ประเพณีกวนข้าวมธุปยาสเป็นพิธีกรรมของศาสนา พราหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาปะปนในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย ครั้งเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่ ยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นางสุชาดาบุตรสาวเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นผู้นำข้าวหอมไปถวาย(ข้าวมธุปยาส) พระองค์ได้เสวยข้าวหอมมธุปยาสนั้นก่อนที่ตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่นางสุชาดา นำข้าวหอมมธุปยาสถวาย นางได้ไปยังต้นไทรต้นหนึ่งแล้วตั้งปณิธานตามปรารถนาว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มีสามีที่มีชาติตระกูลเสมอตน และได้บุตรคนแรกเป็นชาย จักบวงสรวงท่านทุกปี ครั้งต่อมาความปรารถนาของนางสำเร็จทุกประการ ประจวบกับเวลานั้นเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยา ล่วงเลยมา ๖ ปี ถึงวันเพ็ญเดือน ๖ สำเร็จเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางสุชาดา ตื่นแต่เช้าหมายที่จะไปบวงสรวงเทพยดา จึงจัดหาน้ำนมจากแม่โคผสมนมเนยไปปรุงเป็นข้าวมธุปยาสแล้วนำไปยังต้นไทรแต่ได้พบเห็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์นางสุชาดาเข้าใจว่าเป็นองค์เทพยดา จึงได้ถวายข้าวหอมมธุปยาสที่นำมาแด่พระองค์
ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสเป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกรา ไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่ข้าวกล้า ในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน ในจังหวัดชัยนาท บริเวณที่ยังคงรักษาประเพณีกวน ข้าวมธุปยาส มีเหลืออยู่เพียง ๑ หมู่บ้าน คือหมู่บ้านหนองพังนาค หมู่ที่ ๑๓ ณ วัดหนองพังนาค ยังคงรักษาประเพณี และมีความเชื่อถือ อย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งแฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรมอยู่มาก ที่สมควรนำมากล่าวถึงคือ ความพร้อมเพรียงของ ชาวบ้านทั้งที่ทำนา และไม่ได้ทำนาถึงเวลาก็มาร่วมจัดทำและ ช่วยเหลือโดยยึดถือ ความสามัคคีเป็นหลัก และได้มีการจัดทำประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส มาเป็นเวลานาน ประมาณ ๑๐๐ ปี ที่ทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลวงพ่อวัดหนองพังนาคได้กล่าวไว้ และเป็นผู้สืบสานประเพณีการกวนมธุปยาสให้สืบต่อไป ปัจจุบัน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท เทศบาลตำบลเสือโฮก วัดหนองพังนาค และประชาชนตำบลเสือโฮก ร่วมกันสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมให้เป็นประเพณีสืบสานต่อไป ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ร่วมเฉลิมฉลองพระมหากษัติย์ โดยมีการจัดกิจกรรมการกวนข้าวมธุปายาส ในวันที่ ๔ ธันวาคม ของทุกปี การกวนข้าวมธุปายาส ได้สืบทอดเป็นประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชนท้องถิ่นของตน ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวที่ต้องใช้วิธีการปรุงด้วยความละเอียดอ่อน ในสมัยก่อนการที่จัดหาข้าวมธุปายาส ได้นั้นยากมาก ผู้ที่เป็นเศรษฐีเท่านั้นที่จะทำได้ ข้าวมธุปายาสถือเป็นอาหารศักดิ์สิทธิ ชาวบ้านเชื่อกันว่า เมื่อใครได้รับประทานข้าวมธุปยาสจะเป็นศิริมงคลกับตนเองและยังถือว่าข้าวมธุปยาสเป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย ชาวบ้านวัดหนองพังนาค ได้ร่วมกันสืบทอดประเพณีต่อมานานกว่า ๑๐๐ ปี ไว้ชั่วลูกหลานจนถึงปัจจุบัน
พิธีกรรมสิ่งของเครื่องปรุงข้าวมธปยาส ได้เลือก คงไว้ ๑๒ สิ่ง คือ ถั่ว , งาขาวคั่ว , นมสด , น้ำตาล ,น้ำผึ้ง น้ำตาลปีบ แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า น้ำกะทิ นมข้นหวาน น้ำนมจากข้าวโดยคั้นจากรวงข้าวสด ถั่วลิสงคั่ว น้ำมันพืช ใบเตย อุปกรณ์ที่ใช้ เตาอั้งโล่หรือเตาก้อนเส้า กระทะใบบัว พายสำหรับกวน ผ้าขาวบางหรือกระชอนกรอง ถ่าน หรือฟืน ถาดกลมและถาดเหลี่ยม
การจัดพิธีกรรมของวัดหนองพังนาค พระมหาบุญมีฐิตยาโณ ยังคงรักษารูปเดิมไว้ โดยมีสาวพรหมจารีซึ่งจะพิถีพิถันคัดเลือกจากหญิงสาว ที่ยังไม่มี ดอกไม้ (ระดู) ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาว พรหมจารีที่จะเข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือ ปฏิบัติตามองค์ศีลอย่างมั่นคง แม้ที่พักก็จัดให้อยู่ส่วนหนึ่ง จนกระทั่งถึงเวลาถวายข้าวมธุปยาสแก่ พระสงฆ์ ในตอนเช้าจึง จะหมดหน้าที่ เย็บบายศรี(ขัน ๕) สำหรับประกอบพิธีสงฆ์ เตรียมโยงด้ายสายสิญจน์จาก ธรรมาสพระสวดมนต์มายังปรำพิธีกวนข้าวมธุปยาส ผสมส่วนต่างๆของข้าวมธุปยาส ใส่หม้อเตรียมใส่กระทะใบบัว ก่อไฟใส่เตาที่เตรียมไว้พร้อมกันทุกเตา เริ่มกวนในขณะที่เริ่มสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
ขั้นตอนการกวนข้าวมธุปยาส
๑. ตั้งกระทะใบบัวบนเตาไฟ ใส่ส่วนผสมที่เตรียมไว้
๒. สาวพรหมจรรย์ที่แต่งตัวเตรียมที่ทำพิธีสงฆ์อยู่กวนแป้งให้เข้ากัน
๓. ใส่น้ำตาลแล้วกวนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในช่วงที่เปลี่ยนตัวสาวพรหมจรรย์เป็นชาวบ้านช่วยกันกวนทุกระทะ
๔. น้ำผึ้ง นนข้นหวาน นมสดเติมลงเป็นระยะ
๕. แป้งจับตัวเติมน้ำกะทิลงอีกเริ่มพรางไฟแรงตังแต่ต้นให้อ่อนลง
๖. โรยงา ถั่วลิสงคั่วกวนต่ออีกระยะจนเนื้อแป้ง น้ำนมหอมได้ที่
๗. ชาวบ้านช่วยกันยกกระทะลงจากเตา
๘. ชาวบ้านช่วยกันตักใส่ถาด ที่เตรียมไว้ทุกถาด
๙. ใช้น้ำมันพืชที่เตรียมลูบหน้าให้เรียบสวยและโรยถั่วลิสงคั่ว งาขาวคั่วสุก
๑๐. เก็บเข้าตู้เตรียมตักถวายพระและแจกชาวบ้านที่มาทำบุญในวันรุ่งขึ้น
ความเชื่อข้าวทิพย์เป็นอาหารที่รวมโอชารสต่าง ๆ ไว้พร้อม บริโภคแล้วจะได้รับประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามหลักโภชนาการสมกับเป็นข้าวทิพย์ รวมเอนกรส ยากที่จะทำขึ้นบริโภคได้ เมื่อผู้ใดได้บริโภคแล้วจะทำให้มีกำลังแข็งแรง มีคุณค่าอาหาร คงอยู่ในตัวได้นานพิจารณาแล้ว จะเป็นทางสนับสนุนข้าวทิพย์ของนางสุชาดา ที่นำไปถวายพระพุทธเจ้า ในวันตรัสรู้
ศาสนพิธี
จัดที่บูชา คือ - โต๊ะบูชาพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ถ้าสถานที่ไม่อำนวย มีไม้มหาโพธิ์ใส่กระถางตั้งไว้ด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนประกอบอื่นเหมือนการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั่วไป
จัดตั้งอาสนะสงฆ์ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปให้สูงกว่าพื้นที่สัปบุรุษทายกทายิกา และผู้เข้าร่วมพิธีนั่ง
การแต่งกายสาวพรหมจารี แต่งชุดขาวทั้งชุด นุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง สาวพรหมจารีควรเป็นเด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน หรือสตรีที่ยังไม่เคยต้องประเวณี และต้องกราบพระเป็นและรับศีลได้แต่จะพบว่าปัจจุบัน ความเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายได้ลดน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมพิธีจึงแต่งกายสวยงามตามสมัยนิยมแทนก็มี
พระปริตรใช้สวดในพิธี ได้แก่ เจ็ดตำนาน ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และมหาสมยสูตรเจ็ดตำนานกับธรรมจักรกัปปวัตนสูตรใช้สวดก่อนทำพิธีกวน มหาสมยสูตรสวดเมื่อกำลังกวนปี่พาทย์และฆ้องชัย
ปี่พาทย์บรรเลงเมื่อก่อนเจริญพระพุทธมนต์และ เมื่อจบแล้ว เมื่อพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อออกเวียนทักษิณรอบโรงพิธี และเมื่อเทน้ำนมหรือเครื่องกวนลงในกระทะ ฆ้องชัยตีเมื่อประกาศเชิญเทวดา เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบทุกๆ บท เทน้ำนมและเครื่องกวนลงในกระทะ
กำหนดพิธี
ในสมัยโบราณจะทำพิธี ๒ วัน คือ พิธีตอนเย็น มีการสวดพระพุทธมนต์ (สวดมนต์เย็น) ในวัน ๓ ธันวาคม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนานและธรรมจักรฯ พิธีตอนเช้า วันที่ ๔ ธันวาคม เมื่อก่อนจะถึงเวลากวน จะมีพิธีสงฆ์รวมกัน และจะทำการกวนจนเสร็จ ในกรณีที่มีการกวนจำนวนมากหลายกะทะ พอรุ่งเช้าวันที่ ๕ ธันวาคม จัดถวายเป็นพุทธบูชาและถวายพระสงฆ์ ในปัจจุบันนิยมทำเสร็จภายในวันเดียว คือ วันที่ ๔ ธันวาคม ตอนเช้าจะมีการเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีกรรมต่าง ๆ พิธีพุทธ หลังจากนั้นก็จะทำพิธีกวนไปจนเสร็จ ซึ่งอาจเสร็จสิ้นในเวลากลางคืน พอรุ่งเช้าวันที่ ๕ ธันวาคม ก็จะทำพิธีถวายเป็นพุทธบูชา ถวายพระสงฆ์และแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมพิธีหรือบุคคลทั่วไป
ประเพณีกวนข้าวมธุปยาส จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความศรัทธาความเชื่อที่ยังมีอยู่ของประชาชนทั่วไป และผู้นำในชุมชนที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ เพราะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนจำนวนมาก ในการเตรียมการ การจัดหาอุปกรณ์ในการกวน แรงงานในการกวน และการเตรียมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ใช้ในการจัดซื้อจัดหาสิ่งของต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลข้างต้นในปัจจุบันบางวัด บางท้องที่จึงเลิกประเพณีกวนข้าวมธุปยาสนี้ไป เพราะขาดความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ