ประชาชนชาว (ปกาเกอะญอ) กะเหรี่ยง เป็นชนชาติเก่าแก่เผ่าพันธุ์หนึ่ง พี่น้องชาวกะเหรี่ยงมาจากประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน แล้วอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศจีน ใกล้กับแม่น้ำยางซีหรือแยงซีเกียง หรือชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า กละวีโต้โกล ใกล้กับทะเลทรายโกบี เป็นเวลาหลายร้อยปี พี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ตรงนั้นพื้นที่จะเป็นทะเลทราย เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ถูกพายุใต้ฝุ่นทำให้บ้านเรือนพังพินาศ พี่น้องชาวกะเหรี่ยงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก พี่น้องชาวกะเหรี่ยงกลัวภัยกันมาก ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมลูกล้านบอกว่า เราอยู่ตรงนี้ไม่ได้อีกแล้ว เราจะต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เพราะว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ ๆ ไมสมบูรณ์ เพราะอยู่มานาน จึงอพยพเข้าไปในป่าทิเบตและจีน (ทัพชัย รักสถานกำเนิด. ๒๕๕๓) เมื่อสร้างบ้านเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมปรึกษาหารือกัน เรียกนัดหมายจะผูกข้อมือให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งหลายของหมู่บ้าน การผูกข้อมือครั้งนี้ เรียกว่า ผูกข้อมือเรียกขวัญ ตอนที่ถูกพายุใต้ฝุ่นถล่มตายเป็นจำนวนมาก อยู่ในป่าระหว่างจีนและทิเบตหลายร้อยปี และเริ่มมีประชากรมากขึ้น ที่ทำกินและป่าก็เริ่มหมด พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนทำการเกณฑ์ทหาร จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายต้องหลบหนีการเกณฑ์ทหารจากรัฐบาลจีน เพราะว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นชนชาติที่รักความสงบ ไม่ต้องการสู้รบกับใคร ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในบริเวณป่าทิเบตและจีน การผูกข้อมือครั้งนี้ตรงกับ เดือนสิงหาคม ขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ลาขุ” ปู่ ย่า ตา ยาย ได้นำเอาอุปกรณ์ ๑๓ อย่างมารวมกันให้ลูกหลานได้รู้จัก ดังนี้ ๑) จานไม้ ๒) ไม้พายข้าว ๓) ด้ายขาว ๔) ข้าวสุก ๗ คำ ๕) ข้าวต้มจอกตัวผู้และตัวเมีย ๖) ข้าวเหนียวงา ๗) น้ำ ๘) กล้วยสุก ๙) น้ำอ้อย ๑๐) ดอกลาขุ ๑๑) เผี้ยวัวดำ ๑๒) มะพร้าว ๑๓) เทียนไขขี้ผึ้ง ความหมายของอุปกรณ์ ในพิธีกรรมผูกข้อมือ มีดังนี้ ๑) จานไม้ ความหมาย คือ สอนให้ลูกหลานทั้งหลายเชื่อฟังพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้นำหมู่บ้าน ทุกคนจะต้องมีความซื่อตรงต่อระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งหมด ๒) ไม้พายข้าว ต้องมีตา ๗ ปล้อง ความหมาย คือ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำหมู่บ้าน ต้องมีลักษณะตามตาไม้ทั้ง ๗ ปล้อง ได้แก่ ปล้องที่ ๑ ต้องเข้าใจเรื่องศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ปล้องที่ ๒ ต้องมีระเบียบวินัย มีคุณธรรมในตนเองอยู่เสมอ ปล้องที่ ๓ ต้องมองการณ์ไกล เป็นตัวอย่างให้แก่ลูกหลานเสมอ ปล้องที่ ๔ ต้องเป็นผู้เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ปล้องที่ ๕ ต้องเป็นผู้มีความรู้ที่สมบูรณ์ เหมือนไม้พายข้าว ๗ ปล้อง ปล้องที่ ๖ ต้องทำดีอยู่เสมอ ไม่นินทาว่าร้าย และไม่ถูกคำติฉินนินทา ปล้องที่ ๗ ต้องมีความละอายต่อความชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลังจากลูกหลานทั้งหมดชาวกะเหรี่ยงทุกคน เมื่อจะต้องทำการเลือกผู้นำจะต้องดูลักษณะไม้พายข้าวทั้ง ๗ ปล้องนี้ ไม่ดูตัวอย่างที่ได้จาก เต่า และอ้น เพราะว่าเต่า มีความหมายว่า เอามือกวาดประโยชน์เข้ามาหาตัวอย่างเดียว ตัวเองมั่งมีศรีสุข แต่คนอื่นเดือดร้อนก็ไม่สนใจ อ้น เป็นสัตว์ที่เข้าไปกินกอไผ่ เมื่อถ้าไปในรากก่อไผ่แล้วจะตายไปในที่สุด หากผู้นำทำตัวเหมือนอ้น หมายถึงจะหากินกับลูกหลานในหมู่บ้าน หรือในบ้านเมือง จะทำให้ลูกหลานในบ้านเมืองเกิดความลำบากยากจน บ้านเมืองไม่เกิดการพัฒนา และเกิดความเดือดร้อนในบ้านเมืองขึ้นได้ ๓) ด้ายขาว ความหมาย คือ ด้ายขาวเสมือนความบริสุทธิ์ แม้แต่จะอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าได้พบเห็นใครผูกข้อมือด้วยด้ายขาวแล้ว ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย ๔) ข้าวสุก ๗ กำมือ ความหมาย คือ ชาวกะเหรี่ยงจะต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทุกคนจะต้องมีความสามัคคีร่วมกัน ๕) ข้าวต้มจอกตัวผู้และตัวเมีย ความหมาย คือ ทำให้ลูกหลานชายและหญิงทำกิจกรรมอะไร จะต้องมีความร่วมมือกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ๖) ข้าวเหนียวงา ความหมาย คือ ลูกหลานทุกคนไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน อย่าไปแตกแยกกันโดยเด็ดขาด ให้จับมือกันติดเหมือนข้าวเหนียวงา ๗) น้ำ ความหมาย คือ ความร่มเย็น ชาวกะเหรี่ยงทุกคนไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร ๘) กล้วย ความหมาย คือ ชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่ใดก็ตาม ให้ก่อตั้งหรือตั้งตัวเหมือนกับ กองกล้วย เป็นกองใหญ่ และเหมือนกับเครือกล้วยให้รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ๙) น้ำอ้อย ความหมาย คือ เมื่อปลูกแล้วรวมเป็นกอใหญ่เวลากินน้ำอ้อย ทำให้ได้รสหวาน เหมือนกับคนที่มีความสัมพันธ์ไมตรีอันดี อ้อยมีลักษณะเป็นปล้องสูงทำให้ชาวกะเหรี่ยงทุกคนมีความเจริญ ๑๐) ดอกลาขุ (ดอกเดือน ๘) ความหมาย คือ ดอกลาขุมีสีขาว กลิ่นหอม มักจะเก็บวางไว้บนที่สูงหรือถวายอยู่บนหิ้งพระ ดอกลาขุจะมีเพียงเดือนสิงหาคมเท่านั้น ปีหนึ่งจะออกดอกครั้งเดียว ชาวกะเหรี่ยงจะรักษาความซื่อตรงกับครอบครัวของตน เหมือนดอกลาขุ มีสามีภรรยาเพียง คนเดียวเท่านั้น เมื่อเผ่าพันธุ์อื่นพบเห็นจะได้ชมเชยเผ่าของตน ๑๑) เผี้ยวัวดำ หรือชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พอกี้ก่อ ความหมาย คือชาวกะเหรี่ยงจะทำบุญที่วัด ทำบุญเจดีย์ การทำกิจกรรมทางประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ จะต้องมีพอกี้ก่อด้วยทุกครั้ง เหมือนกับเมื่อปลูกต้นไม้เพียงต้นเดียว จะมีการแผ่ขยายออกมาเป็นกอใหญ่ รากไม้จะยึดดินไว้อย่างแน่นหนา ชาวกะเหรี่ยงไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต้องสร้างความเข้มแข็งเหมือนกับพอกี้ก่อ (เผี้ยวัวดำ) ๑๒) มะพร้าว ความหมาย คือ ให้ดูตัวอย่างเหมือนมะพร้าว ที่มีอยู่ ๔ ชั้น คือ เปลือก กะลา เนื้อ และน้ำ ดังนี้ เปลือก ความหมายคือเป็นผู้นำ กะลา ความหมายคือ คุ้มครองหมู่บ้าน เนื้อและน้ำ ความหมายคือ จะต้องมีที่ดินทำกินอย่างมั่นคงถาวรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และทำมาหากินชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป ๑๓) เทียนไขขี้ผึ้ง ความหมาย คือ ถ้าลูกหลานตั้งหลักฐานหรือมีที่อยู่อย่างมั่นคง ขอให้ลูกหลานศึกษาหาความรู้ให้มีปัญญาเหมือนแสงสว่างของเทียน มองการณ์ไกล มีความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ลูกหลานต่อไป การผูกข้อมือเดือนสิงหาคม (ลาขุ) เป็นประเพณีประจำเผ่าของชาวกะเหรี่ยงทุกปีและจะเป็นการผูกข้อมือในเดือนสิงหาคมเดือนเดียวเท่านั้น เดือนอื่นนั้นผูกข้อมือไม่ได้ เป็นประเพณี ชาวกะเหรี่ยงทั้งเผ่า แม้ว่าจะอยู่บ้านไหน เมืองไหนก็จะต้องจัดงานการผูกข้อมือทุกหมู่บ้าน ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงทั้งเผ่า
ขอขอบคุณ : คุณทัพชัย รักสถานกำเนิด ครูโรงเรียนบ้านนุเซะโปล้ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่จัน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เอื้อเฟื้อภาพ