ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 36' 42.0001"
17.6116667
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 12' 56.9999"
99.2158333
เลขที่ : 129715
ประวัติเมืองเถิน
เสนอโดย สุภาภรณ์ เรือนหล้า วันที่ 31 มีนาคม 2555
อนุมัติโดย ลำปาง วันที่ 30 มิถุนายน 2564
จังหวัด : ลำปาง
0 1033
รายละเอียด

ประวัติเมืองเถิน จากตำนานในใบลานได้กล่าวไว้ว่า ปางเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นพระโคอุสุภราชนั้น ได้มาประสูติบริเวณที่ตั้งพระธาตุวัดเวียง ปัจจุบันนี้ ซึ่งแม่โคได้พาลูกน้อยออกไปหากินและได้พลัดพรากจากลูกน้อย แต่ลูกน้อยยังได้เรียกร้องหาแม่ว่า“อุลอ….อุลอ” ส่วนแม่โคนั้นได้รอลูกน้อยอยู่ที่บริเวณที่ตั้งพระธาตุวัดอุมลองปัจจุบันนี้ และลูกน้อยก็ตามหาแม่จนพบที่นั้นจึงเรียก บริเวณที่นั้นว่า “อุลอ” และต่อมาจึงเรียกว่า “อุมลอง” ต่อจากนั้น แม่โคก็ได้พาลูกน้อยไปหากินยังเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และได้นอนอยู่บริเวณนี้จนกระทั่งโตขึ้น ณ บริเวณนี้จึงเรียกว่า “ม่อนงัวนอน” ซึ่งอยู่ในเขตบ้านป่าตาล ตำบลเถินบุรี ปัจจุบันนี้คือ “วัดดอยป่าตาล” นั่นเอง

ครั้งเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้จุติลงมาเกิดในโลกได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกชาติแต่หนหลังว่าเคยเสวยพระชาติเป็นอะไรและอยู่ที่ไหนพระองค์ทรงตรัสรู้ให้สาวกนำเอาเกศาหรืออัฐิไปบรรจุไว้ในที่สำคัญๆ ดังกล่าวหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว

ต่อมาหลังจากนั้นพระพุทธเจ้าได้ดับขันปรินิพพานไปแล้ว 250ปี พระยาอโศกราชได้สร้างเจดีย์ขึ้นจำนวนแปดหมื่นสี่พันองค์ และได้ส่งทูตมาบรรจุอัฐิตามคำสั่งขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าให้บรรจุวัดเวียงชื่อ “พระธาตุเล็บมือ” บรรจุที่วัดอุมลองชื่อ “พระธาตุกระดูกด้ามพร้า” และบรรจุวัดดอยป่าตาล ชื่อ “พระธาตุลิ้นไก่”

ขณะที่ทูตนำผอบบรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้ามานั้นก็ได้มาพักอยู่ที่จวนเจ้าเมือง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระธาตุวัดเวียงปัจจุบันนี้ เจ้าเมืองได้ถามทูตว่าจะนำอัฐิของพระพุทธเจ้าไปบรรจุไว้ที่ใด ฑูต

บอกว่าจะนำไปบรรจุที่วัดดอยต้อก(วัดศิลาวารี) พอพูดจบพระอัฐิซึ่งบรรจุอยู่ในผอบแก้วก็ลอยออกจากผอบแล้วร่วงลงสู่พื้นดิน แผ่นดินก็สลุบ(ยุบลง) ฑูตจึงสั่งให้เจ้าเมืองสร้างเจดีย์ครอบไว้ เจ้าจึงย้ายจวนออกแล้วทำการสร้างพระเจดีย์ครอบไว้ แต่ก็ไม่ใหญ่โตเช่นปัจจุบัน

ส่วนวัดอุมลองและวัดดอยป่าตาลก็สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน และกำหนดวัดทั้งสามเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เปรียบเสมือนสามเส้าจะขาดวัดใดวัดหนึ่งไม่ได้และให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา และบำรุงรักษาวัดทั้งสามแห่งนี้ ดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า

"จึงมีจารีตประเพณีสรงน้ำพระธาตุแต่ก่อนดังนี้ เดือนห้าเป็งเหนือ หื้อสรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดเวียง เดือนเจ็ดปี๋ใหม่พยาวันหื้อปากั๋นไปสรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดอุมลอง พอถึงเดือนแปดเป็งหื้อปากั่นล่องไปสรงน้ำพระธาตุวัดดอยป่าตาล และหื้อปากั๋นบำรุงรักษาบูชากราบไหว้ทั้งสามวัด บ้านเมืองจักรุ่งเรืองตลอด ทั้งฝนก็จะตกตามฤดูกาล ข้าวกล้าจักงอกงาม หากปากั๋นเพิกเฉยเสีย บ้านเมืองก็จะแห้งแล้งเกิดยุคเข็ญ ข้าวกล้าในนาจักเหี่ยวแห้ง ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล”

จากนั้นบ้านเมืองก็เกิดศึกสงครามไทยกับพม่า ผู้คนล้มหายตายจากกันจำนวนมาก วัดวาอารามก็ถูกทำลายสูญหายไปมาก จึงกลายเป็นที่ลกล้างว่างเปล่าไป พม่ารู้ดีว่าพระธาตุเจ้าวัดเวียงมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะตำนานของพม่าก็มี พม่าได้บูรณะให้เป็นปูชนียสถานอันสำคัญ และพากันกราบไหว้บูชา ต่อมาได้เกิดสงครามไทยกับพม่าอีกเมืองก็รกร้างไปอีกครั้ง เพราะสงครามสมัยนั้นหากฝ่ายใดชนะก็กวาดตอนเอาผู้คนไปหมด เมืองก็ต้องรกร้างว่างเปล่า ต้นไม้ก็ขึ้นปกคลุม จนมองแทบไม่ออกว่าบริเวณนี้มีพรระธาตุอยู่

จนกระทั้งมีพระครูบาอาทิตย์ ได้ธุดงค์มาปักกลดเมตตาภาวนาอยู่ที่เมืองร้าง(วัดเวียง) ก็เห็นว่าว่างอยู่จึงทำการบูรณะขึ้นและได้นำญาติบ้านเดียวกับท่าน คือบ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆวัดสามครอบครัว จากนั้นก็ได้ช่วยกันบูรณะดูเป็นวัดเป็นวาขึ้น และต่อมาศิษย์ของท่านชื่อ ครูบาอินทร์จันทร์ ก็ได้ติดตามมา และบังเอิญญาติของท่านที่ตามมาด้วยล้มป่วยลง ครูบาอินทร์จันทร์ต้องคอยรักษาโดยใช้สมุนไพร จึงได้ออกไปหายาสมุนไพรจากรากไม้ในบริเวณม่อนเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ ม่อนงัวนอน และได้ไปขุดพบหลามคำแผ่นหนึ่งจารึกเป็นอักษร ขอมนำมาให้ครูบาอาทิตย์อ่านดูจึงรู้ว่ามีพระธาตุอยู่ 3แห่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้กะปันนะไว้ จึงได้ชักชวนกันค้นหาและพบพระธาตุเจดีย์ 3 แห่งดังกล่าว จึงได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมจนเป็นปูชนียสถานที่สำคัญสืบมา ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง เมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองสังฆะเติ๋น”

คำว่า ”เติ๋น” แปลว่า เตือน หรือบอกให้คล้ายกับว่า พระสงฆ์เตือน คือพระสงฆ์ปกครองบ้านเมืองนั้นเอง ใครคิดจะทำอะไรต้องปรึกษาพระสงฆ์ก่อน ถ้าพระสงฆ์อนุญาตจึงจะทำได้ ถ้าพระสงฆ์ไม่อนุญาตก็กระทำไม่ได้ จึงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองสังฆะเติ๋น” ต่อมาเหลือเพียงคำว่า “เถิน”เพียงคำเดียว และบริเวณวัดเวียงคือใจกลางของเมืองเถิน เพราะคำว่า “เวียง” มีความหมายว่า “เมือง” รอบๆ วัดเวียงจะมีกำแพงดินล้อมรอบ ทั้งกำแพงของวัดที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและกำแพงที่วัดสร้างด้วยดินสองชั้น และยังมีคูเมืองหรือที่เรียกว่า “คือเมือง” ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ต่อมาปี พ.ศ. 1157เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเถินสมัยนั้นได้สร้างวิหารอุโบสถขึ้น โดยมีนางจำปาเทวี หรือนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมืองได้ช่วยกันก่อสร้าง พระยาเจ้าเมืองมีมเหสีชื่อ “พระนางนารา” และมีนางป้อม,นางเป็งเป็นบริวาร ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้นเพื่อเป็นหลักเมืองเรียกว่า “ขนุนนางจามเทวี” ต้นขนุนจามเทวีมี 3ต้น คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 1ต้น วัดพระธาตุลำปางหลวง 1ต้น และวัดเวียง 1ต้น ส่วนนางเป็งนั้นได้สร้างบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เวียง หรือเรียกว่าหนองสาง และนางป้อมก็สร้างบ้านเรือนอยู่ที่หนองผ้าอ้อม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดเช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ช่วยกันสร้างวัดเวียงและปลูกต้นไม้ไว้มากมายในยุคนั้น มีต้นโพธิ์ ต้นจำปาแดง ฯลฯ

พระยาดาวไข่ฟ้า ได้สร้างวิหารไว้แต่ไม่ใหญ่โตนักเหมือนปัจจุบัน ส่วนนางจามเทวีหลังจากได้บูรณะพระธาตุแล้ว ก็เดินทางกลับไปจังหวัดลำพูน

ต่อมาแม่น้ำวังได้เซาะฝั่งเข้ามาใกล้ตัวเมือง(วัดเวียงในปัจจุบัน) อยู่ในเขตอันตราย เพราะแม่น้ำได้เซาะฝั่งเข้ามาถึงโรงเรียนบ้านเวียงปัจจุบันนี้ ผู้คนได้อพยพไปอยู่หนองสางและหนองผ้าอ้อมหรือเมืองของนางป้อม นางเป็ง พระนางทั้งสองจึงได้มาตั้งจิตอธิฐานต่อองค์พระธาตุเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้แม่น้ำวังเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออก เมื่ออธิฐานเสร็จแล้วอีกไม่นานแม่น้ำวังก็เปลี่ยนทิศทางไปทางทิศตะวันออก ทำให้บริเวณกลางเมืองหรือวัดเวียงปลอดภัย ผู้คนจึงอพยพมาบูรณะบ้านเมืองเช่นเดิม

หลังจากนั้นมาพม่าได้อพยพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนืออีก พระนางนารา และนางป้อม,นางเป็ง จึงหลบหนีสาบสูญไป และตามตำนานเล่าว่าพม่าได้บูรณะวัดเวียงอีกครั้งหนึ่ง และได้เกณฑ์พวกญวณมาเป็นช่างสร้างวิหารให้ใหญ่ กว่าเดิม รวมทั้งอุโบสถและซุ้มประตูจนเสร็จสมบูรณ์

ในที่สุด ครั้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ยกทัพมาตีพม่าจนถอยกลับไป และยึดประเทศไทยตอนบนคืนมาจนหมด เมื่อพม่าแตกทัพแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา วัดเวียงจึงเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะซ่อมแซมวัดวาอารามทั่วประเทศ ประชาชนก็เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่และทำมาหากินในละแวกนี้ต่อไป ทิศตะวันตกของวัดเวียงคือบ้านเก่าของนางป้อม นางเป็ง ก็มีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อ “วัดแพะหนองสาง” มีปู่หลวงแสนเป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่แสนคำก็ได้มาบูรณะซ่อมแซมและย้ายมาประจำอยู่ที่วัดวียงแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากหลวงปู่แสนคำ และพระสงฆ์ได้ช่วยกันบูรณะวัดเวียงแล้ว ก็ได้พบกับสิ่งปฏิหารย์ในวัดคือ มีเสาวิหารต้นหนึ่งมีนางไม้ออกไปเล่นน้ำที่หนองท่วม ซึ่งห่างจากวัดประมาณ 2กิโลเมตร ตอนเช้าจะมีจอกแหนติดอยู่ปลายเสา มีสาหร่ายหรือแม้แต่หอยยังติดมาด้วย หลวงปู่แสนคำจึงใช้เวทย์มนต์คาถาสะกดเสาต้นนี้และเอาโซ่เหล็กมาผูกไว้ที่โคนเสา จากนั้นก็มีผึ้งมาทำรังในโพรงเสาและมีหมีมาควักกินน้ำผึ้ง (เพราะบริเวณวัดเวียงในสมัยนั้นยังติดกับป่าอยู่ ไม่เจริญเหมือนเช่นปัจจุบันนี้) เมื่อหมีมาควักกินน้ำผึ้งก็ทำให้เสาแตก หลวงปู่แสนคำจึงสั่งให้ช่วยกันเอาเสานั้นออก แล้วก่ออิฐฉาบปูนขึ้นแทนเสาต้นเดิม จนเห็นเช่นทุกวันนี้

นอกจากนั้นยังมีต้นขนุนนางจามเทวี ซึ่งจะมีผลทุกปี ปีใดฟ้าฝนตกดีก็จะมีผลดกมากแม้แต่รากก็ยังมีผล ทราบว่ารากมีผลก็เพราะข้างๆต้นขนุนจะมีบ่อน้ำอยู่ รากของขนุนโผล่เข้าไปในบ่อน้ำและมีผลให้เห็นชัดเจน ผู้คนทั้งหลายต่างนับถือต้นขนุนต้นนี้มากเพราะถือว่าเป็นขนุนศักดิ์สิทธิ์ บางรายก็ไปสังเกตเลขข้างตามความเชื่อ บางรายก็แอบไปดูโชคชะตา

ภายในวิหารยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กลับวัดเวียงอีกอันหนึ่งคือ “พระเพชร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน ขนาดองค์พระไม่ใหญ่โตนัก แต่บารมีนั้นมีมากมาย “พระเพชร” เป็นพระพุทธรูปที่เก็บไว้ที่ปลอดภัยแล้ว เนื่องจากเมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2524ที่ผ่านมาได้มีคนตัดเศียรพระพุทธรูปองค์หนึ่งของวัดไป และได้จ้างช่างปั้นจากลำพูนมาปั้นไว้แทน โดยได้รับการอนุญาตจากกรมศาสนา และกรมศิลปกรแล้ว

ใน พ.ศ. 2500คณะศรัทธาวัดเวียงได้พร้อมใจกันบูรณะพระธาตุวัดเวียง โดยพร้อมใจกันอันเชิญลูกแก้วบนยอดพระธาตุลงมาเพื่อปฏิสังขรณ์ และทำให้ชาวอำเภอเถินได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเจ้า โดยเรื่องมีอยู่ว่า พ่อแก้ว นอศรี หัวหน้าช่าง ผู้ขึ้นไปอัญเชิญลูกแก้วลงมาได้เกิดอาการผิดปกติในร่างกาย คือเมื่อลงมาถึงพื้นก็มีเลือดออกมาจากปาก จมูก และรูหู คณะกรรมการและญาติพี่น้องจึงได้ไปตามหมอมาดูอาการ หมอเวิทร์ สุวรรณ ซึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงขณะนั้นมาดูอาการแล้วบอกว่า “ช่วยไม่ได้” ก็คือ พ่อแก้วต้องตายนั้นเอง จากนั้นพ่อแก้วก็พูดออกมาเป็นภาษาพม่าไม่มีใครฟังออก จึงไปเชิญ ”หม่องแป่น” เป็นชาวพม่าอาศัยอยู่ใกล้วัดเวียงมาช่วยแปล จึงได้ใจความว่าเป็นวิญญาณของชาวพม่าที่คอยปกป้องรักษาพระธาตุนี้ ไม่ต้องการให้ใครมาแตะต้องลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์นี้ เมื่อหม่องแป่นได้เจรจาแล้วก็ให้ขอขมา เมื่อทำพิธีขอขมาแล้ว อาการพ่อแก้วก็ดีขึ้นและสามารถมีชีวิตได้อีก 36ปี และเสียชีวิตในปี พ.ศ.2536นี้เอง ท่านสามารถเล่าเหตุการณ์ต่างๆแก่ผู้อื่นได้อย่างชัดเจนโดยตลอด ท่านบอกว่าตอนที่เป็นหัวหน้าช่างท่านมีอายุ 58ปี และเมื่อ พ.ศ. 2536ที่ท่านเสียชีวิตท่านมีอายุได้ 94ปี ในระหว่างที่มีอายุมาอีก 36ปี นั้น ท่านไม่ เคยเจ็บป่วย จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคชรา

เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของลูกแก้วบนยอดพระธาตุวัดเวียงนี้ ยังมีผู้พบเห็นพระแก้วลอยออกจากพระธาตุหลายครั้ง เชื่อกันว่า วัดเวียง วัดอุมลอง และ วัดดอยป่าตาลนั้น ลอยไปเที่ยวหากันในวันโกน วันพระ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคนพบเห็นด้วยตาตัวเองมาแล้ว โดยจะเห็นลูกแก้วอยู่บนท้องฟ้ามีแสงสว่างสีเขียวนวล และเมื่อมีคนชี้จะทักว่า “ ลูกแก้วยอดพระธาตุวัดเวียงไปเที่ยวหาลูกแก้วบนยอดพระธาตุวัดดอยป่าตาล” ลูกแก้วก็ดับวูบหายไปไม่เห็นอีกจนกว่าจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งต่อไปเท่านั้น มีหลายคนพบเห็นเช่นนี้อยู่เสมอ

คณะศรัทธาวัดเวียงได้บูรณปฏิสังขรณ์หลังคาวิหารในปีพ.ศ.2518 –พ.ศ. 2519ได้ทำการรื้อพระอุโบสถหลังเก่า แล้วสร้างใหม่ในที่เดิม รวมทั้งได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีกหลังหนึ่งในทางทิศใต้ เมื่อ พ.ศ. 2534ทางวัดได้ขออนุญาตไปยังกรมศาสนาเพื่อซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหาร ซึ่งเป็นลายรดน้ำและขออนุรักษ์ลวดลายคงเดิมไว้ก็ได้รับอนุญาตให้บูรณะได้ จึงได้ลงมือบูรณะซ่อมแซม โดยช่างเขียนลวดลายจากเชียงใหม่ ต่อมากรมศิลปกรมาพบเข้าก็จึงบอกว่าไม่สมควรทำการบูรณะ เพราะเห็นว่าควรอนุรักษ์ของเก่าไว้

สถานที่ตั้ง
อำเภอ เถิน จังหวัด ลำปาง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
บุคคลอ้างอิง กรรณิกา ศักดิ์มั่นวงศ์
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง อีเมล์ lampang_cultrue@hotmail.com
เลขที่ 409 ถนน พระเจ้าทันใจ
จังหวัด ลำปาง รหัสไปรษณีย์ 52000
โทรศัพท์ 054228763 โทรสาร 054824182
เว็บไซต์ http://province.m-cuiture.go.th/lampang/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่