เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากบ้านศรีหนองเต็ง อำเภอขาณุวรลักษบุรี ออกเดินทางเพื่อล่าสัตว์ ด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีแหล่งน้ำ โดยได้มาซื้อที่ดินของครูจรูญ เพื่อปลูกอาศัยและประกอบอาชีพภายในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ก่อนบ้านหินดาต ได้ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายเฉลา บุญศรีทอง
จากคำบอกเล่าที่มาของชื่อหมู่บ้านหินดาตนี้ มาจากบริเวณจุดเชื่อมระหว่างคลองแม่วงก์ –คลองขลุง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันและติดต่อค้าขายระหว่างหมู่บ้าน บริเวณ ลำคลองดังกล่าว มีลานหินขนาดใหญ่คล้าย ศิลาแลง ขวางอยู่กลางลำคลอง ถ้าเวลาน้ำลด เรือจะไม่สามารถสัญจรได้เพราะระดับน้ำมีความลึกต่างระดับกันมาก ชาวบ้านจึงเรียกศิลาแลงนี้ว่า หินดาต เป็นภาษาท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านหินดาต จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา การทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ วิถีชีวิตของ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นพื้นเพของคนภาคกลาง ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ผูกพันกับบ้านเกิดและสืบทอดอาชีพมากจากรุ่นพ่อ แม่ ไม่มีการย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่น มีอาชีพเสริมเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมในครอบครัว ได้แก่ การหาของป่ามาจำหน่ายให้กับคนในชุมชน อาจเนื่องมาจากหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมด้านของสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติด้านขนบธรรมเนียมประเพณี กิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา วันสำคัญต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นแบบภาคกลาง