ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 10' 45.1189"
8.1791997
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 51' 18.0338"
99.8550094
เลขที่ : 121245
การทำเสื่อกระจูด
เสนอโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 20 มกราคม 2555
อนุมัติโดย mculture วันที่ 29 มีนาคม 2559
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
2 3560
รายละเอียด

กระจูด เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกก (Sedge) ชนิดหนึ่งในตระกูล Cyperaccae ลักษณะลำต้นกลมกลาง ความสูงประมาณ 1.00 – 3.00 เมตร เป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขัง ตามริมทะเลสาปที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” มีขึ้นมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส นอกนั้นกระจัดกระจายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา พัทลุง ปัตตานี และตราด

ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น ความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่ โดยทั่วไปราษฎรทางภาคใต้ใช้กระจูดในการสานเสื่อ ทำใบเรือ ทำเชือกผูดมัด และทำกระสอบบรรจุสินค้าเกษตรและสิ่งของอื่น ๆ

ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักทั่วไปคือ “เสื่อกระจูด” หรือ “เสื่อจูด” ภาษาพื้นเมืองภาคใต้เรียก “สาดจูด” การสานเสื่อจูดถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงสืบทอดจากบรรพบุรุษมาแต่ครั้งอดีตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังสานเป็นผลิตภัณฑ์กระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก น้ำตาล เกลือ ฯลฯ เสื่อจูดที่มีความสวยงามคือ เสื่อจูดประเภทลวดลายสีสันต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเสื่อภาคใต้ซึ่งได้มีการนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการผลิตมากขึ้น เพื่อสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและเป็นอาชีพเสริม ทำรายได้แก่ครอบครัวราษฎรในชนบท ตามโครงการพระราชดำริ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส

แต่เดิมการสานเสื่อจูดจะทำกันในแหล่งที่มีต้นกระจูดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นละแวกดินพรุ ปัจจุบัน ต้นกระจูดมีน้อยลง ผู้ผลิตจึงต้องหาซื้อต้นกระจูดจากแหล่งอื่น เช่นที่ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งต้นกระจูดแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้สำหรับกรรมวิธีสานเสื่อจูด
นั้นจะแตกต่างจากการสานเสื่อทั่วไป คือ ชาวบ้านจะนำต้นกระจูดมาคลุกดินขาวก่อนตากแดดให้แห้งแล้วจึงทุบต้นกระจูดให้แบนเพื่อให้มีความนิ่มตัวสำหรับ
ใช้เป็นเส้นสานเสื่อลวดลายที่นิยมใช้สานคือลายสอง เป็นลวดลายประสานขัดกันแน่น เส้นสานเกาะตัวดี ไม่หลุดลุ่ยง่าย

รูปแบบลายสานเสื่อจูดพัฒนามาจากลวดลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

- ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม
- ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ

ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม มีลักษณะลวดลายสวยงามสลับซับซ้อน ดัดแปลงมาจากลวดลายไทยในธรรมชาติ เอกลักษณ์พิเศษของลายสานชนิดนี้คือ ช่างสานชาวไทยมุสลิมจะไม่สานรูปเหมือนจริง เช่น รูปคน หรือรูปสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามตามคตินิยมของศาสนาอิสลาม ลายสานจึงมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ และสามารถพัฒนาลวดลายได้หลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ได้แก่ บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง และเขตนิคมอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ มีลักษณะลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน พัฒนามาจากลายไทย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกจันทน์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ลายสานบางประเภทมีลักษณะเหมือนกัน ลายสานของชาวไทยมุสลิมแต่ชื่อเรียกต่างกัน ลักษณะลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธนี้ไม่จำกัดรูปแบบลวดลายของการสาน โดยจะสานเลียนแบบรูปเหมือนจริงเป็นรูปคน รูปสัตว์ก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้ามทางพุทธศาสนา แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ที่ทำกันมากอยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเขตตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดได้เริ่มทำอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2524 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อจูด เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างส่งให้กับโรงงานทำผลิตภัณฑ์เสื่อจูดของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามโครงการพระราชดำริ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรชนบทภาคใต้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากขึ้นตรงกับความต้อง
การของตลาด นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาเครื่อทุ่นแรงคือ เครื่องรีดต้นกระจูดให้แบนเพื่อทดแทนการใช้แรงคน เป็นการลดต้นทุนและช่วยให้การผลิตเสื่อจูดรวดเร็วขึ้น

รูปแบบผลิตภัณฑ์กระจูดที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นลักษณะการตัดเย็บจากเสื่อจูด เย็บริมด้วยผ้าหรือหนังแท้และหนังเทียม แล้วนำมาสอยติดกันขึ้นรูปทรงต่าง ๆ เช่น กระเป๋า แฟ้ม หมวก กรอบรูป ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น คือการใช้เส้นกระจูดควั่นเกลียวเชือก นำมาสานเป็นพนักพิงและพื้นรองนั่งเก้าอี้เครื่องเรือน ตลอดจนการใช้เสื่อจูดบุผนังตกแต่งภายในอาคารหรือทำแผงกั้นห้องแบบฉากกั้นพับได้ เป็นต้น

แหล่งผลิตของผลิตภัณฑ์กระจูดประเภทนี้ อยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “กระจูด”

“กระจูด”เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” (Sedge) คือ ในตระกูล Cyperaccae มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lepironia artica late กระจูด เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว พบมากแถบภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย

ลำต้นของกระจูดมีลักษณะกลมกลวง มีข้อปล้องภายในคล้ายลำไผ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/8 – 5/16 นิ้ว ความสูงประมาณ 1 – 3 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์และสภาพแวดล้อม

ต้นกระจูด ชอบขึ้นในที่ ๆ มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” หรือชาวพื้นเมืองทางภาคใต้เรียกว่า “โพระ” ต้นกระจูดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะมีขนาดเล็ก และไม่ยาวนัก

การเพาะปลูกกระจูดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ต้นจึงจะโตได้ขนาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ลำต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เมื่อถอนต้นกระจูดไปแล้ว หน่อก็จะแตกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่หมุนเวียนกันไป


กรรมวิธี/ขั้นตอนการเตรียมกระจูด

ก่อนที่จะนำเส้นกระจูดไปสานเสื่อ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ต้องมีการเตรียมกระจูด ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1. ถอนกระจูดที่โตได้ขนาดใช้งานได้ คือ ต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร แบ่งแยกกระจูดออกเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีความยาวพอ ๆ กัน นำมาตัดหัวตัดปลายให้เรียบร้อย
2. นำกระจูดไปคลุกกับดินโคลนที่เตรียมไว้ (ดินโคลนดังกล่าว เป็นดินโคลนสีขาวขุ่น , เนื้อดินละเอียด) สาเหตุที่ต้องเคลือบผิวกระจูดด้วยดินโคลนเป็นวิธีการแบบพื้นบ้านเพื่อถนอมกระจูดให้คงทนได้นาน ป้องกันมิให้เส้นกระจูดแตก
3. หลังจากนั้นก็นำกระจูดที่คลุกดินแล้วไปผึ่งแดดสัก 1 – 2 วัน โดยผึ่งบนลานดินที่สะอาด หรือบนพื้นกระดานจนกว่าจะแห้งสนิท หากไม่แห้งอาจจะมีราขึ้นได้
4. นำกระจูดที่ตากแห้งแล้ว ทำการลอกกาบที่บริเวณโคนลำต้นออกให้หมด จากนั้นก็ทำการรวบกระจูดทำเป็นมัดหรือเป็นกำ แต่ละมัด/กำ จะมีความยาวเท่า ๆ กัน กระจูด 1 มัด/กำ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 นิ้ว (กระจูด 1 มัด/กำ สามารถสานเสื่อขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2 เมตร ได้ 1 ผืน
5. ทำการรีดลำกระจูดให้แบนเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น โดยใช้เครื่องบดลูกกลิ้ง ( “ลูกกลิ้ง” มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ทำด้วยคอนกรีตมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 – 16 นิ้ว ยาวประมาณ 3 ฟุต) เมื่อรีดกระจูดเรียบพอสมควรแล้ว ก็ทำการตำด้วยสากไม้ โดยใช้คนตำ 2 คน หันหน้าเข้าหากัน คนหนึ่งเดินหน้า และอีกคนหนึ่งถอยหลังสลับกันตำ หลังจากตำด้านหนึ่งไปแล้ว 1 – 2 เที่ยว จึงพลิกกลับอีกด้านหนึ่งทำการตำจนทั่วตลอดทั้งเส้น จนกว่าจะได้เส้นกระจูดที่แบนเรียบสม่ำเสมอทุกด้าน สามารถนำไปทำการจักสานได้

การย้อมสีกระจูด

ปัจจุบันผู้ผลิตหรือผู้ประกอบอาชีพผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระจูดได้พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประโยชน์ใช้สอยได้มากขึ้น ตลอดจนมีลวดลายสีสันหลายหลากสี ทั้งนี้ เพื่อความสวยงาม และน่าใช้ จึงมีการนำกระจูดไปย้อมสี ซึ่งกระจูดนี้เหมาะสำหรับการย้อมสีเข้ม ๆ เท่านั้น สีที่นิยมย้อมกันมาก ได้แก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีบานเย็น สีม่วง ฯลฯ

ประเภทสีย้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการย้อมสีกระจูด คือ สีเบสิค (Basic Dyestuff) เนื่องจากการดูดติดเป็นไปได้ง่าย และรวดเร็วมากเป็นพิเศษ

ลักษณะเด่นพิเศษของสีย้อมประเภทนี้ ก็คือ มีความสดใสและความเข้มของสีเด่นชัดมาก ความคงทนต่อแสงแดดค่อนข้างดี แต่มีข้อเสียตรงที่มีความคงทนต่อการซักฟอกและการขัดถูค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระจูดซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแคบ ๆ เฉพาะอย่างเท่านั้น

ผู้ประกอบอาชีพสานเสื่อกระจูดทั่วไปมักรู้จักสีย้อมประเภทนี้ดี และใช้ประโยชน์เพื่อการย้อมสีกระจูดมานานแล้ว เนื่องจากมีลักษณะพิเศษดังกล่าวประกอบกับเป็นประเภทสีย้อมที่มีราคาปานกลาง หาซื้อได้ง่าย

สีเบสิค นอกจากจะใช้ย้อมสีกระจูดได้ผลดีแล้ว ยังสามารถปรับใช้เพื่อการย้อมสีวัสดุชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ในวงการสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ผลดีอีกด้วย เช่น ป่าน ปอ ย่านลิเพา ผักตบชวา ปาหนัน ไม้ไผ่ และใบลาน เป็นต้น

การย้อมสีกระจูด จำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ

1. การย้อมสีกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกขาวแล้ว
2. การย้อมสีกระจูดดิบ และกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกสีด้วยแสงแดด
นักสานเสื่อกระจูดโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะใช้วิธีการย้อมสีกระจูดในลักษณะที่ 2 เนื่องจากเป็นวิธีการที่ง่าย และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด ส่วนการย้อมสีกระจูดในลักษณะที่ 1 ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากใช้ต้นทุนในการผลิตสูงมาก กรรมวิธียุ่งยาก และเป็นสารเคมีที่มีพิษ

การย้อมสีกระจูดดิบและกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกสีด้วยแสงแดด
ก่อนที่จะนำกระจูดไปย้อมสี จำเป็นต้องนำกระจูดไปฟอกสีด้วยวิธีการตากแดด ซึ่งวิธีการนี้มิใช่การฟอกขาว จึงเหมาะสำหรับการย้อมสีเข้ม ๆ เท่านั้น เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีกรมท่า ฯลฯ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

1. ทำการรีดลำกระจูดให้แบนราบ โดยใช้เครื่องบดระบบชุดลูกกลิ้ง หรือจะใช้วิธีการแบบพื้นบ้าน เช่น การตำด้วยสากไม้ หรือการเหยียบฟ่อนกระจูดตลอดแนวด้วยเท้า ฯลฯ เพื่อบดทำลายข้อปล้องภายในลำกระจูด เพื่อสะดวกแก่การขดงอลำกระจูดลงในภาชนะรูปแบบต่าง ๆ
2. ทำการลอกกาบที่บริเวณโคนลำกระจูดออกให้หมด ทำการแบ่งแยกกระจูดออกเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 300 – 600 กรัมตามที่ต้องการ แล้วทำการมัดปลายหรือโคนต้น ด้านใดด้านหนึ่งด้วยยางให้แน่น แล้วมัดซ้ำอีกชั้นหนึ่งด้วยเชือกฟาง เพื่อสะดวกในการขนถ่ายระหว่างกรรมวิธีผลิต
3. นำมัดกระจูดไปทำการซักล้างน้ำเย็นสัก 1 – 2 ครั้ง เพื่อล้างคราบดินโคลน และสิ่งสกปรกบางส่วนออกไป จากนั้นนำไปแขวนทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
4. นำมัดกระจูดไปต้นในน้ำเดือดประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อชะล้างคราบดินโคลนที่เหลือ (หากยังมีคราบดินโคลนหลงเหลืออยู่ จะไปปรากฏเป็นคราบสีขาวเด่นชัดที่ผิวกระจูดหลังการย้อมสี) การทำให้สุกจะเป็นผลให้กระจูดเกิดความอ่อนตัว ย้อมสีติดได้ง่าย และสม่ำเสมอกว่าปกติ จากนั้นนำไปแขวนทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
5. นำมัดกระจูดไปซักล้างน้ำเย็น เพื่อล้างคราบดินโคลน และสิ่งสกปรกที่เหลือ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสี จากนั้นแขวนให้สะเด็ดน้ำ (ลำดับนี้เคยได้มีการทดลองนำมัดกระจูดที่ผ่านการต้มน้ำเดือดเรียบร้อยแล้ว นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่า ยังมีสีตามธรรมชาติ และสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในลำกระจูดอีกมาก
6. นำกระจูดไปแผ่ผึ่งแดดจัด ๆ บนพื้นราบ ทิ้งไว้สัก 2 – 3 วัน โดยควรทำการกลับลำกระจูดวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้การฟอกสีเป็นไปโดยสม่ำเสมอทั่วถึงตลอดลำกระจูด ทั้งนี้ จะต้องทำการเก็บกระจูดเข้าที่ร่มทุกคืน การตากกระจูดทิ้งไว้ค้างคืนเป็นเวลาหลายวัน จะเกิดโรครา ทำให้กระจูดเสียหายได้

สถานที่ตั้ง
นายพรหมชัย ถิรศักดิ์ธนา
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ร่อนพิบูลย์ อำเภอ ร่อนพิบูลย์ จังหวัด นครศรีธรรมราช
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
-
บุคคลอ้างอิง นายพรหมชัย ถิรศักดิ์ธนา
ชื่อที่ทำงาน -
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ร่อนพิบูลย์ อำเภอ ร่อนพิบูลย์ จังหวัด นครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80130
โทรศัพท์ - โทรสาร -
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่