ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 33' 46.1419"
16.5628172
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 6' 10.9642"
104.1030456
เลขที่ : 125392
ป่าชุมชนโคกป่าซี
เสนอโดย kanyapat nangam วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555
อนุมัติโดย mculture วันที่ 21 มีนาคม 2559
จังหวัด : กาฬสินธุ์
0 1256
รายละเอียด

ป่าชุมชนโคกป่าซี

บ้านหนองห้าง ชุมชนเก่าแก่ของชาวผู้ไท ที่ดูแลรักษาป่า "โคกป่าซี" พื้นที่ 1,268 ไร่ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสภาพเสื่อมโทรมเพราะการรุกตัดไม้จากชุมชนรอบผืนป่า การจับจองเป็นที่ส่วนบุคคล ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี การผ่านเข้าออกผืนป่าอย่างไม่จำกัด และไม่มีการดูแลรักษา ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเกิดความตระหนักและหาวิธีดูแลรักษา โดยการสร้างกฎเกณฑ์การเข้าใช้ประโยชน์ การจัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่ากระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งประสานงานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ในการแบ่งเขตการดูแลรักษาป่าชุมชนและป่าอนุรักษ์ จนเกิดเป็นรูปแบบการจัดการป่าร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยมี นายวินัย จิตปรีดา (เลขากลุ่ม รสทป. ป่าชุมชนโคกป่าซี) 335 หมู่ 1 ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ 46110 เป็นผู้ประสานงาน

บ้านหนองห้างเป็นชุมชนชาวภูไท หรือผู้ไท มีอายุนับย้อนหลังไปถึงสองร้อยปี บรรพบุรุษของชาวหนองห้างอพยพมาจากทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง แล้วมาลงหลักปักฐานที่นี่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขาอยู่ด้านทิศใต้ของเทือกเขาภูพาน ที่ตั้งชุมชนแต่เดิมนั้นเป็นหนองน้ำที่บรรดานายพรานมาล่าสัตว์แล้วมาขัดห้างดักยิงสัตว์จึงเรียกกันว่า"หนองห้าง" ในอดีต รอบชุมชนยังเป็นป่าเป็นดง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินดินสลับที่ราบ ในส่วนที่ราบก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตรงที่ดอนและโคก หรือเนิน เป็นป่าที่เก็บไว้หาอยู่หากิน แหล่งเชื้อเพลิง แหล่งไม้ใช้สอย และที่เลี้ยงสัตว์ของชุมชน

ชุมชนหนองห้างตั้งอยู่ใกล้ภูสีฐาน ภูเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาภูพานอันกว้างใหญ่ เชิงภูสีฐานเป็นป่าเต็งรังสลับป่าเบญจพรรณ เนื้อที่ 1,268 ไร่ป่าไม้แห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า "โคกป่าซี" ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อมีอยู่สองประเด็นคือ ป่าแห่งนี้มีต้นไม้พื้นถิ่นชนิดหนึ่งคือ ต้นซี ขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือ ป่าแห่งนี้เป็นที่เก็บขี้ซี หรือชัน ของผู้คนแถบนี้ ขี้ซีหรือชัน เป็นยางของไม้จิกหรือไม้เต็ง ยางไม้ที่ไหลซึมเยิ้มออกมาจากต้นจิกจะจับตัวแข็งเป็นแท่งยาว รูปร่างแปลกๆ ชาวบ้านจะออกเที่ยวตระเวนหาเพื่อสอยเก็บมา แล้วจึงบด ตำ หรือป่น ให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันพืช ใช้ยาหรือทาสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนเพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำ เช่น ข้อง ครุที่สานด้วยไม้ไผ่ ตะกร้า หรือใช้ทาหรือยารอยรั่วของเรือ เป็นต้น เนื่องจากป่าแห่งนี้มีต้นจิกซึ่งเป็นที่มาของขี้ซี ชาวบ้านจึงอาจเรียกโคกแห่งนี้ว่า โคกป่าซี ไม่ว่าที่มาของชื่อโคกจะเป็นอย่างใด สำหรับชาวบ้านหนองห้างและบ้านข้างเคียง ผืนป่าแห่งนี้คือมรดกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าที่ทุกชีวิตได้พึ่งพาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน

คนแก่คนเฒ่าเล่าว่า ในอดีต โคกป่าซีเป็นป่าสมบูรณ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก ภายหลังมีการตัดไม้ใหญ่มาสร้างบ้านเรือน ทำให้ไม้ใหญ่หมด เหลือแต่ไม้รุ่นสอง และมีแนวโน้มว่าจะเสื่อมโทรมลง อีกทั้งยังมีปัญหาการบุกรุกจับจองเป็นที่ส่วนบุคคลหลายครั้ง มีการขอใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันผลักดันจนสำเร็จแม้จะใช้เวลานาน มีเรื่องของไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี

กำเนิดกลุ่มรักษาป่า

จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์เกิดขึ้นในปี2537 เมื่อป่ามีสภาพเสื่อมโทรมเพราะการรุกตัดไม้จากชุมชนรอบผืนป่า การจับจองเป็นที่ส่วนบุคคล ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี การผ่านเข้าออกผืนป่าอย่างไม่จำกัด และไม่มีการดูแลรักษา ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเกิดความตระหนักและหาวิธีดูแลรักษา โดยการสร้างกฎเกณฑ์การเข้าใช้ประโยชน์ แต่ยังไม่มีการรวมตัวอย่างเป็นรูปพลัง
ในปี 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ได้หยิบยกสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของป่าขึ้นมาหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และตัวแทนชาวบ้าน ในที่สุดมีข้อสรุปว่า ควรที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ป่า โดยการสร้างหอเฝ้าระวังไฟป่า และพัฒนาให้เป็นจุดอบรมของกลุ่มเยาวชนในการศึกษาธรรมชาติ และจัดตั้งคณะกรรมการรักษาป่าที่พัฒนามาจากกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าจำนวนกว่า 160 คน โดยแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า กลุ่มด่านตรวจ กลุ่มปลูกป่า กลุ่มไฟป่า กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มประชาสัมพันธ์ มีการตั้งด้านตรวจตราลงทะเบียน เพื่อเก็บค่าผ่านทางจากพี่น้องชุมชนอื่นๆ ที่เข้าไปหาของป่า มีทีมออกตรวจตราเฝ้าระวังการตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่า และมีการปลูกป่าเพิ่มทุกปี

ผลจากทุ่มเททำงานทำให้โคกป่าซีฟื้นตัว กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงการทำงานที่เข้มแข็ง ทำให้ชาวบ้านหนองห้างได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในปี 2546

สร้างภาคีเครือข่าย

การถ่ายทอดเรื่องราวของป่าไปสู่กลุ่มเยาวชนก็เป็นงานอีกส่วนหนึ่ง ลูกหลานบ้านหนองห้างเรียนรู้เรื่องป่ากันตั้งแต่จำความ โดยวิ่งตามพ่อแม่เข้าไปหาเก็บหาอาหารในป่าตั้งแต่เห็ด หน่อไม้ ผลไม้ป่า หัวมัน ขิงป่า สมุนไพร ใบตอง การหาขี้ซีหรือชัน เก็บแมงแคง แมงคับ ไล่แย้ ไล่ปอม ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นความสนุกสนาน

ในโรงเรียน ครูจะพาเด็กๆ เข้ามาเรียนรู้เรื่องป่าทั้งในคาบเรียนและการจัดค่าย เด็กเล็กได้เรียนรู้ชื่อต้นไม้ รู้จักสังเกตใบและต้น และประโยชน์ เด็กมัธยมจะทำโครงงานโดยแบ่งกลุ่มเป็นทีมเพื่อศึกษาในหลายประเด็น อย่างเรื่องเห็ด ก็ศึกษาว่าในป่ามีเห็ดอยู่กี่ชนิด กินได้กี่ชนิด เบื่อเมากี่ชนิด รูปร่างแต่ละอย่างเป็นอย่างไร พื้นที่ที่เห็ดแต่ละงอก รวมทั้งศึกษามูลค่าเห็ดในแต่ละเดือน เด็กๆ พบว่าเห็ดจากโคกป่าซีมีมูลค่าต่อวันมากกว่าราคารถมอเตอร์ไซด์ทั้งคัน มีกลุ่มศึกษาเรื่องพรรณไม้ที่เข้ามาวาดภาพทำแผนที่ กลุ่มศึกษาสภาพดิน กลุ่มศึกษานก กลุ่มศึกษาผลไม้ป่า กลุ่มศึกษาแหล่งน้ำและฝายแม้วในพื้นที่ป่า กลุ่มศึกษาการใช้เปลือกไม้ย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มแปรรูปหน่อไม้ กลุ่มแปรรูปเห็ดไคล กลุ่มศึกษาสมุนไพร

เมื่อทำข้อมูลเสร็จ นักเรียนแต่ละกลุ่มจะนำเสนอหน้าห้องเรียนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เติมเต็มข้อมูลให้แก่กัน ข้อมูลที่ได้ รุ่นพี่จะนำไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ ในการจัดค่ายเยาวชนคนรักป่าของโรงเรียน ที่จัดขึ้นทุกปี โดยใช้พื้นที่ในโคกป่าซี พี่จะสอนน้องเรื่องการขุดมันป่า การฝังกลบเหง้า การเก็บแมงคับ แมงแคง แบบไม่ต้องทำลายต้นไม้ การเก็บสมุนไพรและการเก็บเปลือกไม้ แบบไม่ต้องทำลายธรรมชาติ และยังมีวิทยากรมาสอนวิธีทำแนวกันไฟให้เด็กๆ อีกด้วย

นอกจากกระบวนการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว การสร้างภาคีความร่วมมือก็เป็นความสำคัญอย่างหนึ่ง แม้โคกป่าซีจะเป็นป่าที่ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็มีการสร้างภาคีพันธมิตรในการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง จัดสรรงบประมาณในการบำรุงฟื้นฟูป่าทุกปี มีบุคลากรที่รับผิดชอบทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและป่าโดยตรง สถานีอนามัยก็มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร โรงเรียนหนองห้าง ก็มีครูที่เป็นคนท้องถิ่น มีความผูกพันกับป่าแห่งนี้ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ข้าราชการเกษียณ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน วัด ล้วนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และยังมีองค์กรพี่เลี้ยงที่มีส่วนหนุนเสริมได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และหน่วยรักษาป่าที่มีพื้นที่ป่าติดต่อกันกับโคกป่าซี และยังให้การสนับสนุนเรื่องวิทยากร จัดฝึกอบรม ร่วมกำหนดแผนและนโยบายที่หนุนเสริมกัน มีหน่วยงานการท่องเที่ยวที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยให้งบประมาณผ่านทาง อบต. เพื่อปรับปรุงเส้นทางจากชุมชนสู่ป่า การสร้างร่องน้ำ การสร้างหอสังเกตการณ์ไฟป่า การสร้างฝายแม้ว ศาลาพักของหน่วยตรวจป่า (รสทป.) รวมทั้งสร้างศูนย์ประสานงาน สำนักงานโครงการโคกป่าซี องค์ประกอบหลายๆ ด้านเหล่านี้ ทำให้โคกป่าซีกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ที่มีผู้มาศึกษาดูงาน และจัดค่ายฝึกอบรมเป็นประจำ

แหล่งเรียนรู้นี้ได้รับรางวัลหรือการยกย่องจาก: ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 ประเภทชุมชน(ชุมชน ชุมชนเมือง) เครือข่ายชุมชน)

หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
โคกป่าชี
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 ซอย - ถนน -
ตำบล หนองห้าง อำเภอ กุฉินารายณ์ จังหวัด กาฬสินธุ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง
บุคคลอ้างอิง นางกัญญพัชร นางาม อีเมล์ kanyapat_14@hotmail.co.th
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอกุฉิ อีเมล์ kanyapat_14@hotmail.co.th
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล บัวขาว อำเภอ กุฉินารายณ์ จังหวัด กาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ 46110
โทรศัพท์ 0818748096 โทรสาร -
เว็บไซต์ www.ksculture.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่