เมืองโบราณดงเมืองแอม ตั้งอยู่ในเขตบ้านดงเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น สามารถเดินทางจากตัวเมืองขอนแก่น ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ผ่านอำเภอน้ำพอง และอำเภอเขาสวนกวาง ระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไป ประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงเมืองโบราณดงเมืองแอม
ลักษณะ จะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผังเมืองรูปร่างไม่สม่ำเสมอ โดยมีความกว้างยาวตามแนวตะวันออก –ตะวันตก ประมาณ 2,400 เมตร และตามแนวเหนือใต้ ประมาณ 2,000 เมตร มีคูน้ำ 1 ชั้น คันดิน 1 ชั้น แต่ด้านตะวันตกมีคูน้ำ 1 ชั้น และคันดิน ๒ ชั้น ลักษณะของเมืองเป็นรูปคล้ายเมืองสองเมืองซ้อนทับกันอยู่ โดยส่วนของเมืองตะวันตกคงจะสร้างขึ้นอยู่ก่อนแล้วจึงมีการขยายออกมาทางด้านตะวันออก และด้านใต้ นอกจากนั้นยังมีแนวคันดินต่อออกจากแนวคันดินที่เป็นกำแพงเมืองออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนานไปกับลำห้วยเสือเต้น ตรงบริเวณบ้านค้อท่าโพธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านดงเมืองแอมไปประมาณ 500 เมตร แนวคันดินนี้มีบางท่านได้พิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วระบุว่าเป็นเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่ง ที่แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวรี มีขนาดกว้างประมาณ 600 เมตร และยาวประมาณ 2,300 เมตร นอกจากบริเวณนี้แล้ว ยังมีแนวคันดินอีกสายหนึ่งอยู่ตรงบริเวณโนนเมืองเพ็ง ซึ่งเป็นเนินดินขนาดใหญ่ กว้าง 500 เมตร ยาว 1,200 เมตร โนนเมืองเพ็งนี้อยู่ห่างจากบ้านดงเมืองแอมไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2,000 เมตรบริเวณบ้านดงเมืองแอม พบซากโบราณสถานอยู่ริมถนนตรงปากทางเข้าไปในเขตตัวเมืองโบราณ ห่างจากกำแพงเมือง ประมาณ 200 เมตร พบอิฐและศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป อีกแห่งหนึ่งเป็นซากโบราณสถาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดศรีเมืองแอม ในเขตหมู่บ้านพบศิลาจารึกหินทรายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 30 X 78 เซนติเมตร มีสภาพลบเลือน จารึกด้วยอักษรปัลลวะ(อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤต จำนวน 3 บรรทัด ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 –13 ความว่า.....พระองค์มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า พระเจ้ามเหนทรวรมันได้สร้าง.....อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ พระเจ้ามเหนทรวรมันเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอาณาจักรเขมร ทรงครองราชย์อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 –12 นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย ซึ่งแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมเข้ามาทางปากน้ำมูล ครอบครองที่ราบสูงโคราชในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบและแบบลายเชือกทาบ
เมืองโบราณดงเมืองแอม จัดว่าเป็นเมืองที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี –ลพบุรี ต่อเนื่องกัน(พุทธศตวรรษที่ 16 –17)