ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 40' 7.3128"
16.6686980
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 19' 26.319"
103.3239775
เลขที่ : 136756
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดหนองหอไตร อำเภอหนองกุงศรี
เสนอโดย เสาวคนธ์ ชนะบุญ วันที่ 27 พฤษภาคม 2555
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 5 มิถุนายน 2555
จังหวัด : กาฬสินธุ์
1 259
รายละเอียด

วัดหนองหอไตร

สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายมหานิกาย แห่งที่ ๑๕ ตามมติ
มส.ครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ ตั้งอยู่บ้านหนองหอไตร ๑๓๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลลำหนองแสน
อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์

มีพระครูพิจิตรสิทธิคุณ เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน โทรศัพท์ : ๐๔๓ ๘๘๑ ๐๘๐

ประวัติวัดหนองหอไตร

วัดหนองหอไตรเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับหมู่บ้านหนองหอไตร ประมาณปี ๒๔๗๐ โดย
นายพิมพ์ ภูทะระ เป็นผู้สร้างขึ้นบนเนื้อที่ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นที่วัดเก่าสมัยขอมเรืองอำนาจ เพราะมีลานหินคล้ายลานโบสถ์และมีพระปฏิมากรรมสมัยทวารวดีตั้งอยู่ท่ามกลางดงมะม่วงติดกับหนองน้ำใหญ่ จึงเรียกกันว่าวัดม่วงเฒ่า

ที่บริเวณกลางหนองน้ำติดกับวัดนั้น มีหอพระไตรปิฎกอยู่ ต่อมาหมู่บ้านได้เปลี่ยนชื่อจากบ้านม่วงเฒ่ามาเป็นบ้านหนองหอไตร ชื่อวัดเลยต้องเปลี่ยนตาม เป็นวัดหนองหอไตรด้วย แต่บางคนมักเรียกว่าวัดศรีบุญเรือง จนติดปากจนทุกวันนี้

ยุคเฟื่องฟู

วัดหนองหอไตรในยุคแรกเฟื่องฟูมาก เพราะเป็นวัดที่สร้างในสถานที่เก่าแก่ มีพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นที่สักการะบูชาเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก คนในแถบนี้ขึ้นวัดหนองหอไตรไม่น้อย นอกจากนั้นยังนำบุตรมาบวชในวัดแห่งนี้กันมาก จนในที่สุดวัดหนองหอไตรกลายเป็นสำนักเรียนทั้งฝ่ายบาลีและนักธรรม มีพระเณรจำพรรษาที่วัดนี้เกือบ ๓๐ รูป ซึ่งถือว่ามากที่สุดในสมัยนั้น โดยมี พระศรเสริญ อิสฺสโร(พหลทัพ) เป็นเจ้าสำนักในสมัยนั้น

นอกจากจะเป็นสำนักเรียนแล้ว วัดหนองหอไตรยังเป็นจุดศูนย์กลางในการทำพิธีกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านพระพุทธศาสนาของคนในแถบนี้ด้วย คำกล่าวที่ว่า “ หนองกุงศรีเป็นหม่องยั้ง หนองริวหนังเป็นหม่องอยู่ หนองหอไตรคือยอดแก้วเที่ยวไหว้อยู่บ่เซา” เป็นสิ่งยืนยันถึงความศรัทธาที่คนในถิ่นนี้มีต่อวัดหนองหอไตร ในช่วงหลังเทศกาล วันสงกรานต์ จะมีการเอาพระประธานลงสรงน้ำโดยการนำออกไว้หน้าโบสถ์สงกรานต์เสร็จก็จะเอาไหว้อย่างนั้น ( ชาวบ้านจะถือว่าถ้าตราบใดที่ยังไม่เอาพระขึ้นยังถือว่าเป็นนช่วงเทศการวันสงกรานต์อยู่ ) ประมาณเดือน ๖ ก่อนที่จะลงทำนาจะมีการเอาพระขึ้น มีการนัดแนะกันกับหมู่บ้านใกล้เคียงโดยมีบ้านหนองกุงศรีเป็นแกนนำออกหนังสือชักชวนให้มาร่วมทำบุญตบปะทาย ( ก่อเจดีย์ทราย ) เอาพระขึ้นเป็นการปิดเทศการงานสงกรานต์

ในงานตบปะทายนั้นจะเป็นวันที่สนุกสนานมากของหนุ่มสาว มีการขนทรายเข้าวัดเล่นสาดน้ำกันไปด้วย ตอนสุดท้ายของงานจะมีการเสี่ยงทายพระเกี่ยวฟ้าฝนในปีหน้า ชีวิตเป็นอยู่ของชาวบ้านจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่ ว่ากันว่าพระประธานในโบสถ์วัดหนองหอไตรศักดิ์สิทธิ์มากใครจะแสดงอาการลบหลู่ไม่ได้เลย เช่นจะมาขว้างปามะม่วงในวัดไม่ได้ พระจะไปทำผิดวินัย (เช่นการร้องเพลงหรือพูดจาไม่ดีในวัดไม่ได้) มีบางคนที่ไม่เชื่อทำในสิ่งนั้นเข้า ถึงกับเป็นบ้าพาผ้าเหลืองวิ่งหนีเข้าป่าไปก็มี ต้องใช้เวลาตามจับตั้งสามสี่คืนกว่าจะได้ตัวกลับมาขอขมาแล้วอาการนั้นจะหาย ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่วัดหนองหอไตรแม้จะเสื่อมคลายลงบ้างแต่ชาวบ้านยังเชื่อกันมาถึงทุกวันนี้

ยุคเสื่อม

กาลเวลาเปลี่ยนไปยุคสมัยเปลี่ยนไปสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงฉันใดวัดหนองหอไตรก็เช่นนั้น จากจุดศูนย์กลางพิธีทางพุทธศาสนา วัดหนองหอไตรกลายเป็นศูนย์กลางการจัดงานรื่นเริงและมหรสพ มีการจัดงานประจำปีอย่างยิ่งใหญ่ ทุกอย่างเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จากสำนักที่ใหญ่มีพระเณรมาก กลายเป็นวัดร้างหาพระเณรอยู่จำพรรษาไม่มีบางปีต้องไปหานิมนต์มาจากที่อื่น ๆ โดยเสนอผลประโยชน์ให้เป็นรายปี ตกหน้าแล้งวัดจะร้างทุกปี หน้าพรรษาถึงจะหานิมนต์พระมาจำพรรษาและบวชลูกหลานชาวบ้านเพิ่มหากปีใดมีพระหลวงตามาอยู่ ๒ รูป ในพรรษานั้นจะวุ่นวายที่สุด เพราะพระหลวงตาจะเปิดศึกแย่งผลประโยชน์กัน เหตุเพราะวัดนี้มีป่ากล้วย ป่ามะพร้าวมาก พระที่มาอยู่จึงเกิดความโลภขึ้น ยุคนี้อยู่ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๖

ยุคนี้เป็นยุคที่วัดหนองหอไตรเสื่อมมาก วัดกลายเป็นวิก งานบุญประเพณีตบประทายกลายเป็นเพียงของชาวบ้านหนองหอไตรเท่านั้น ชาวบ้านอื่นในแถบนี้จะรู้จักวัดหนองหอไตรในชื่อว่าวัดที่จัดบุญใหญ่ (เทศกาลมหรสพ )ได้ยิ่งใหญ่มาก จัดที ๗ วัน ๗ คืน ขายมันทุกอย่างเล่นมันทุกอย่างในวัดนั่นแหละ วัดจึงถึงจุดเสื่อมในที่สุด

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นายพวง ชนะบุญ ได้เข้ามาบวชในช่วงฤดูแล้ง บวชได้ ๗ วันบอกชาวบ้านว่า หลวงปู่ มาเข้าฝัน บอกว่าให้รื้อสิม(โบสถ์)หลังเก่า ชาวบ้านเชื่อช่วยกันรื้อเพื่อจะสร้างหลังใหม่แทน มีการนำเอาพระประธาน มาไว้ที่เพิงหน้าสิม มีคนมาทักว่าไม่เหมาะสมจึงย้ายขึ้นไว้บนศาลา

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ หัวใจทุกดวงของชาวบ้านหนองหอไตรแทบแตกสลายเมื่อพระประธานหายไป ชาวบ้านช่วยกันออกตามหาทุกที่ที่คิดว่าขโมยจะนำไปช่อนไว้ แต่ก็คว้าน้ำเหลว ใช้เวลาตามค้นหาอยู่ ๒ เดือนจนเงินสงฆ์ ที่เก็บไว้ประมาณ ๓ -๔ หมื่นหมดไป ชาวบ้านจึงต้องเลิกค้นหา

ยุคฟื้นฟู

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีสามเณรขันทอง คะหาวงค์ ธุดงค์มาจากวัดถ้ำผาจม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้แวะพักที่วัดหนองหอไตร มีความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะที่จะจัดเป็นสำนักปฏิบัติธรรม จึงปักกลดสอนญาติโยมในถิ่นนี้ทันที โยมชาวบ้านแตกตื่น และเห่อ พี่เณรกันมากสละบ้านเรือนออกไปอยู่ที่วัดกันเป็นจำนวนไม่น้อย บางคนถึงกับปลงผมออกบวชเลยก็มี วัดหนองหอไตรกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งในลักษณะสำนักปฏิบัติธรรม วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ชาวบ้านโดยมีพ่อนิล ภูหงษ์ เป็นผู้นำ ได้จัดงานบวชพระให้กับสามเณรขันทอง และมีลูกชาวบ้านหนองหอไตร หลายคนออกบวชตามแต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาสิกขากัน จนวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ มีลูกชาวบ้านหนองหอไตรคนหนึ่งออกบวชเพื่ออุทิศกุศลให้แม่ พระบวชใหม่มีใฝ่ใจในการปฏิบัติมาก ตั้งใจฝึกฝนตนเองเต็มที่ จนปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พระขันทองได้ออกจากวัดหนองหอไตรไปอยู่ที่อื่น โดยปล่อยให้พระที่เป็นลูกชาวบ้านนั้นเป็นผู้ดูแลและบริหารวัดแทน และในปีนั้นเองวัดหนองหอไตรได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง ในปีนั้นมีพระเณรอยู่จำพรรษา ๒๐ รูป ญาติโยมเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลประมาณ ๘๐ คน หลังจากนั้นมาวัดหนองหอไตรได้กระเตื้องขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีจะมีงานปฏิบัติธรรมประจำปีขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี มีพระทั่วสารทิศ เข้าร่วมประมาณปีละ ๑๐๐ กว่ารูป ญาติโยมประมาณปีละ ๒๐๐ กว่าคน

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ วัดหนองหอไตรได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ รับอบรม ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน จำนวน ๖ รุ่น ๆ ละ ๑๐๐ คนปัจจุบันยังมีการอบรมข้าราชการ นักเรียน ตลอดทั้งบุคคลธรรมดาปีละหลายรุ่น

การปกครอง ด้วยวัดหนองหอไตรผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เจ้าอาวาส และรักษาการเจ้าอาวาสมีมากจนนับไม่ถ้วน จนกระทั่งมีพระครูสมุห์ศรเสริญ อิสฺสโร(พหลทัพ)(ปัจจุบันคือพระครูพิจิตรสิทธิคุณ) เป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จนถึงปัจจุบัน

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดหนองหอไตร
เลขที่ ๑๓๗ หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านหนองหอไตร ถนน กาฬสินธุ์ - อุดรธานี
ตำบล ลำหนองแสน อำเภอ หนองกุงศรี จังหวัด กาฬสินธุ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
พระครูพิจิตรสิทธิคุณ เจ้าอาวาส
บุคคลอ้างอิง นางเสาวคนธ์ ชนะบุญ
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ถนน กาฬสินธุ์
ตำบล กาฬสินธุ์ อำเภอ เมืองกาฬสินธุ์ จังหวัด กาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ 46000
โทรศัพท์ 043815805 โทรสาร 043811394
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่