แหล่งโบราณสถาน : วัดสองพี่น้อง
ที่ตั้ง : หมู่ที่ ๘ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท
ข้อมูลและข้อสันนิษฐานจากตำนาน/เรื่องเล่า : จากการศึกษาข้อมูลประเภทลายลักษณ์อักษรไม่ปรากฎประวัติการก่อสร้างวัดที่แน่ชัด มีเพียงตำนานพื้นบ้านกล่าวถึงว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๖๐๐ ปี โดยเจ้าอ้าย เจ้ายี่ และเจ้าสาม ซึ่งเป็นพี่น้องแย่งชิงราชสมบัติกัน โดยเจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสาม จึงได้ครองเมืองและได้สร้างพระปรางค์ถวายแด่เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์ถวายเจ้ายี่
ข้อมูลและข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี : เมื่อพิจารณาจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบสามารถทำให้กำหนดอายุการก่อสร้างวัดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา และปรากฏช่วงลำดับพัฒนาการที่สำคัญของวัดได้ทิ้งสิ้น ๓ ช่วงเวลาด้วยกัน ดังนี้
สมัยที่ ๑ : (สมัยแรกสร้าง) ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พบร่องรอยฐานรากอาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๗.๕ x ๑๖.๕ เมตร ปรากฏอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระปรางค์ประธาน อาคารหลังนี้ไม่สามารถกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนหน้าที่การใช้งานได้ แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างขั้นพร้อมกับเจดีย์ประธานในสมัยแรก
สมัยที่ ๒ : ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ เป็นช่วงระยะเวลาที่ร่วมสมัยกับปรางค์ประธานในปัจจุบัน มีการซ่อมสร้างอาคารในสมัยแรกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งก่อสร้างอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ราย
สมัยที่ ๓ : ช่วงพุทธศตวรรศที่ ๒๒ ปรากฏร่องรอยหลักฐานการขยายแนวระเบียงคดล้อมรอบพระปรางค์ประธาน พร้อมทั้งเลิกใช้อาคารด้นทิศเหนือของพระปางค์ประธานที่สร้างขึ้นในสมัยแรก ในช่วงสมัยนี้เป็นช่วงระยะสุดท้ายของการใช้ประโยชน์วัดสองพี่น้องก่อนถูกทิ้งร้างไป และกลับมาใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในวัดอีกครั้งในปัจจุบัน
ปัจจุบันโบราณสถานวัดสองพี่น้องได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๗๘