บ้านตาลเจ็ดต้น ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติความเป็นมา
บ้านตาลเจ็ดต้น ตั้งขึ้นหลังจากบ้านเวียงเหนือ แต่เดิมตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปาย เนื่องจากฤดูน้ำหลากมักจะถูกแม่น้ำปายท่วม กัดเซาะตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำปายเสียหาย ชาวบ้านจึงย้ายที่อยู่ใหม่ คือย้ายไปอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากที่เดิมประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นที่ราบเชิงเขาอยู่สูงกว่าเดิม ส่วนที่อยู่เดิมนั้นชาวบ้านใช้เป็นที่ทำกิน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
ชื่อของบ้านตาลเจ็ดต้น ตั้งตามชื่อต้นตาลที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งมีด้วยกัน ๗ ต้น ปัจจุบันเหลือเพียงต้นตาล ๑ ต้นเท่านั้น ที่ปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ สาเหตุที่ต้นตาลถูกโค่นล้มไปหมดนั้น เนื่องจากบ้านตาลเจ็ดต้นเป็นบ้านที่เก่าแก่ มีวัตถุโบราณมากคงฝังไว้ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ดังลายแทงว่า “ตาลเจ็ดต้น ตันต้นใดขุดต้นนั้น” พวกที่หาสมบัติหลายพวกที่ยังผัดเปลี่ยนกันเข้ามาหาของโบราณจึงพากันโค่นล้มต้นตาลจนหมดไม่เหลือ มีพวกสุดท้ายที่มาขุดเขาขุดใต้ต้นพุทรา (ชาวเหนือเรียกว่าต้นมะตัน) จึงได้สมบัติวัตถุโบราณไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านสมัยก่อนไม่เห็นคุณค่าของที่เป็นวัตถุโบราณดังกล่าวจึงปล่อยให้ขุดเอาไป แต่เขาก็แบ่งให้ชาวบ้านบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ของเหล่านั้นชาวบ้านก็ขายไปหมดไม่เหลือให้เห็นแม้แต่เพียงชิ้นเดียว
สภาพทางภูมิศาสตร์
ตั้งอยู่ที่ชานเชิงเขา อาณาเขตติดต่อมีดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำปาย
ทิศใต้ ติดกับ ทุ่งนา
ทิศตะวันออก ติดกับ ป่าและภูเขา
ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำปาย
การคมนาคม
ติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ได้สะดวกสบายทุกฤดูกาล เป็นถนนดินลูกรัง
ประชากร
ประชากรทั้งสิ้น ๒๐๔ คน เป็นชนชาวไทยใหญ่ ภาษาที่ใช้พูดเป็นภาษาไทยใหญ่
อาชีพ
อาชีพของประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ ทำไร่ ทำสวน รับจ้าง
ศาสนา
ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีสำนักสงฆ์อยู่ ๑ แห่ง
วัฒนธรรมและประเพณี
ประเพณีและวัฒนธรรมของบ้านตาลเจ็ดต้น ก็คล้ายคลึงกับหมู่บ้านอื่นที่เป็นชาวไทยใหญ่ ในภาคเหนือ คือ
๑. วันเข้าพรรษา
๒. วันออกพรรษา
๓. วันวิสาขบูชา
๔. วันมาฆบูชา
๕. ถวายข้าวมธุปายาท
๖. ถวายสลากภัตต์
๗. รับลูกแก้ว
๘. วันสงกรานต์
๙. ถ่อมลีก
๑๐. แต่งงาน
๑๑. ลงแขก
๑๒. ดับไฟเทียน
๑๓. เดือนยี่เป็ง (ลอยกระทง)
๑๔. จะก๊ะ (เชิญผู้เฒ่าผู้แก่ไปที่บ้านเลี้ยงอาหาร ถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์)
โบราณสถานโบราณวัตถุ
สำนักพระพุทธบาทตำบลเวียงเหนือ อยู่ห่างจากบ้านตาลเจ็ดต้นไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
๑. มีช่างไม้ คือ นายเจริญ ไหมนวล นายถนอม โณทัย
๒. ช่างปูน คือ นายเสถียร หนานคำ
๓. ช่างจักสาน มีเกือบทุกบ้าน