อย ส้มท่าข่อยรสเด็ด

หลวงพ่อเพชรรวมใจ บึงสีไฟลือเลื่อง

ยอดพระเครื่องหลวงพ่อเงิน”

(ใหม่)

“ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี

พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ

ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าช่อย

ข้าวจ้าวอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน”

ในการนมัสการ สักการบูชาพระพุทธรูปและหลวงพ่อทั่วไปจะมีคำบูชาเป็นภาษาบาลีแตกต่างกันไปสำหรับคำบูชาหลวงพ่อเพชร มีดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ

กาเยนะ วาจายะ เจตะสา วา วะชิรัง นามะ ปะฏิมัง

อิทธิปาฏิหาริยะกะรัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ สัพพะโส สะทา โสตถี ภะวันตุ เม

และอธิษฐานขอพรหลวงพ่อเพชรตามที่พึงประสงค์ขอรับพร

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้:

องค์หลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เลขที่ ๖๗๔ ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

- คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์หนึ่งของประเทศไทย และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง ชาวเมืองพิจิตรทุกคนต่างให้ความเคารพ เลื่อมใสศรัทธานับถืออย่างสูงต่อองค์หลวงพ่อเพชร ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมจิตใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธา เคารพนับถือ และพุทธานุภาพขององค์หลวงพ่อเพชรไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของชาวเมืองพิจิตร และชาวพุทธทุกคน ด้วยสาเหตุหลายประการดังกล่าวมานี้ องค์หลวงพ่อเพชรจึงกลายเป็นพระคู่บุญบารมี คู่บ้านคู่เมืองพิจิตรนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ งานนมัสการหลวงพ่อเพชรและสมโภชเมืองพิจิตร ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์หลวงพ่อเพชร

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

งานนมัสการหลวงพ่อเพชรและสมโภชเมืองพิจิตร ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร พร้อมใจกันจัดงานขึ้นมา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์หลวงพ่อเพชร

(รับชมวีดิทัศน์ งานนมัสการหลวงพ่อเพชรและสมโภชเมืองพิจิตร พิธีจุดประทีปนาวาบูชาหลวงพ่อเพชร ตอน “พุทธบารมี แห่งองค์หลวงพ่อเพชร” ซึ่งจะเป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมาขององค์หลวงพ่อเพชรhttps://www.facebook.com/TVphichit/videos/657148508959662)

อีกทั้ง องค์หลวงพ่อเพชร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๑๓ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ และยังได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน หมวดพระพุทธปฏิมา ศิลปะล้านนา โดยการรวบรวมของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสวันอาสาฬบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๐

ข้อเสนอแนะ

ประวัติและความสำคัญขององค์หลวงพ่อเพชร ควรได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร พร้อมทั้งจัดทำประวัติขององค์หลวงพ่อเพชรพร้อมติดตั้งไว้บริเวณวัดท่าหลวง หรือจัดทำเป็นแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ประวัติและความสำคัญขององค์หลวงพ่อเพชรให้แก่นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา เข้ามากราบสักการะองค์หลวงพ่อเพชร ณ วัดท่าหลวง พระอารามหลวง

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

ชื่อ-นามสกุล : พระราชสิทธิเวที, รศ.ดร.

ตำแหน่ง : เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร รักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง

หน่วยงาน/องค์กร : วัดท่าหลวง พระอารามหลวง

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๖๗๔ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000

ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ

พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (ดร.วิรัจ วิโรจโน). คู่มือสวดมนต์ประจำวัน ฉบับพุทธศาสนิกชน วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง. ๒๕๕๔

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ๒๕๖๐

หมวดหมู่
ศิลปวัตถุ
สถานที่ตั้ง
วัดท่าหลวง พระอารามหลวง
เลขที่ 674
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดท่าหลวง พระอารามหลวง
บุคคลอ้างอิง นายอภิสิทธิ์ ศรีสุพรรณ อีเมล์ apisit123new@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 0818742805 โทรสาร 056612675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
พิจิตร 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 07:18
ได้ความรู้ดีมากเลยคะ
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่