ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 20° 14' 42.0832"
20.2450231
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 6' 35.4175"
100.1098382
เลขที่ : 138192
เจดีย์วัดป่าสัก
เสนอโดย ตุ๊ต๊ะต๋อมแต๋ม วันที่ 8 มิถุนายน 2555
อนุมัติโดย sirirat_admin วันที่ 2 ตุลาคม 2555
จังหวัด : เชียงราย
1 7937
รายละเอียด

เจดีย์วัดป่าสัก

เจดีย์วัดป่าสักถือเป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนาและศิลปะไทยกล่าวคือเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีการประดับลวดลายปูนปั้นทั้งองค์ น่าจะจัดเป็นเจดีย์ในสมัยล้านนาระยะแรกได้ จากตำนานที่กล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนภู ราว พ.ศ. 1871

วิเคราะห์รูปแบบเจดีย์วัดป่าสัก

รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักมีองค์ประกอบของเจดีย์ที่ต่างจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดโดยทั่วไป คือมีการเพิ่มเรือนธาตุชั้นล่างอีกชั้นหนึ่งมารองรับเจดีย์ทรงปราสาทยอด ดังนั้นจึงสามารถแยกกล่าวเป็น2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เรือนฐานล่างหรือเรือนธาตุชั้นล่าง กับส่วนที่ 2 คือส่วนของเจดีย์ทรงปราสาทยอดทั่วไป ที่ประกอบด้วยฐานบัวรองรับเรือนธาตุและมีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง

ส่วนที่1 ฐานเขียงและฐานบัวเจดีย์วัดป่าสักมีฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำ2 ฐานซ้อนกัน ซึ่งเป็นรูปแบบพิเศษที่ไม่พบมากนัก ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ การทำช่องที่ฐานนี้เคยปรากฏมาแล้วในสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี และพบในศิลปะสมัยพุกามของประเทศพม่า เช่นที่วิหารอานันทะ วิหารนัทลองจอง เป็นต้น

เรือนธาตุชั้นล่างเหนือฐานบัวขึ้นไปเป็นชั้นที่เจาะเป็นช่องจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ3 ซุ้ม มีจระนำซุ้มเทวดาประกอบด้านข้างทุกซุ้ม ซุ้มเทวดามี 4 ซุ้ม จระนำซุ้มพระพุทธรูปจะมีขนาดใหญ่กว่าจระนำซุ้มเทวดาส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดกู่กุด เมืองลำพูน ที่จัดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทประเภทหนึ่งที่มีเรือนชั้นซ้อนอยู่ในผังสี่เหลี่ยม จะต่างกันคือ วัดป่าสักมีเพียงชั้นเดียว และมีการเพิ่มจระนำซุ้มเทวดาประกอบทั้ง 2 ข้างของจระนำซุ้มพระพุทธรูป และที่เสาจระนำยังมีเทวดายืนพนมมือประดับด้วยอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นส่วนนี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์กู่กุด

ส่วนที่2 เจดีย์ทรงปราสาทยอด

ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียง3 ฐานในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานบัวคว่ำ - บัวหงาย 1 ฐาน ซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำ- บัวหงายเตี้ย ๆ ที่ท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ อยู่ในผังยกเก็จเพื่อรองรับเรือนธาตุ

เรือนธาตุส่วนของเรือนธาตุประกอบด้วย จระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้ง4 ด้านเป็นซุ้มซ้อน2 ชั้น ยอดซุ้มทำเป็นซุ้มฝักเพกาหรือซุ้มเคล็ก (Clec) ที่มุมเรือนธาตุประดับเสาติดผนัง ส่วนกลางเรือนธาตุระหว่างเสาติดผนังกับจระนำซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นติดที่ผนังทุกด้าน ปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านทิศเหนือที่น่าจะเป็นพระพุทธรูปลีลา

ส่วนยอดส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ ประกอบด้วยส่วนฐานที่คล้ายกับฐานบัวคว่ำ- บัวหงายซึ่งอยู่เหนือเรือนธาตุ ที่ฐานส่วนนี้ประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กที่เรียกว่า สถูปิกะ ที่มุมทั้ง 4 เหนือชั้นนี้ขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังกลม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ไม่มีบัลลังก์ เหนือองค์ระฆังทำเป็นองค์ระฆังเล็กๆ สลับกับบัวทรงคลุ่ม ต่อด้วยบัวแวงรองรับปล้องไฉนและปลีตามลำดับ

วิเคราะห์รูปแบบเจดีย์วัดป่าสัก

จากประวัติของวัดป่าสักสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่กล่าวถึงในตำนาน ซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าแสนภูได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งนอกประตูเมืองเชียงแสน ภายหลังจากการสร้างเมือง4 ปี และให้ปลูกต้นสัก 300 ต้น จึงให้ชื่ออารามแห่งนี้ว่า อารามป่าสัก ซึ่งถ้าวิเคราะห์ศักราชแล้วจะตรงกับปี พ.ศ. 1875

รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักนี้จัดอยู่ในแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดหรือเจดีย์ปราสาทห้ายอด ซึ่งถือเป็นเจดีย์แบบล้านนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม ปัจจุบันได้พบลักษณะของเจดีย์แบบเดียวกันนี้5 แห่ง ได้แก่ พระธาตุสองพี่น้อง (องค์ด้านทิศใต้) เมืองเชียงแสน เจดีย์เชียงยืน บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และเจดีย์มุมประดับฐานเจดีย์วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย และวัดป่าสักแห่งนี้

ส่วนที่1รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักมีลักษณะพิเศษเพิ่มจากรูปแบบทั่วไปของเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นคือ เรือนธาตุในส่วนที่1 มีฐานประดับด้วยช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ส่วนฐานชั้นล่างสุดที่ทำเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้ประดับเป็นช่อง ชั้นล่างเป็นช่อง ชั้นสองเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นช่องแปดเหลี่ยม ลักษณะเช่นนี้เคยมีปรากฏที่ฐานเจดีย์ในสมัยทวารวดี เช่น เจดีย์จุลประโทนมีการประดับรูปสัตว์หรือไม่ก็เป็นพวกยักษ์แบกมารแบก เป็นต้น หรือไม่ก็เว้นเป็นช่องๆ ไว้ไม่ประดับงานประติมากรรม นอกจากนี้ยังพบว่ามีปรากฏอยู่ที่เจดีย์สมัยพุกามของพม่า ที่เรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปในจระนำซุ้มด้านละ3 องค์ มีเทวดาประกอบอยู่ด้านข้าง การประดับจระนำซุ้มซึ่งกล่าวกันว่าคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทที่เป็นเรือนชั้นในผังสี่เหลี่ยมแบบเจดีย์กู่กุดในสมัยหริภุญชัย เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างมาก ฐานประดับพระพุทธรูปส่วนนี้ของวัดป่าสักจะเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเจดีย์ในกลุ่มนี้เพราะเหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะมีโครงสร้างเป็นแบบเดียวกัน

ส่วนที่2ที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด มีส่วนยอดเป็นชุดของเจดีย์ทรงระฆังแบบไม่มีบัลลังก์ ลักษณะต่าง ๆ จากฐานถึงยอดแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางด้านรูปแบบระหว่างที่มีอยู่ก่อนคือหริภุญชัยผสมกับที่รับเข้ามาใหม่จากพุกามของพม่า นอกจากตัวสถาปัตยกรรมเองแล้วยังมีงานประติมากรรมได้แก่พระพุทธรูปปางลีลาที่ประดับเรือนธาตุด้านทิศเหนือ เชื่อว่ามีอิทธิพลของพุกามด้วย

ลักษณะโครงสร้างโดยส่วนรวมของเจดีย์วัดป่าสักนี้ นักวิชาการได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอายุสมัยของวัดป่าสักไว้หลายประเด็นดังนี้ คือ

ประเด็นแรก เชื่อว่าวัดป่าสักมีอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัยที่รับขึ้นมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่19 ซึ่งปัจจุบันได้มีการตรวจสอบรูปแบบใหม่แล้วเห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว

ประเด็นที่สอง เชื่อว่า เจดีย์วัดป่าสัก เป็นเจดีย์ที่รับอิทธิพลของศิลปะพุกาม จากประเทศพม่า

สำหรับแนวความคิดเรื่องการรับอิทธิพลของพม่าเข้ามานี้ยังแยกออกได้เป็น2 แนวความคิด คือ ประการแรกเชื่อว่าล้านนารับเอาอิทธิพลของศิลปะพุกามเข้ามาก่อนในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเจดีย์ เช่น เจดีย์วัดพระธาตุสองพี่น้อง เจดีย์เชียงยืนและวัดป่าสัก เป็นต้น ส่วนประการที่ 2 เชื่อว่าอิทธิพลของศิลปะพุกามเข้ามาที่สุโขทัยก่อน แล้วทางล้านนาจึงรับมาจากสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้นในสมัยที่ล้านนารับพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากสุโขทัยขึ้นมาในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

การกำหนดอายุเจดีย์วัดป่าสักกระทำได้ดังนี้ คือ

1. พิจารณาจากโครงสร้างของเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาท ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเรือนธาตุและส่วนยอดที่เป็นเจดีย์ทรงกลม การทำเจดีย์ที่มีเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยม และส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลมนั้น พบในระเบียบของสถาปัตยกรรมอาณาจักรพุกามของพม่า ที่เรียกว่าวิหาร นิยมทำเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม เช่น วิหารสัพพัญญู แต่วิหารของพม่าจะมีขนาดใหญ่มาก สามารถเดินเข้าไปภายในอาคารได้ ภายในอาคารจะมีแกนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักส่วนบนของเจดีย์ รอบๆ แกนสี่เหลี่ยมภายในอาคารประดับพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ส่วนบนเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม

จากลักษณะวิหารของเมืองพุกามนี้เอง น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างเจดีย์ทรงปราสาทขึ้นในอาณาจักรล้านนา ที่ประกอบด้วยอาคารสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าเรือนธาตุ ประดับพระพุทธรูปในจระนำซุ้มทั้ง4 ด้าน ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง แต่เจดีย์ในล้านนามีขนาดเล็กกว่าวิหารของพม่าเป็นอย่างมาก ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ จึงมีการประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายนอก ส่วนฐานชั้นล่างที่ทำเป็นฐานบัวรองรับซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น เป็นอิทธิพลมาจากเจดีย์กู่กุดอย่างไม่ต้องสงสัย

2. รายละเอียดของโครงสร้างเจดีย์ ได้แก่ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง เป็นเจดีย์ไม่มีบัลลังก์ ซึ่งพบอยู่ในศิลปะพม่าเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอนิรุทมหาราชของอาณาจักรพุกาม ถ้าเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีบัลลังก์ จะเป็นอิทธิพลของเจดีย์ลังกาที่เข้ามาปรากฏในสมัยสุโขทัย กับการประดับเจดีย์จำลองเล็กๆ ที่มุมทั้ง4 ที่ฐานของเจดีย์ถือเป็นระเบียบของพุกามมากกว่าที่จะรับอิทธิพลมาจากศิลปะศรีวิชัย กล่าวคือจากเอกสาร ดินแดนในล้านนาเคยมีความสัมพันธ์กับทางพุกามมากกว่า โดยมีหลักฐานการติดต่อตั้งแต่สมัยพญามังรายมาแล้ว

สถานที่ตั้ง
วัดป่าสัก
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน 2 บ้านเวียงเหนือ ซอย - ถนน -
ตำบล เวียง อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
บุคคลอ้างอิง นางสาวฉัตรลดา สินธุสอน อีเมล์ tudsanee_l@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย อีเมล์ chiangrai@m-culture.go.th
เลขที่ 632 หมู่ที่/หมู่บ้าน 3 ซอย - ถนน แม่ฟ้าหลวง
ตำบล ริมกก อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57100
โทรศัพท์ 150169 โทรสาร 150170
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/chiangrai
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่