กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองพะเยา โดยจากการสำรวจของนายเต่า กัลยา เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ.2462 ซึ่งเป็นเวลาก่อนการเกิดขึ้นของกว๊านพะเยาระบุว่า “...หนองกว๊านอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากแม่น้ำอิง 25 เส้น กว้าง 50 เส้น ยาว 50 เส้น ระดับน้ำปกติในเดือนกันยายน บริเวณโดยรอบน้ำท่วมลึกประมาณ 1 ศอก ตอนกลางน้ำลึก 1 วา 3 ศอก ตามบริเวณรอบเป็นป่าไผ่และไม้กระยาเลย ห่างจากหมู่บ้านในเวียงประมาณ 8 เส้น ...กว๊านมี 2 ส่วน คือกว๊านน้อย ซึ่งอยู่ทางตะวันตกใกล้บ้านสันเวียงใหม่มีร่องลำรางเชื่อมไปหาน้ำแม่ตุ่น และกว๊านหลวง อยู่ทางตะวันออกใกล้กับแม่น้ำอิง มีร่องน้ำเชื่อมระหว่างกว๊านน้อยและกว๊านหลวงเรียกว่า “แม่ร่องน้อยห่าง” นอกจากนั้นยังมีหนอง บึง ตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป เช่น หนองช้างแดง หนองเอี้ยง หนองวัวแดง หนองเหนียว หนองหนองเอี้ยงและหนองหญ้าม้า โดยหนองหญ้าม้านั้นอยู่ห่างจากแม่น้ำอิงประมาณ 2 วา และมีท่าน้ำสำหรับคน-สัตว์ได้ใช้สอย ส่วนหนองเอี้ยงนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดศรีโคมคำมีท่าน้ำสำหรับประชาชนและสัตว์ได้ใช้สอยมากถึง 4 ท่า นอกจากนั้นยังมีลำน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่น้อยที่ไหลลงสู่พื้นที่บริเวณนี้ประกอบด้วย น้ำแม่ร่องไฮ น้ำแม่ใส แม่นาเรือ แม่ตุ่น แม่ต๋อม แม่ต๋ำ แม่น้ำอิงและลำห้วยสาขาของแม่น้ำอิงประกอบด้วยห้วยแม่ต๊ำ ห้วยแม่ทุ่ม ห้วยแม่เหยี่ยนและห้วยแม่ปืมซึ่งตำนานพื้นเมืองระบุว่าเป็นที่อยู่ของเทพวิสิษฐ์ฤๅษี อาจารย์ของพระยางำเมือง จากเอกสารดังกล่าว พบว่าก่อน พ.ศ.2484 กว๊านพะเยา มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำมากเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยระดับน้ำที่ลึกที่สุดในช่วงเดือนกันยายน มีความลึกประมาณ 3.5 เมตร ส่วนพื้นที่รอบๆ ลึกประมาณ 0.5 เมตร เมื่อพ้นช่วงฤดูฝน น้ำจะค่อยๆ ลดลง จนเหลือแหล่งน้ำเพียงบริเวณกว๊านน้อย กว๊านหลวงและตามบวกต่างๆ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ แม้ขุดบ่อก็ไม่พบตาน้ำ ต้องไปหาบน้ำจากบวกหนองต่างๆ ในกว๊านขึ้นมาใช้สอย หรือใช้น้ำจากร่องผักแปมซึ่งเป็นแหล่งน้ำบาดาลที่สมบูรณ์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพะเยาซึ่งมีพ่อค้าบรรทุกเกวียนมาขาย นอกจากนั้นยังเกิดเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างชุมชนทางฝั่งตะวันออกและตก โดยใช้เส้นทางเลียบขอบกว๊านเดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองพะเยาได้ ถึง 2 เส้นทางคือ เส้นทางเลียบขอบกว๊านด้านทิศใต้ ผ่านบ้านทุ่งกิ่ว บ้านสันกว๊าน บ้านแม่นาเรือ บ้านแม่ใส บ้านร่องไฮขึ้นเนินสันธาตุท้ายบ้านร่องไฮ ข้ามสะพานไม้ไผ่ที่แม่น้ำอิงเข้าสู่เมืองพะเยาที่หน้าโรงเหล้าของหลวงพิศิษฐ์และหลวงศรีนครานุกูลเส้นทางเลียบกว๊านด้านทิศเหนือ จากบ้านตุ่น ผ่านบ้านสาง บ้านงิ้ว บ้านสันบัวบก บ้านสันเวียงใหม่ สันป่าค่าง ข้ามห้วยร่องเฮี้ย ไปถึงท่าต้นกุ่ม จากนั้นข้ามแม่น้ำอิงไปถึงบ้านแท่นดอกไม้เชิงดอยพระธาตุจอมทอง ผ่านวัดพระเจ้าตนหลวงเข้าสู่ตลาดในเวียงพะเยา บริเวณรอบ ๆ กว๊านมีบ้านเรือนประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่บน”สัน” หรือเนินเตี้ยๆ อยู่เป็นกลุ่มๆ เช่น บ้านสันร่องไฮ บ้านสันช้างหิน บ้านสั่นกว๊าน บ้านทุ่งกิ่ว แต่ละกลุ่มห่างกันประมาณ 1-2 กิโลเมตร ระหว่างบ้านเป็นที่ราบและทุ่งนา ท้ายหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน มีวัด (ร้าง?) ตั้งอยู่บ้านละ 1-2 วัด โดยบ้านสันร่องไฮนั้น “..ที่ท้ายบ้านมีวัดตั้งเรียงลงมาจนถึงฝั่งแม่อิงรวม 5 วัด มีวัดหนองผักจิกเป็นต้น นอกนั้นไม่ปรากฏชื่อ..ต่อมาใน พ.ศ.2484 กรมการประมง ได้สร้างทำนบกั้นแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านเมืองพะเยา โดยทำประตูเปิด-ปิดน้ำทางตอนใต้ของสะพานข้ามแม่น้ำอิง ทำให้น้ำอิงและน้ำสาขาต่าง ๆ กลายเป็นน้ำผืนเดียวกัน โดยมีพื้นที่ครอบคุลมพื้นที่ลุ่มทางตะวันตกของเมืองพะเยาเป็นเนื้อที่ประมาณ 10,600 ไร่ในฤดูแล้ง และประมาณ 15,000 ไร่ ในฤดูฝน ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดพะเยาแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิด แต่ในขณะเดียวกันระดับน้ำที่สูงขึ้น ก็ส่งผลให้โบราณสถานต่าง ๆ ที่เคยอยู่ท้ายหมู่บ้าน หรือขอบกว๊านแต่เดิม จมลงอยู่ในกว๊านพะเยา
...โบราณสถานบ้านร่องไฮ เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ริมกว๊านพะเยา เป็นส่วนหนึ่งของวัดติโลกอารามในสมัยโบราณ บริเวณใกล้เคียงกันมีร่องรอยของศาสนสถานอยู่ประมาณ 8-9 แห่ง และเนินซากโบราณสถานบางส่วนอยู่ในกว๊านพะเยา หลักฐานที่เคยพบเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัดติโลกอาราม คือ จารึกวัดติโลกอาราม พบที่เนินสันธาตุในกว๊านพะเยาไกล้กับท้ายหมู่บ้านร่องไฮชุมชนแห่งนี้ยังสืบสานภูมิปัญญา วิถีชีวิต ความสัมพันธ์กับกว๊านพะเยาจนถึงทุกวันนี้