ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 0' 12.2087"
14.0033913
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 39' 52.9564"
100.6647101
เลขที่ : 128753
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
เสนอโดย ปทุมธานี วันที่ 25 มีนาคม 2555
อนุมัติโดย ปทุมธานี วันที่ 19 มิถุนายน 2555
จังหวัด : ปทุมธานี
0 3077
รายละเอียด

ประเพณีตักบาตรพระร้อย

ตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีตักบาตรทางน้ำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุมชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้นการตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน

การตักบาตรพระร้อยของชาวปทุมธานีในอดีต ดูแปลกกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะการตักบาตรพระร้อยตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการตักบาตรเป็นระยะทางไกลเป็นกิโลเมตรเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป โดย ทางวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง แต่ก็ไม่ได้กำหนดไปเสียทุกวัด ส่วนใหญ่จะจัดให้มีการตักบาตรเฉพาะในวัดใหญ่ ๆ (วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย :๒๕๔๖) ซึ่งส่วนใหญ่จะตกลงกำหนดวันที่จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อไม่ให้วันตักบาตรฯ ตรงกันหรือทับซ้อนกัน เพราะถ้าตรงกันแล้ว จำนวนพระที่จะมารับบาตรจะได้จำนวนไม่ครบ ๑๐๐ รูป (ซึ่งผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเป็นที่มาของคำว่า “พระร้อย”) และต้องการให้พระพุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียม จัดทำอาหารหวานคาว ไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้องด้วย การกำหนดว่าวัดใด จะทำบุญตักบาตรพระร้อยในวันใดนั้น ได้กำหนดไว้ ดังนี้ คือ

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดมะขาม อ.เมืองปทุมธานี , วัดเจดีย์ทอง อ.สามโคก

วันแรม ๒ ค่ำ เดือน๑๑ วัดหงส์ปทุมาวาส อ.เมืองปทุมธานี

วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดสำแล อ.เมืองปทุมธานี

วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดบางหลวง อ.เมืองปทุมธานี ,วัดบัวหลวง อ.สามโคก

วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดโบสถ์ / วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม อ.เมืองปทุมธานี,

วัดไผ่ล้อม อ.สามโคก

วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดไก่เตี้ย อ.สามโคก

วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดบางนา อ.สามโคก, วัดบ่อทอง อ.ลาดหลุมแก้ว

วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดาวเรือง / วัดชินวราราม อ.เมืองปทุมธานี

วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดบางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก

วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดบ้านพร้าวใน อ.สามโคก

วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดชัยสิทธาวาส อ.สามโคก ,วัดบ้านพร้าวนอก อ.สามโคก

วันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดเสด็จ อ.เมืองปทุมธานี

วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดโพธิ์เลื่อน อ.เมืองปทุมธานี

หมายเหตุ วัดสามัคคิยาราม วัดสุราษฎร์รังสรรค์ และวัดจันทน์กะพ้อ อ.สามโคก กำหนด

ตักบาตรพระร้อย (ทางน้ำ) ในวันอาทิตย์แรก หรืออาทิตย์ที่สองของเทศกาลออกพรรษาตามความเหมาะสมในแต่ละปี

แต่ละวัดที่เป็นเจ้าภาพตามกำหนดดังกล่าว จะต้องออกหนังสือนิมนต์พระจากวัดต่าง ๆ

มาร่วมรับบาตร เมื่อใกล้ถึงกำหนดตักบาตรพระร้อยวัดที่เป็นเจ้าภาพจะเตรียมการต่างๆ โดยจะให้มรรคทายก หรือชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดมาช่วยเตรียมสถานที่ และขึงเชือกไว้ริมฝั่งแม่น้ำหน้าบ้านเรือนประชาชน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด แล้วขึงเชือกตามริมฝั่งไปทางทิศเหนือและ ทิศใต้ของวัด ผ่านหน้าบ้านของพุทธศาสนิกชนที่อยู่ริมฝั่งเป็นทางยาวเหยียด การขึงเชือกมีวัตถุประสงค์เพื่อไว้ให้เรือผู้มาทำบุญได้เกาะยึดไว้เป็นแถว เป็นพวง และให้ศิษย์วัดในเรือพระสงฆ์ไว้คอยสาวเรือไปตามแนวเชือก เพราะในอดีตยังไม่มีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเชี่ยว อีกทั้งเสมือนเป็นการแสดงแนวเขต หรือตำแหน่งเพื่อจอดเรือ แต่บางวัดก็ไม่ต้องใช้เชือกขึง เพราะเป็นที่รู้กันว่าตำแหน่งที่จะต้องจอดเรือตักบาตรนั้นอยู่บริเวณใด

จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับประเพณีตักบาตรพระร้อย พบว่า การตักบาตรทางน้ำนี้มีอยู่สามลักษณะ ลักษณะแรก คือ “ทั้งชาวบ้านผู้มาตักบาตร และพระสงฆ์ ล้วนอยู่บนเรือ” ลักษณะที่สอง คือ “พระสงฆ์อยู่บนเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ / ลำคลอง” และลักษณะที่สาม คือ “พระสงฆ์อยู่บนเรือ ส่วนชาวบ้านมีทั้งนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ / ลำคลอง และอยู่บนเรือ” ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวบ้านยังใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางหลักสัญจรไปมา แทบทุกครัวเรือนจะมีเรือเป็นพาหนะสำคัญไว้ใช้ เช่น เรือชะล่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เรือแปะ” , เรือสำปั้น, เรือบด, เรือโปง (เรือขุด) และ เรือหมู เป็นต้น ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศริมฝั่งแม่น้ำลำคลองบางช่วงมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ไม่สะดวกต่อการรอตักบาตรอยู่บนฝั่ง ชาวบ้านจึงนิยมตักบาตรพระร้อยแบบลักษณะแรก คือ จัดสำรับอาหารลงเรือรอตักบาตรอย่างคับคั่งเรียงรายเลียบฝั่งลำน้ำ ดังที่ นายวีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย ได้กล่าวไว้ในวารสาร ความรู้คือประทีป ว่า “ผู้มาทำบุญตักบาตรพระร้อยจะต้องจัดเตรียมอาหารทั้งคาวและหวาน อาหารคาวนั้น มีทั้งอาหารแห้ง เช่น หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผัดผัก หรือแกงจืด แกงเผ็ดตามแต่สะดวก ส่วนอาหารหวาน นิยม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยน ข้าวเม่าทอด ขนมกล้วย ขนมสอดไส้ ขนมตาล ฯลฯ แต่ละบ้านจะจัดเตรียมอาหารใส่หม้อแยกเป็นอย่าง ๆ ในปริมาณมากเนื่องจากมีพระภิกษุมารับบิณฑบาตเป็นจำนวนมาก และเพื่อความสะดวกในการตักบาตรทางเรือ ครั้นเตรียมอาหารเสร็จแล้วก็ยกลงเรือ พ่อพายท้าย แม่พายหัว ตอนกลางลำเรือไว้ให้ลูก ๆ นั่งและตั้งอาหาร พายเรือไปพ่วงต่อ ๆกันเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “จับเข้าพวง” บางบ้านใช้เรือติดเครื่องยนต์ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว โยงลากจูงกันตั้งแต่ต้นพวงถึงปลายพวง ภาพของเรือนานาชนิดลอยลำอยู่ในแม่น้ำนับร้อยลำ เป็นแพเต็มลำน้ำ มีสีสันหลายหลากดูงดงามตา รอบ ๆ พวง มีแม่ค้า พ่อค้าขายขนมข้าวเม่าทอด กล้วยทอด ตั้งเตาตั้งกระทะลอยเรือขายกันตั้งแต่เช้ามืด” (วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย : ๒๕๔๖)

ต่อมาเมื่อมีการใช้ถนนหนทางเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม การใช้เรือค่อย ๆลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ประกอบกับริมฝั่งแม่น้ำลำคลองมีสิ่งปลูกสร้าง และพัฒนาภูมิทัศน์มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านบางส่วนสะดวกที่จะนั่งรอใส่บาตรอยู่ริมฝั่งบริเวณท่าน้ำหน้าวัด ท่าน้ำหน้าบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง บางส่วนก็สะดวกที่จะลงเรือรอใส่บาตร

พอถึงเวลาที่กำหนด พระตามวัดต่างๆ จะนั่งเรือโดยมีศิษย์วัดหรือชาวบ้านมาช่วยพายเรือให้พระนั่งรับบาตร ซึ่งพระที่นิมนต์มารับบาตร จะมารวมกันที่วัดที่เป็นเจ้าภาพ ถ้าวัดอยู่ไกลบางทีก็ต้องมาค้างคืนที่วัดเจ้าภาพนั้น พอเช้าตรู่ของวันตักบาตรพระร้อยพระที่นิมนต์มารับบาตรจะจับฉลากหมายเลข ถ้าพระรูปใดจับได้หมายเลข ๑ ก็ให้ออกหน้าศิษย์ที่พายเรือจะรีบสาวเชือกที่ขึงไว้ เพื่อรับอาหารหวานคาว หวานตามชาวบ้านเรื่อยไปทุกบ้าน และพระรูปต่อไปที่ได้หมายเลข ๒ , ๓ ,...ต่อ ๆไป ก็จะออกรับบิณฑบาตต่อๆ กันไปตามลำดับ จนครบ ๑๐๐ รูป กว่าจะรับบาตรเสร็จก็เป็นเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา เมื่อพระรูปใดรับบาตรเสร็จแล้วก็จะพากันกลับวัดของตน

ครั้นตกตอนบ่ายพุทธศาสนิกชนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่จะพากันไปปิดทองนมัสการพระประธานในโบสถ์ หรือพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์หรือปิดทองรอบพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์หรือปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งทางวัดจะจัดเตรียมดอกไม้ ธูปเทียนทองไว้ สำหรับไหว้พระเพื่อความ

สะดวก และให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญบำรุงวัดต่อไป เมื่อนมัสการและปิดทองพระเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะพากันลงเรือ ล่องไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา (ทองคำ พันนัทที: ๒๕๓๘)

การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่

ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ / ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลาย ๆบ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา หลายวัดจึงปรับเปลี่ยนไปตักบาตรรอบโบสถ์ ซึ่งนายวีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสามโคก ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การตักบาตรพระร้อย เป็นการตักบาตรทางน้ำ แต่หากตักบาตรรอบโบสถ์ เรียกว่าตักบาตรเทโว” พระที่มารับบาตรส่วนใหญ่มีจำนวนไม่ถึงร้อยรูป จะอยู่ที่ประมาณ ๗๐–๘๐ รูป แต่บางวัดก็ถึงร้อยรูป วัดที่ยังคงอนุรักษ์ให้มีการตักบาตรพระร้อยทางน้ำ เขตอำเภอเมืองปทุมธานี ได้แก่ วัดมะขาม ,วัดหงส์ปทุมาวาส และวัดสำแล เขตอำเภอสามโคก ได้แก่วัดสามัคคิยาราม ซึ่งเริ่มกลับมาฟื้นฟูให้มีการตักบาตรพระร้อยทางน้ำอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ วัดที่กล่าวมาล้วนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บางวัดจะมีการละเล่น รำพาข้าวสาร ควบคู่ไปกับการตักบาตรพระร้อยเพื่อเรี่ยไรหรือบอกบุญ หรือเชิญชวนให้ผู้มาตักบาตรร่วมทำบุญ เช่นวัดสำแล วัดหงส์ปทุมาวาส บางวัดก็ตักบาตรพระร้อยพร้อมกับมีงานทอดกฐิน พอตักบาตรพระร้อยเสร็จ ประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกา ก็จะตักบาตรข้าวเม่าและหมี่กรอบต่อ จึงมีพ่อค้าแม่ค้าขาย หมี่กรอบ และข้าวเม่าทอดร้อน ๆ ประชันกันหลายเจ้า จนดูเหมือน “เทศกาลข้าวเม่าทอด”เลยทีเดียว

สถานที่ตั้ง
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
จังหวัด ปทุมธานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี
บุคคลอ้างอิง ลัษมา
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี
ถนน เทศปทุม
จังหวัด ปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12000
โทรศัพท์ 0-2593-4270 โทรสาร 0-2593-4406
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่