ถ่านไม้โกงกางยี่สาร
อาชีพของของชาวบ้านเขายี่สาร นอกจากจะเป็นชาวประมงแล้ว อาชีพที่ทำสืบต่อกันมานานเกือบทั้งชุมชน คือการทำถ่านไม้โกงกาง มีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่เพื่อเผาถ่าน ถ่านไม้โกงกาง จะให้ไฟแรง เถ้าน้อย และไม่แตกปะทุ อันนี้เป็นคุณสมบัติของถ่านไม้โกงกาง ไม้โกงกางต้องใช้เวลา 10-15 ปี จึงนำมาตัดทำถ่านไม้ได้ และมีการปลูกทดแทน ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าแต่อย่างใด ปัจจุบันการใช้ถ่านลดน้อยลงจึงเหลือเตาเผาถ่านอยู่ไม่กี่แห่ง
ปัจจุบันคนที่ทำอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางในชุมชนยี่สารลดจำนวนลง เนื่องจากหลายคนหันไปประกอบอาชีพการทำนากุ้ง ซึ่งทำให้สัตว์น้ำที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ลดลงจากน้ำเสีย และเมื่อไม่ประสบผลสำเร็จจากการทำนากุ้งก็จะกลับมาทำอาชีพเดิมแต่ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากว่าเขาได้ขายเรือในการใช้ขนไม้โกงกาง รื้อเตาเผาไปหมดแล้ว
คุณธนู พยนต์ยิ้ม มีอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางในชุมชนยี่สาร และเป็นศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเกษตร ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า อายุของไม้โกงกางที่ใช้ในการเผาถ่านคือ 10-12 ปี ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีการเก็บฝักโกงกางไปปลูกลงในแปลงป่าที่เตรียมไว้ เพื่อรอให้โกงกางโต และอีก 12 ปี จึงจะตัดไม้ไปใช้งานได้ ส่วนแปลงที่มีไม้โตเต็มที่แล้วก็จะถูกตัดเป็นท่อนๆ และลำเลียงลงเรือกลับมาที่โรงเผาถ่าน ปัจจุบันโรงถ่านไม้โกงกางเหลือเพียง 7 โรงเท่านั้น ที่เขายี่สารเนื่องจากไม้โกงกางมีน้อยลง เตาเผาถ่านไม้โกงกางที่ใช้ในการเผาไม้แต่ละครั้ง จะได้ถ่านไม้ประมาณ 6ตัน การตัดไม้โกงกาง จะต้องตัดออกมาทั้งต้น และมาเอากิ่งออก เลื่อยออกมาเป็นท่อน 1.30 เมตร แล้วนำมาทุบเปลือก แล้วนำเข้าเตาเผา ซึ่งบรรจุได้ 20 ตัน ระยะเวลาของการเผาถ่านใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน จะปล่อยให้ระอุ 14 วัน และจะได้ถ่านไม้ราว 6ตันไม้โกงกางเป็นไม้ที่ดีที่สุดในกระบวนการทำถ่านไม้ เนื่องจากให้ความร้อนสูง ติดไฟนาน ไม่แตกตัว ขี้เถ้าน้อย ส่วนใหญ่นำส่งออกนอกประเทศมากกว่าใช้ในประเทศ
ซึ่งอาชีพการเผาถ่านไม้โกงกางเป็นอาชีพที่คุณธนูรักและรักษาทรัพยากรท้องถิ่นไว้นอกจากนี้ยังเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษมีการใช้ความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ ทุกวันนี้ถ่านของคุณธนูมีไม่เพียงพอในการจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไป จึงจำเป็นต้องเลือกให้เฉพาะลูกค้ารายเก่าที่ขายกันมานานเท่านั้น
“ ซึ่งในสายตาใครหลายคนอาจจะเห็นมันเป็นเพียงถ่านก้อนดำๆ ที่ไม่มีคุณค่าอะไรมากมาย แต่ถ่านก้อนดำๆนี้ในสายตาของคนบ้านยี่สารมันมีคุณค่ามากกว่าที่เราคิด”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย:
นางสาวพรทิพย์ ไชยา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ผู้ประสานงานอำเภออัมพวา
นางสาวสุภาภรณ์ นาคเกตุ เจ้าพนักงานธุรการ