ประวัติเมืองลี้ (ตอนที่ ๓)
พอสิ้นสุดกิริยาทั้งห้าแล้วช้างก็หยุดเดินแล้วหมอบนิ่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้พระนางจามะรีจึงได้สั่งปลดเครื่องช้าง ให้ไพร่พลหยุดพักอาศัยเป็นการถาวร เมื่อได้หยุดพักอาศัยอยู่เป็นเวลาสมควรแล้ว พระนางจามะรีก็ได้พิจารณาบริเวณสถานที่นั้น ปรากฏว่าเป็นพื้นที่บนที่สูง มีลำน้ำไหลผ่านทางด้านตะวันออกสายหนึ่ง และลำน้ำไหลผ่านทางด้านทิศเหนืออีกสายหนึ่งมาบรรจบกัน ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อหนองน้ำนั้นว่า "หนองป้อม" ประตูที่สองอยู่ทางทิศใต้ ประตูที่สามอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูลับแลลงสู่ลำน้ำที่ไหลผ่านทางด้านทิศนั้นที่ท่าน้ำ ทำสะพานทอดข้ามไปสู่ฟากตะวันออก ซึ่งทางฟากตะวันออกนั้นเป็นที่ราบต่ำลงไปมีพื้นที่กว้างขวาง ให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้คนที่ติดตามมา และได้สร้างทำนบกั้นลำน้ำที่ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ ซึ่งต่อมาลำน้ำสายนี้เรียกชื่อว่า "ห้วยเวียง" เพื่อกั้นน้ำไว้ใช้ทั้งบริโภคและเพาะปลูก
ในการสร้างเมืองขึ้นมานั้น พระนางจามะรีได้ก่อสร้างอาคารสถานที่ซึ่งมีทั้งปราสาทราชวัง และที่อยู่อาศัยสำหรับไพร่พลที่สำคัญนอกจากนี้ยังได้สร้างวัดขึ้นที่กลางใจเมืองวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดเวียงหรือวัดพระธาตุดวงเดียวซึ่งยังปรากฏฐานรากซากโบสถ์วิหาร และพระเจดีย์เก่าให้เห็นอยู่จนบัดนี้ (คือที่บริเวณเมืองร้างอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอลี้ปัจจุบัน ระยะทางประมาณ ๒ กม. และในปัจจุบันได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหาร วัดพระธาตุกลางเวียงขึ้นใหม่) และได้สร้างวัดไว้ที่นอกเวียงอีก คือวัดพระเจดีย์ห้าองค์ได้สร้างเจดีย์ขึ้นเป็นลักษณะห้ายอดตามกิริยาทั้งห้าของช้างที่ได้แสดงให้ประจักษ์ (คือ วัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบัน ) สร้างวัดแท่นคำอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง (ปรากฏซากฐานรากวัดที่ถูกถนนพหลโยธิน(ลี้ - เถิน) ตัดผ่านและได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในปัจจุบัน) สร้างวัดหลวง(คือวัดหลวงเก่า บ้านวัดหลวง) สร้างวัดโป่งกางหรือโป่งก้างทางทิศใต้ของเมือง และสร้างวัดแอ่ว
นอกจากนี้ยังได้สร้างถนน สร้างตลาด สร้างสระน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ ปัจจุบันยังปรากฏซากสิ่งก่อสร้างดังกล่าวอยู่ทุกแห่ง เช่น ซากตลาดอยู่ที่ทุ่งนาปัจจุบันเรียกว่า "หนองเจนเมือง" และซากวัดหลวงที่วัดหลวงเก่า ซากวัดโป่งก้าง รวมทั้งแนวคูเมืองและซากกำแพงเมืองซึ่งซากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นก่อด้วยอิฐดินเผาก้อนขนาดใหญ่