ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพิธีส่อนขวัญของชาวบ้านดอนยานาง เป็นพิธิกรรมตามความเชื่อของคนอีสานที่แฝกไว้ด้วยภูมิปัญญา อันน่าศึกษาและสืบไว้ จัดทำขึ้นเพื่อให้กำลังใจแก่คนป่วยผู้ประสบอุบัติเหตุ ตกต้นไม้ ควายชน ตกรถ เป็นต้น เมื่อทำแล้วจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็ว มีสภาพจิตใจเป็นปกติและดีขึ้นตามลำดับ หากไม่ทำเชื่อกันว่าจะทำให้อาการป่วยหนักขึ้น เป็นคนเสียสติ ผู้เขียนเองเคยประสบอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซย์พลิกคล่ำ ในสมัยเป็นฆราวาส ไปทำงานก่อสร้างที่อำเภอบ้านบึง จ.ชลบุรี ได้มี สองสามีภรรยา คือพ่อสมาน-แม่แย้ม ชาวบ้านกุดอ้อ เป็นผู้ทำพิธีส่อนขวัญให้และได้กำลังใจจากลูกสาวของท่านทั้ง ๒ คน คือ ปอ กับ ปาน เป็นผู้พยาบาลให้กำลังใจทำให้การเจ็บป่วยหายวันหายคืน ข้าพเจ้าได้ฟังคำพูดหนึ่งซึ่งเป็นกำลังใจได้มาก ในวันทำพิธีส่อนขวัญว่า “ตอนไปส่อนขวัญนั่งมอเตอร์ไซย์ไปกันสองคน(สามี ภรรยา) พอส่อนขวัญเสร็จ นั่งมอเตอร์ไซย์กลับมา รู้สึกหนักกว่าเดิม คงจะเป็นขวัญเจ้านั่งมอเตอร์ไซย์ซ้อนท้ายมาด้วย” การสอนขวัญของชาวบ้านดอนยานาง มีอยู่ มีอยู่ ๒ ลักษณะ ๑.การส่อนขวัญแบบธรรมดาสามารถทำกันได้ทั่วไป ๒.แบบมีหมอสูตรขวัญที่เล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ตามลำดับ แต่จุดประสงค์ก็เหมือนกันคือเพื่อ สร้างขวัญกำลังใจให้กับคนป่วยเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่ญาติและชาวบ้าน เพื่อแสดงออกซึ่งความรักความห่วงใยซึ่งกันและกัน
จึงขออนุโมทนาขอบคุณผู้ที่ให้ข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทานศึกษาและสืบไว้แก่คนรุ่นหลังต่อไปหากมีสิ่งขาดตกบกพร้องขอท่านผู้รู้ได้กรุณาแนะนำเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป
การส่อนขวัญ
ความเชื่อของคนอีสานเมื่อมีผู้ประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกต้นไม้ วัวควายชน ตกรถ ตกบ่อน้ำ ฯลฯ ทำให้ขวัญออกจากตัวเป็นเหตุให้การเจ็บป่วยหายช้า กินไม่ค่อยได้นอนค่อยไม่หลับ กระสับกระสาย ตกใจง่าย คนโบราณอีสานจึงจัดทำพิธีเรียกขวัญของคนป่วย ที่นิยมเรียกว่า “ส่อนขวัญ”
คำว่า “ส่อน” เป็นภาษาอีสานคือการนำเอาสวิงหรือผ้า ส่อนไปส่อนมาเพื่อความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่น ส่อนหาปลาเมื่อไม้ปลาแล้วใช้มือกำสวิงจากด้านนอกช่วงมีปลาอยู่ เพื่อกันปลากระโดดออก การส่อนขวัญกะเช่นกันนำเอาสวิงมาส่อนไปส่อนมาพร้อมกับเอิ้นเรียกชื่อผู้ประสบอุบัติเหตุบุคคลผู้ไปประกอบพิธีก็จะโยนสิ่งของที่เตรียมไป (ไข่ไก่ต้ม ปั้นข้าวเหนียว ด้ายผูกแขน) เข้าใส่สวิง ถือว่าได้ขวัญของคนป่วยมาแล้ว ต่อมาญาติพี่น้องและชาวบ้านก็จะทำการผูกแขนให้พร้อมอวยพรให้คนป่วยดีวันดีคือหายป่วยหายตกใจ อยู่เย็นเป็นสุข
คำว่า “ขวัญ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕
น.มิ่งมงคล,สิริ,ความดี,เช่นขวัญข้าว ขวัญเรือน
น.สิ่งที่ไม่มีตัวตน นิยมกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็น สิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไปเสีย ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่างๆเรียกผู้ตกใจง่ายคือเด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อยๆ ว่าขวัญอ่อน และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน โดยปริยายหมายความว่า “ยอดกำลังใจ”
การส่อนขวัญของชาวบ้านดอนยานางจากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านพอทราบว่ามี ๒ แบบด้วยกัน คือ
๑.แบบเรียบง่ายธรรมดาสามารถกระทำได้ทั่วไป
๒.แบบมีครูมีบามีหมอสูตรมีตำราเรียนสืบต่อกันมาเป็นรุ่นๆ
ดังจะได้อธิบายขยายเนื้อความตามลำดับต่อไป
๑.การส่อนขวัญแบบเรียบง่ายธรรมดาสามารถกระทำได้ทั่วไป
เมื่อมีผู้ประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกต้นไม้ วัวควายชน ตกรถ เป็นต้น หากเจ็บป่วยถึงขนาดเข้ารักษาที่โรงพยาบาลต้องรอให้ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่บ้านของตัวเองก่อน วิเคราะห์ว่าผู้ป่วยเมื่อได้กลับบ้านของตัวเองก็จะมีความสบายใจ เป็นอิสระ รู้สึกอบอุ่นได้ใกล้ชิดกลับครอบครัว เมื่อประกอบพิธีส่อนขวัญก็จะสะดวกแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านก็จะมาร่วมพิธีได้สะดวกและมากด้วย เมื่อเอิ่นขวัญมาก็จะมาอยู่ที่บ้านที่เคยอยู่ กิน นั่ง นอน หากไปทำพิธีที่โรงพยาบาลก็ไม่สะดวกและต้องได้เอิ่นขวัญจากโรงพยาบาลกลับมาบ้านอีกหากทำไม่ดีอาจได้ขวัญคนป่วยคนอื่นที่โรงพยาบาลมาด้วย จึงมักนิยมรอจนออกจากโรงพยาบาลก่อน เมื่อคนป่วยมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านของตนเองแล้ว พ่อแม่ญาติพี่น้องเห็นสมควรทำพิธีส่อนขวัญก็จะนัดวันเวลากันและบอกให้คนป่วยทราบด้วยว่าจะทำพิธีส่อนขวัญให้เพื่อให้คนป่วยดีใจ(วัน/เวลานิยมเอาวันเดียวกันกับวันประสบอุบัติเหตุ เช่น ประสบอุบัติเหตุ วันพุธ เวลา 15.00 น.ก็จะกำหนดเอาวันเวลาเดียวกัน) หรือกำหนดวัน เวลาตามความเหมาะสม
เมื่อถึงวันเวลาที่กำหนดจะมีการนัดแนะให้คนใดคนหนึ่ง(เพศเดียวกันกับผู้ป่วย)ไปนั่งอยู่ในที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ(สมมุติตนเป็นขวัญของผู้ป่วย)ให้ถือเครื่องขวัญไว้(๑.ด้ายผูกแขน ๒.ไข่ไก่ต้ม ๓.ปั้นข้าว๔.ขันห้า )
นัดกันไว้ว่าผู้ไปส่อนขวัญจะเอิ้น(เรียก)ถึงสองครั้งห้ามพูด คำเอิ้นขวัญ สมมุติชื่อว่า “น้อย” ผู้ส่อนและญาติๆก็จะร้องเรียกหาขวัญ ว่า “น้อยเอ้ย อยู่ใสน้อ มาเมือเฮือน เมือซานเจ้าเด้อ”
ขวัญขานรับคนส่อนจับเอาพากลับบ้าน
พอเอิ้นครั้งที่สามจึงขานรับว่า “อยู่พี้......มาเอาข่อยเมือแนท่อน จะแม่นข่อยคึดฮอดโตฮอดคีงคึดฮอดพ่อฮอดแม่คึดฮอดเฮือนฮอดซาน อยู่พี้..เด้อ” ว่าแล้วก็โยนเครื่องขวัญลงในสวิงคนส่อนขวัญก็จะรวบสวิงกำไว้บอกกับผู้ไปร่วมพิธีว่าได้ขวัญแล้วๆ คนทั้งหลายก็ร้องไชโยพร้อมกันแล้วพากันกลับบ้าน เอาไข่และปั้นข้าวใส่มือให้คนป่วย จากนั้นนำด้ายผูกแขนให้คนป่วย
คำผูกแขน
คำผูกแขนก็จะเป็นคำพูดที่ออกมาจากใจมีจุดมุ่งหมายสองประการ ๑.เพื่อปลอบขวัญเอิ้นขวัญให้มาอยู่เนื้ออยู่คีง มัดขวัญไว้ผูกขวัญไว้ เช่น คำว่า “เออบักหล้าเอ้ยขวัญเจ้ามาอยู่เนื้ออยู่คีงเจ้าเด้อ” ๒.เพื่ออวยพรให้หายเจ็บป่วย เช่นคำว่า “ต่อไปนี่ให้เจ้าดีวันดีคืน หายเจ็บหายไข้หายพยาธิโรคาเด้อ”
พอผูกแขนเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีต่างคนก็จะมีรอยแย้มและเสียงหัวเราะพูดจาสนุกสนาน แล้วเจ้าของบ้านก็จะแสดงการขอบคุณด้วยการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ไปร่วมพิธี
๒.แบบมีครูมีบามีหมอสูตรมีตำราเรียนสืบต่อกันมาเป็นรุ่นๆ
จากการสอบถามพ่อใหญ่หัน ภูวงเรือง อายุ 83 ปี
อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 1 บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด
จ.กาฬสินธุ์ เมื่อ วันที่ 7 กันยายน 2549
พ่อใหญ่หัน ภูวงเรืองเล่าให้ฟังว่าพิธีส่อนขวัญที่ทำให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุมีมาตั้งแต่นานแล้วไม่สามารถกำหนดได้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.ใดแต่เป็นพิธีที่ชาวบ้านรู้จักและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นธรรมเนียมของหมู่บ้านหากมีผู้ประสบอุบัติเหตุตกต้นไม้ ควายชน ตกรถ จะต้องทำพิธีส่อนขวัญ พ่อใหญ่หัน ภูวงเรืองบอกว่าท่านเคยคิดพิจารณาว่า “เอ่!... การทำพิธีส่อนขวัญนี้มันดีอย่างไร มันจะช่วยให้คนป่วยหายเจ็บป่วยได้อย่างไร การส่อนขวัญไม่ใช่ยาทา หรือ ยากิน แต่พอสังเกตการณ์ในงานศพ ถ้างานใดมีชาวบ้านไปช่วยงานหรือไปร่วมงานมากๆญาติของผู้ตายก็มีความอบอุ่นใจ การจัดงานศพก็ดำเนินไปได้ด้วยดี มีทุกข์น้อย หากงานใดคนไปร่วมงานน้อยก็มักมีปัญหายุ่งยากมากเจ้าภาพมีความลำบากมาก เป็นทุกข์มาก การส่อนขวัญก็คงเหมือนกันคือคนป่วยได้เห็นญาติพี่น้องเพื่อนสนิดมิตรสหาย เพื่อนบ้านใกล้เคียง มาห้อมล้อมแสดงออกซึ่งความรักความห่วงใย ก็ทำให้ได้กำลังใจ ตัวกำลังใจนี่แหละพาให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย”
สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีส่อนขวัญ
1.ขัน ๕ (ดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ คู่)
2.ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง
3.ข้าวเหนียวสุก 1 ปั้น(ประมาณเท่าไข่ไก่)
4.ด้ายผูกแขนเท่ากับจำนวนของคนที่ไปร่วมพิธี หรือ มากกว่า
5.สวิง ถ้าไม่มีให้ใช้ เชิงผ้าขาวม้าก็ได้
6.คนที่จะสมมุติเป็นขวัญคนป่วยและคณะคนที่ไปส่อนขวัญ
7.ก้อนหินจำนวน 8 ก้อน(เพื่อเสกคาถากันผีป่า)
หมอขวัญกันผีป่า
ข้อควรระวัง การเรียกขวัญนี้ ถ้าไม่มีคาถากันผีป่า ผีป่าจะไล่ขวัญเคนป่วยหนี แล้วเข้ามา แทนที่ พอเอาเข้ามาหาคนป่วย ปล่อยเข้าตัวคนป่วย ผีป่ามันก็จะกินคนป่วย คนป่วยจะยิ่งทรุดหนัก และจะตายเร็วเข้า ดังนั้น ก่อนจะเรียกขวัญนั้นให้เสกคาถากันผีป่าก่อน
ว่า (นะโม 3 จบ) แล้วกล่าวว่า “พุทธัง วันทามิ ธัมมัง วันทามิ สังฆัง วันทามิ ข้าฯ ขอไหว้พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า ขออานุภาพของ พระรัตนตรัย จงขจัดผีป่าออกไปอย่าให้เข้ามาใกล้ ขอให้เอิ้นขวัญของ..........(ออกชื่อ-นามสกุลของคนที่เฮา ไปเอิ้นขวัญ.) ผู้ตกต้นไม้ให้กลับบ้านเข้าเนื้อเข้าคีงอยู่ดีสบาย หายพยาธิโรคคาก็ข้า เทอญฯ” แล้วเสกคาถา ใส่หินทั้งแปดก้อนแล้วโยนไปในแปดทิศเสร็จแล้วจึงทำการส่อนขวัญ
คาถากันผีป่า อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา, ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง, ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท,โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ, ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ,คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ,วา โธ โน อะ มะ มะ วา,อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ,
สมมุติคนเป็นขวัญผู้ป่วย
เมื่อถึงวันเวลาที่กำหนดจะมีการนัดแนะให้คนใดคนหนึ่ง(เพศเดียวกันกับผู้ป่วย)ไปนั่งอยู่ในที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ(สมมุติตนเป็นขวัญของผู้ป่วย)ให้ถือเครื่องขวัญไว้(๑.ด้ายผูกแขน ๒.ไข่ไก่ต้ม ๓.ปั้นข้าว๔.ขันห้า )
นัดกันไว้ว่าผู้ไปส่อนขวัญจะเอิ้น(เรียก)ถึงสองครั้งห้ามพูด คำเอิ้นขวัญ สมมุติชื่อว่า “น้อย” ผู้ส่อนและญาติๆก็จะร้องเรียกหาขวัญ ว่า “น้อยเอ้ย อยู่ใสน้อ มาเมือเฮือน เมือซานเจ้าเด้อ”
ขวัญขานรับคนส่อนจับเอาพากลับบ้าน
พอเอิ้นครั้งที่สามจึงขานรับว่า “อยู่พี้......มาเอาข่อยเมือแนท่อน จะแม่นข่อยคึดฮอดโตฮอดคีงคึดฮอดพ่อฮอดแม่คึดฮอดเฮือนฮอดซาน อยู่พี้..เด้อ” ว่าแล้วก็โยนเครื่องขวัญลงในสวิงคนส่อนขวัญก็จะรวบสวิงกำไว้บอกกับผู้ไปร่วมพิธีว่าได้ขวัญแล้วๆ คนทั้งหลายก็ร้องไชโยพร้อมกันแล้วพากันกลับบ้าน
พิธีที่บ้าน
สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีเอิ้นขวัญ (จัดเตรียมไว้ที่บ้าน)
1. ธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม
2. แจกันดอกไม้
3. ถาด 1 ใบ
4.ขัน หมากเบ็ง 1 คู่
5.ขัน ๕ จำนวน 1 ขัน
6.ขันเงิน(ใส่คำหมากหรือของกินที่คนป่วยชอบ) ขันคำ (ใส่แหวน สร้อยคอ ต้างหู )
7.เสื้อผ้าชุดใหม่(ชายหรือหญิง) ผ้าขาวหรือผ้าขาวม้าเบี่ยงบ่าด้วย
8.หมอขวัญ (ผู้ประกอบพิธี)
9.พาข้าวสำหรับเลี้ยงคนผู้มาร่วมพิธี