การสู่ขวัญ เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผู้ทำพิธี เราเรียกว่า หมอสู่ขวัญ หรือหมอพร หรือหมอพรม (พราหมณ์) คือผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ดูฤกษ์ยาม มีความรู้เรื่องพิธีกรรม การสู่ขวัญเป็นเครื่องหมายแสดงว่าขวัญกลับมาอยู่ในร่างการ โดยการผูกแขนด้วยฝ้าย ตามสำนวนที่ว่า ผูกเบื้องซ้ายขวัญมา ผูกเบื้องขวาขวัญอยู่ ความเจ็บอย่าให้ได้ ความไข้อย่างให้มี มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป การสู่ขวัญจึงเป็นเรียกกำลังใจทางหนึ่ง การสู่ขวัญมีทั้งเหตุแห่งความไม่ดี คือการเจ็บไข้ได้ป่วยคือ การที่ขวัญหนีคิง (ขวัญหนีออกจากร่างกาย) การที่จะให้มีร่ายกายสู่สภาวะปกติจึงต้องเรียกขวัญกลับเข้ามาอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การสู่ขวัญจึงเป็นการรักษา การสู่ขวัญเพื่อให้ขวัญ “แข็งแรง”และเบิกบานเป็นการป้องกันใจ และเหตุแห่งความยินดีอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นศิริมงคล เช่น การสู่ขวัญต้อนรับผู้มาเยือน การสู่ขวัญผู้ได้รับตำแหน่งใหม่ (เลื่อนระดับ) การสู่ขวัญผู้เกษียณอายุราชการ การสู่ขวัญแม่มาน (หญิงมีครรภ์ก่อนคลอด) การสู่ขวัญนาค ก่อนบวช การสู่ขวัญพระก่อนเข้าพรรษา การสู่ขวัญชายหญิง ก่อนพิธีแต่งงาน เป็นต้น ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัวเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่่งของคนอีสาน พิธีสู่ขวัญทำได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจ
พานบายศรี ตกแต่งด้วยใบตองอย่างสวยงามเป็นชั้น ๆ จะมีความสูงที่่ ๓ ชั้น ๗ ชั้น ก็ได้ ชั้นล่างประกอบไปด้วยกรวยข้าวซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ดอกไม้ ข้าวต้มมัด ไข่ต้ม ขนม กล้วยน้ำว้า อ้อยหรือน้ำอ้อยก้อน มีดด้ามแก้ว และเงินบริสุทธิ์ที่ทำเป็นแท่งหรือก้อนที่เรียกว่าเงินฮาง (ปัจจุบันมีดด้ามแก้ว และเงินบริสุทธิ์หายากยกเว้นไม่ต้องใส่ก็ได้) ส่วนที่ ๒ ขึ้นไป จะตกแต่งด้วยดอกไม้ใบตอง อย่างดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูน ใบยอป่า ดอกไม้เหล่านี้มีความหมายเป็นมงคล อย่างดอกรักซึ่งหมายถึงความรักที่มั่นคง ดอกดาวเรืองซึ่งหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง และใบชัยพฤกษ์หรือใบคูนซึ่งหมายถึงการมีอายุยืนยาว ที่พานบายศรีชั้นบนสุดจะมีใบศรี ด้ายผูกข้อมือ และเทียนสำหรับเวียนศีรษะนอกจากพานบานศรีแล้วในพิธียังต้องเตรียมเครื่องบูชาและพานบูชาและสิ่งประกอบอื่น ได้แก่ ขันบูชาและพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า ๑ ผืน แพร ๑ วา หวี กระจกเงา น้ำอบน้ำหอม สร้อย แหวน และยังต้องมีอาหารคาว หวาน แก้วน้ำเย็น แก้วน้ำส้มป่อย และแก้วเหล้าสำหรับหมอขวัญดื่มหรือจุ่มด้วยดอกไม้สำหรับประพรมด้วย พานบายศรีที่จัดแต่งเสร็จแล้วจะถูกนำมาวางไว้ในที่อันเหมาะสม เพื่อรอเวลาทำพิธี เมื่อได้เวลาสู่ขวัญแล้วจึงจะยกออกไปตั้งไว้บนผ้า บางแห่งให้ตัดเล็บมือ ตัดปลายผม นำเสื้อผ้าของผู้เข้าพิธีสู่ขวัญมาวางไว้ข้างพานบายศรี
คำเรียกขวัญจะเริ่มด้วย ป่าวสัคเคเทวดา ว่า
“สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ
จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ ขะ คาเม
ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิเขตเต
ภูมมาจายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม
ยักชะคัน ธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง
มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ
สุณันตุ โภนโต เย เทวสังฆา
ดูราเทพยดาเจ้าทั้งหลาย อันอยู่บนสวรรค์ชั้นกามภพ ๖
ชั้นในรูปพรหม ๑๖ ชั้น บนยอดเขาและเหวห้วย
ในวิมานอากาศ ตนอยู่ในทวีปต่างๆ
มีอุดรทวีป เป็นต้น ตนอยู่ในขงเขตประเทศเมืองไทย
ตนอยู่ในหมู่บ้าน ตนอยู่ในพงไพรป่าไม้
ตนอยู่ตามเอนซาน และไฮ่นาทุกแห่ง
ตนสถิตรักษาอยู่ภาคพื้นแผ่นดิน อันมีแม่ธรณีเป็นเค้า
ตนอยู่ในแม่น้ำและฝั่งมหาสมุทร ขออัญเชิญทั้งพระเวสสุวรรณ
ผู้เป็นราชาของยักษ์ คนธรรพ์ และพระยานาค
ทั้งอยู่ไกลและอยู่ใกล้ได้ยินผู้ข้าเชิญแล้ว ขอจงได้เสด็จมาให้พรลูกหลานชื่อว่า..........ผู้กำลังบายศรีสู่ขวัญในมื้อนี้ ให้เขานั้นอยู่สวัสดี มีชัยตลอดทุกทิพาราตรีก็ข้าเทอญฯฯ”