ตานเฮือนน้อย หรือบางทีเรียกว่า ปอยข้าวสังข์ เป็นพิธีกรรมของชาวบ้านทางภาคเหนือ คำว่า เฮือนน้อย เป็นภาษาถิ่น หมายถึงบ้านน้อย ในที่นี้หมายถึงเล็ก ตาน หมายถึง ถวายทานนั่นเอง
ตานเฮือนน้อย หมายถึง การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการสร้างบ้านจำลองหลังเล็กๆไปให้ เป็นความเชื่อของ คนไทยภาคเหนือกลัวว่า คนเมื่อตายไปแล้วอาจจะตกทุกข์ได้ยาก อดอยากหรือได้รับทุกข์เวทนาดังนั้นญาติพี่น้อง หรือบิดามารดา จึงได้ทำบุญ โดยการตานเฮือนน้อยไปให้ ถ้าไม่ตานเฮือนน้อยก็จะทำบุญอุทิศให้โดยการตานขันข้าว คืออาหารคาวหวาน ๑ สำรับก็ได้
สถานทีในการทำพิธี : ส่วนมากนิยมทำกันที่บ้าน โดยการนิมนต์พระไปเทศที่บ้าน การกำหนดวันการตานเฮือนน้อยนั้นแล้วแต่เจ้าภาพผู้จัดงานจะกำหนดวัน ดังต่อไปนี้คือ ทำพิธีหลังจากผู้ตาย ตายไปแล้ว ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หริอ ๑ ปี โดยจะทำพิธี ๑ วัน ในตอนเช้า หรือก่อนเพล ถ้าหลังเพลไปแล้วคือช่วงบ่าย จะไม่นิยมประกอบพิธีเพราะพระสงฆ์มักจะไม่รับประเคนหลังเพล
วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ตาย เพื่อเขาจะได้รับสิ่งของต่างๆ ที่ญาติพี่น้องทำบุญส่งไปให้
องค์ประกอบของเฮือนน้อย : เฮือนน้อยจะสร้างด้วยไม้เป็นรูปทรงบ้านเล็กๆ แล้วนำพลาสติกหรือกระดาษขาวห่อหุ้มเป็นรูปบ้าน บางทีเจ้าภาพอาจจะจัดหาโต๊ะใหญ่เป็นฐานที่ตั้งของเฮือนน้อย เมื่อทำพิธี เสร็จแล้วพระสงฆ์ก็จะได้นำโต๊ะนั้นไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป
สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นต้องมีในครอบครัว : คนเราโดยทั่วๆไป อันได้แก่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ถ้าทำบุญถึงผู้ชายก็จะมี เครื่องแต่งกายของผู้ชาย ซึ่งตอนที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่นั้นเขาชอบสวมใส่ สิ่งของนอกจากนี้ก็มีมุ้ง หมอน เสื่อ ผ้าห่ม รองเท้า ฯ และของใช้ที่เกี่ยวกับครัวเรือน เช่น ถ้วย จาน ช้อน ขวดน้ำ กาต้มน้ำ กระติกน้ำ ฯลฯ ตามแต่จะเห็นสมควร
สิ่งของที่จะทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายนี้จะต้องเป็นของใหม่ ได้แก่ อาหารคาวหวาน ๑ สำรับ หรือ ๑ ปิ่นโต เป็นอาหารที่ผู้ตายชอบรับประทานตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
พิธีกรรม :
๑) เจ้าภาพอาจจะเชิญแขกและญาติพี่น้องที่คุ้นเคยให้มาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยก็ได้สำหรับการแต่งกายในวันตานเฮือนน้อยนั้น ให้แต่งกายสุภาพ ไม่กำหนดว่าต้องเป็นสี ขาวหรือดำ
๒) ก่อนถึงวันตาน เจ้าภาพอาจจะนิมนต์พระไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย ๕ วัน เพราะถ้านิมนต์ใกล้กำหนดวันงานพระท่านอาจ จะติดนิมนต์ที่อื่นแล้วก็ได้ ส่วนพระที่จะ ให้ไปทำพิธีนั้นเจ้าภาพอาจจะกำหนดเอาเจ้าอาวาสไปเอง หรือให้พระท่านจัดหาไปให้ก็ได้ การนิมนต์พระมาทำพิธีนั้นอาจจะนิมนต์ ๑ องค์ ๕ องค์ หรือ ๙ องค์ก็ได้ แล้วแต่ศรัทธา
๓) การเทศน์ธรรมในพิธีตานเฮือนน้อยนั้น จะให้พระท่านเทศฯ์ธรรม นิพพานสูตร หรือเทศน์มหาวิบากก็ได้ แล้วแต่เจ้า อาวาสจะกำหนดตอนที่ไปนิมนต์พระนั้น ให้บอกด้วยว่าจะให้เทศน์ธรรมอะไร
๔) เมื่อถึงวันทำพิธีจะมีอาจารย์ถวายสังฆทานก่อน (อาจารย์ในที่นี้หมายถึง ชาวบ้านธรรมดาซึ่งมักเป็นคนแก่ผู้ชาย) เมื่อกล่าว ถวายสังฆทานเสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็จะเทศน์ธรรม นิพพานสูตร หรือเทศน์มหาวิบาก
๕) เมื่อทำพิธีตานเฮือนน้อยเสร็จแล้ว ของที่เป็นเครื่องตานทุกอย่าง ก็ถวายให้แก่พระสงฆ์ที่มาเทศก์ทั้งหมด
มานพ ชื่นภักดิ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
อ้างอิง : วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตาก.,๒๕๔๔.