บ้านห้วยแก้ว หมู่ ๕ ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอเวียงสา ประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดน่านประมาณ ๒๓ กิโลเมตร เดิมบ้านห้วยแก้ว มีชื่อว่า “บ้านฉางข้าว” เพราะเจ้านายซึ่งเป็นผู้ครองนครน่าน เป็นเจ้าของพื้นที่ไร่นาบริเวณนี้ แต่ก่อนบ้านฉางข้าวอยู่ทางทิศเหนือของบ้านนำคำปัน แต่ในปัจจุบันนี้แม่น้ำน่านได้กัดเซาะเอาส่วนนี้ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งทางด้านทิศใต้ของบ้านป่าสัก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ บ้านฉางข้าวบางทีก็เรียกว่า “บ้านเก้าม่วง” เหตุที่เรียกว่า บ้านเก้าม่วง เพราะมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งฉางข้าว
เจ้านายผู้ที่มาตั้งฉางข้าวเป็นครอบครัวแรกในบ้านห้วยแก้ว คือ เจ้าหนานมหายศ เจ้าแม่เกี๋ยงคำ ณ น่าน ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพ่อลักษณ์ ณ น่าน (พ่อของลักษณ์ ณ น่าน มีนามแฝงว่า เจ้าน้อยเลื่อน ณ น่าน (เสียชีวิตไปแล้ว) ตามคำบอกเล่าว่า การสร้างโฮงเจ้าที่กล่าวมานี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ และมีราษฎรตำบลน้ำปั้ว ตำบลตาลชุม (บ้านป่าสักปัจจุบัน) มาร่วมตั้งที่อยู่และมาทำมาหากินทำไร่เพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่า “ห้วยแก้ว” ได้มาจากชื่อของลำห้วย ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านในปัจจุบัน ในลำห้วยแก้วนี้ เมื่อครั้งก่อนจะมีก้อนหินที่โปร่งใสแบบกระจกใส รูปทรงเป็นเหลี่ยมหลายเหลี่ยมแตกต่างกันไป บางก้อนจะมีเส้นใยอยู่ข้างในมีสีเหลือง สีทอง และสีเขียว ชาวบ้านเรียกว่า แก้วโป่งข่าม เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านได้ไปขุดมาขายให้กับพ่อค้านำไปทำเป็นหัวแหวนนำมาขายซึ่งปัจจุบันนี้ยังพบเห็นอยู่ตามเนินเขาบ้างเล็กน้อย
ต่อมา บ้านฉางข้าว หรือบ้านเก้าม่วง ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “บ้านห้วยแก้ว” เพราะว่า เจ้านายได้อาศัยเอาน้ำห้วยแก้วมาหล่อเลี้ยงในนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันลำน้ำห้วยแก้วได้ตื้นเขินไปแล้ว ซึ่งเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ก่อนลำน้ำห้วยแก้วมีน้ำตลอดปี ที่เรียกห้วยแก้วนี้ เพราะมีน้ำไหลมาตามเชิงเขาห้วยแก้ว ต้นน้ำที่เป็นป่าเขา มีแก้วอยู่ และมีผู้ขุดเอาไปเจียระไน และเป็นแหล่งของแก้วโป่งข่าม แก้วขุนบุ้ง แก้วสีหลายชนิด เคยมีชาวบ้านขุดแล้วนำไปขายให้กับพ่อค้า