"สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ทายกถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดกาล สุดแต่ศรัทธาสำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน 6 จนถึงเดือน 8 เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต มัคทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะกำหนดวัดและหาเจ้าภาพด้วยวิธีการต่างๆเช่น ทำใบปิดไปปิดไว้หรือไปประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วมผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้ ครั้นถึงวันกำหนดผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าว และเครื่องไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียม สบู่ แปรงสีฟัน ข้าวสารน้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัดจากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนเบอร์หมายเลขให้พระจับพระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใดก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระที่นิมนต์มาข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัตก็คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับเมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก(จับสลาก)ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย1กัณฑ์ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลากเมื่อพระฉัน
เสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พรเจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีสลากภัต พื้นที่อำเภอศรีนคร ประชาชน โดยเฉพาะ ตำบลน้ำขุม นครเดิฐ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ได้สืบทอดกันมาเป็นหลายปีไม่มีหลักฐานปรากฏว่าดำเนินการกันแต่เมื่อใด ปัจจุบันประเพณีสลากภัต ประชาชน ในตำบลศรีนคร ตำบลหนองบัว และตำบลคลองมะพลับ ได้ประกอบพิธีถวายสลาภัตเกือบทุกวัดมีบางวัดในตำบลคลองมะพลับยังไม่ดำเนินการเนื่องจากประชากรของท้องถิ่นมีที่มาหลากหลายท้องถิ่น ประเพณีสลากภัตอำเภอศรีนคร จะประกอบพิธีกันในเดือน 6 ทั้งเดือนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ของท้องถิ่น (มะม่วง) ที่ได้เวลาเก็บเกี่ยว การประกอบพิธีสลากภัต จะดำเนินการไม่ตรงกันของแต่ละวัด โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์ในเขตและนอกเขตอำเภอศรีนคร เท่าจำนวนสำหรับที่มีประชาชนรับสำหรับสลากภัต ในส่วนเขตพื้นที่ของตำบลน้ำขุม และตำบลนครเดิฐ การดำเนินการประเพณีสลากภัต เมื่อเสร็จพิธี ช่วงเวลา 15.00 น, เป็นต้นไป จะการจัดแข่งขันการชกมวยไทยกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือของประชาชนของท้องถิ่นร่วมกันจ่ายค่าดำเนินการ (เรียกกันว่าเงินท้ายฎีกาสลากภัต) ส่วนตำบลอื่น ๆ ของอำเภอศรีนคร ไม่มีการดำเนินการ