ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 8' 42.9158"
16.1452544
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 55' 32.7454"
104.9257626
เลขที่ : 123489
อุบหมากยาขี้ซี
เสนอโดย อำนาจเจริญ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
อนุมัติโดย อำนาจเจริญ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
จังหวัด : อำนาจเจริญ
0 2450
รายละเอียด

ภูมิหลังของอุบหมากยาขี้ซี

เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ชาวผู้ไทได้สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นเสมอ คือ การต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนด้วยความกระตือรือร้น เอาใจใส่ และมีไมตรีจิต ใครที่เคยมาเยือนแล้ว มักจะกลับมาอีกเสมอในสมัยก่อนการต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ชาวผู้ไทจะนำสิ่งหนึ่งมาใช้เป็นเครื่องต้อนรับ นั่นคือ ยาสูบ หมากพลู มีภาชนะที่ใส่หรือบรรจุสิ่งของเหล่านี้คือ อุบหมาก หรือ เซี่ยนหมาก โดยอุบหมาก จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง ที่มีความประณีต และได้รับการออกแบบให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพของสิ่งที่อยู่ข้างในให้มีคุณภาพคงเดิมได้ดี

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน คนวัยหนุ่มสาวของชาวผู้ไทเซโปนจะไม่นิยมเคี้ยวหมากพลูแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวผู้ไท ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองไว้ และมีความเชื่อถือในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ควรสืบทอดเอกลักษณ์ความเป็นผู้ไทให้กับลูกหลานของตน โดยพยายามถ่ายทอดวิธีการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง และงานช่างฝีมือที่เป็นความภูมิใจของชนเผ่า โดยเฉพาะฝีมือด้านการจักสานและการนำวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่อย่างหลากหลายในท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัย นั่นคือ การทำอุบหมากยาขี้ซี หรือ เซี่ยนหมากยาชัน แห่งบ้านคำเดือย

นายสาเม็ง ปักขีพันธ์ ผู้นำด้านวัฒนธรรมของบ้านคำเดือย ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอ ชานุมาน ได้เริ่มฟื้นฟู วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ของชาวผู้ไทเซโปน ซึ่งเห็นว่า การใช้ชีวิตของชาวบ้านทุกวันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดปัญหาทางสังคมในหมู่บ้าน จึงคิดว่า คำสั่งสอน ของปู่ย่าตาในอดีตนั้น สามารถที่จะนำมาใช้ได้ โดยเริ่มจากการพลิกฟื้นประเพณี “กินหมูล้างดิน” เพื่อสอนให้ลูกหลานที่เป็นผู้หญิง รักนวลสงวนตัว ห่างไกลโรคเอดส์ และต่อมาได้คิดที่จะสืบทอด ภูมิปัญญาของชาวผู้ไทให้กับลูกหลานเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่นับวัน ที่ข้าวยากหมากแพง ลูกหลานอ่อนแอ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ใช้ชีวิตอิงอยู่กับเงินตรา ขาดการศึกษาการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยบรรพบุรุษของชาวผู้ไท สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนจะเห็นว่าที่บ้านคำเดือย มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงคิดว่าควรจะถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านงานช่างฝีมือ ให้กับผู้สนใจและหน่วยงานของรัฐ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสื่อให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักภูมิปัญญางานช่างฝีมืออันประณีตของชาวผู้ไท

กลุ่มผู้เฒ่าสืบสานวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญางานช่างฝีมือ เห็นว่า งานฝีมือที่ควรให้ลูกหลานได้รู้จัก ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนผู้ไทมาช้านาน นั่นคือ “อุบหมากยาขี้ซี” ที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของบ้าน บางอันมีอายุร่วม ๒๐๐ ปี แต่ยังมีสภาพดี แสดงให้เห็นถึงความคงทนของวัสดุ ที่ใช้ บวกกับภูมิปัญญานำมาผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน สวยงาม และ ยังได้อนุรักษ์ป่าไม้ด้วย

วัตถุประสงค์ของการทำ

ทำเป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลู เก็บรักษาความสด รสชาติของหมากพลูได้ดีและปัจจุบัน ทำเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม และปลูกฝังให้ลูกหลานมีความสำนึกรักป่า เพราะป่าให้สิ่งดีดีถ้ามีภูมิปัญญาจะสามารถสร้างชิ้นงานต่างๆ ได้มากมาย

ลักษณะพิเศษของงานช่างชิ้นนี้

เป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไท บ้านคำเดือย ที่มีการเก็บรักษา ดูแล เป็นอย่างดี อุบหมากยาชี้ซีนี้แต่โบราณเป็นสัญลักษณ์บอกฐานะ และระดับช่างฝีมือของบ้านนั้น และการใช้งานจะทะนุถนอม ซึ่งในหมู่บ้านคำเดือย มีอุบหมากที่มีอายุมากถึง ๒๐๐ ปี และยังคงรูปแบบ ลวดลายที่สวยงาม เป็นสิ่งที่สามารถนำมาศึกษาทางประวัติศาสตร์ และเป็นมรดกของคนรุ่นหลังได้

วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำอุบหมากยาขี้ซี

มีดพร้า มีดตอก ครก สาก เขิง เป็นผ้าด้ายดิบมาทำขอบสำหรับร่อนผงชัน น้ำเต้า ใช้สำหรับบดชันให้ละเอียด ลูกสะบ้า ใช้ขัดชันให้เรียบ ต้นกล้วย เป็นภาชนะผสมชันกับน้ำมันยาง ไม้ไผ่ เป็นไม้ไผ่เหี้ย คุณสมบัติคือ มีปล้องยาว เหนียว เนื้อบาง น้ำมันยาง เป็นน้ำยางจากต้นยางนา ได้โดยทำให้เกิดรอยแผลที่ต้น แล้วใช้ไฟสุมให้เกิดความร้อน ให้ต้นยางผลิตน้ำยางออกมาภาษาถิ่นเรียก “โกนขะยาง” ชัน หรือ ขี้ซี ได้จากต้นจิก ต้นชิงชันดง ไม้แบบ ทำจากต้นขี้เหล็ก มีน้ำหนักเบา เป็นท่อนไม้กลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ นิ้ว
สถานที่ตั้ง
หมู่บ้านผู้ไทคำเดือย
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านคำเดือย
ตำบล คำเขื่อนแก้ว อำเภอ ชานุมาน จังหวัด อำนาจเจริญ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หนังสืองานช่างฝีมือพื้นบ้าน จังหวัดอำนาจเจริญ
บุคคลอ้างอิง นายกุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ
หมู่ที่/หมู่บ้าน 8
ตำบล โนนหนามแท่ง อำเภอ เมืองอำนาจเจริญ จังหวัด อำนาจเจริญ รหัสไปรษณีย์ 37000
โทรศัพท์ 045-523123
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่