บ้านซับสวรรค์ เดิมชื่อบ้าน “ซับบอน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อตั้งบ้านเรือนคือ นายลา นางน้อย ธรรมรักษ์ ซึ่งอพยพมาจากอำเภอบัวใหญ่ นายที่ นางบัว แสงเดือน ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดศรีสะเกษ นายเที่ยง รักษาสมัย และนายนาค ด้วงสูงเนิน ซึ่งอพยพมาจากอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีแหล่งน้ำซับไหลผ่านและมีน้ำซับใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเหตุที่ชื่อบ้านซับบอน เพราะบริเวณที่มีแหล่งน้ำไหลผ่าน จะมีต้นบอน ภาษาอีสานจะเรียกว่า “นางหวาน” บ่อน้ำซับนี้
ชาวบ้านสามารถนำน้ำมาดื่มกินได้ตลอดปี น้ำในบ่อนี้ไม่มีวันแห้ง ไหลซับออกมาจากปากถ้ำตลอด ฤดูแล้งถ้าชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ ก็จะอาศัยน้ำบ่อนี้มาดื่มมาใช้กัน สามารถใช้เลี้ยงชีวิตคนทั้งหมู่บ้านได้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าน้ำบ่อนี้เป็นน้ำซับที่ไหลมาจากสวรรค์ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวบ้านตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านซับสวรรค์”
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2537 นายอำเภอสีคิ้ว ชื่อ นายเรืองบุญ แนะนำผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น ชื่อ นายนาค ด้วงสูงเนิน ให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ตามลักษณะเส้นทางคมนาคมที่ค่อนข้างกันดาร มีระยะทางเข้าหมู่บ้านประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเกวียน จะถูกน้ำเซาะในฤดูฝน และเป็นเส้นทางที่กันดารเปรียบเสมือนทางขึ้นสวรรค์ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นใหม่คือ “บ้านซับสวรรค์”และในปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายประสาท โมกศรี
ชาวบ้านซับสวรรค์ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและรับจ้าง ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาไทยโคราชและภาษาไทยอีสาน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดพิศาลคณาราม เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ชาวบ้าน
ได้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ประเพณีทำบุญออกพรรษา ประเพณีลอยกระทง ประเพณีทอดกฐิน และ ประเพณีบุญกลางบ้าน พิธีเลี้ยงศาลตาปู่ ตลอดจนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา
บ้านซับสวรรค์ มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านแพทย์แผนไทย สมุนไพร หมอพื้นบ้าน ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
ด้านงานฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างแกะสลัก หัตถกรรม จักสาน ทอผ้า
ด้านการเกษตร เช่น การเพาะปลูก ขยายพันธุ์ การปรับใช้เทคโนโลยี ด้านการถนอมอาหาร ด้านความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์หินทรายแปรรูป