รำตง เป็นการแสดงการรำพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอสังขละบุรี ในภาษากะเหรี่ยง เรียกว่า เท่อลีตง หรือไยตง ซึ่งหมายถึง การเหยียบย่ำ หรือการเต้นรำให้เข้าจังหวะ โดยมีเครื่องเคาะจังหวัดที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ เพื่อประกอบการเต้น รำตง เป็นการแสดงที่มีขึ้นมากกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว เป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง โดยเป็นการแสดงที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีในการดำรงชีวิต ตลอดถึงการสื่อสาร ศาสนา และเป็นแม่บทของการแสดงทุกชนิดของชาวกะเหรี่ยง ในสมัยก่อนใช้แสดงในลานฟาดข้าว หรือหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวที่ขึ้นยุ้งฉางแล้ว เพื่อเป็นการรำถวายขอบคุณพระแม่โพสพ การแสดงรำตง จะใช้ผู้แสดงไม่น้อยกว่า ๑๖ คน โดยจะแบ่งข้างละเท่าๆ กัน เพลงประกอบการรำเน้นการบูชาพระพุทธคุณ พระคุณธรรม และพระสังฆคุณ เพลงที่บรรยายเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ และเพลงเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ในปัจจุบันการรำตงได้มีผู้คิดค้นท่ารำใหม่ๆ มีการนำวัสดุพื้นบ้านมาใช้ประกอบการรำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้านต่างๆ ตลอดจนมีการคิดสร้างเครื่องดนตรีใหม่ๆ ขึ้นใช้ในการแสดง การรำตงจะมีหลายรูปแบบ และตั้งชื่อรูปแบบตามครูผู้ฝึกสอน ซึ่งจะคิดท่ารำต่างๆ เช่น ตงอะบละ ตงไอ่โพ่(รำตงดอกไม้)ตงไอ่มิ(รำตงดอกไม้ไฟ)ตงพื่อวาชุง(รำตงลาวกระทบไม้)เป็นต้น