แก๋งตูนนิยมนำมาแกงใส่ปลา เช่น ปลาเทาะ ( อ่าน” ป๋าเต๊าะ ” คือปลาเทโพ ) ปลาสวาย ปลาดุก ปลาสะเด็ดหรือปลาหมอ ปลาช่อน ปลาซิว
คูน เป็นชื่อเรียกของภาดกลาง ส่วนในภาคใต้เรียกว่า ออดิบ อ้อดิบ ออกดิบ ทางภาคอิสานเรียกว่า ทูน สำหรับทางภาคเหนือเราจะเรียกว่า ตูน พืชชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกชนิดColocasia gigantia Hook.f. ในวงศ์ ARACEAEคล้ายบอน ก้านใบและแผ่นใบสีเขียวอ่อน มีนวล นิยมนำก้านใบมาลอกเปลือกออก กินสดเป็นเครื่องเคียงทานกับน้ำพริกหรือกับลาบ
ส่วนผสม
ปลาช่อน หรือปลาน้ำจืดอื่นๆ (ไม่เอาก้าง) 1 ถ้วย
ตูน หั่นเป็นท่อนยาว 1.5 นิ้ว 5 ถ้วย
น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
ใบโหระพา 1 ถ้วย
มะเขือเทศผ่าครึ่ง 10 ลูก
น้ำปลา และเกลือ อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำซุป (น้ำต้มกระดูกไก่) 4 ถ้วย
(ใช้น้ำเปล่าและผงปรุงรสแทนได้)
น้ำมันพืช
เครื่องแกง
พริกหนุ่ม8 เม็ด
หอมแดง 5 หัว
กระเทียม 1 หัวใหญ่
กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
ปลาร้าสับ (ปลาช่อนไม่เอาก้าง) 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ชอบไม่ใส่ได้ แต่การใส่จะเพิ่มรสเข้มข้นและกลิ่มหอมน่าทาน)
ขมิ้นสดซอย 2 ช้อนชา
ตะไคร้ซอย2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
โขลกเครื่องแกงให้ละเอียดนำตูนที่หั่นเป็นท่อนแล้วมาบีบเอาน้ำตูนออก แล้วล้างประมาณ 2-3 ครั้งนำน้ำพริกที่โขลกลงผัดในน้ำมัน พอมีกลิ่นหอม แล้วเติมน้ำซุป (น้ำเปล่าและผงปรุงรส)น้ำเดือดแล้วใส่ตูน พอตูนสุกใส่ปลาลงขณะน้ำแกงเดือด คนพอสุกใส่น้ำมะนาวน้ำมะกรูด มะเขือเทศ ใบโหระพา ชิมดู ถ้าอ่อนเค็มให้ใส่เกลือ
เคล็ดไม่ลับ
เลือกปลาสดจะทำให้น้ำแกงหวานและใส่เนื้อปลาในน้ำเดือดเพื่อไม่ให้มีกลิ่นคาว
คุณค่าทางโภชนาการ
แก๋งตูน ในปริมาณ ๑๐๐ กรัม มี ๔๕.๕๙ แคลอรี โปรตีน ๕.๖๗ กรัม ไขมัน ๐ . ๙๑ กรัม คาร์โบไฮเดต ๓.๗๐ กรัม แคลเซียม ๙๔.๘๐ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๙๗ . ๓๙ มิลลิกรัม เหล็ก ๒ . ๙๖ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๔๐ . ๙๓ อาร์อี วิตามินบีหนึ่ง ๐ . ๑๐ มิลลิกรัม วิตามินบี สอง ๐ . ๐๗ มิลลิกรัม ไนอะซิน ๐ . ๙๐ มิลลิกรัม และวิตามินซี ๒๑ . ๗๑ มิลลิกรัม