อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2494 พื้นเพเป็นคน ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรลำดับที่ 2 ของ คุณพ่อสุบิน และคุณแม่ตี๋ ศรีกลิ่นดี มีพี่น้องจำนวน 4 คน ประกอบด้วย บุญธรรม ธนิสร์ วงเดือน และธเนศร์ ศรีกลิ่นดี และมีภรรยาชื่อ คุณจุฬาลักษณ์ มีบุตรด้วยกันสองคนชื่อ คุณศศิวรรณ และ สมวุฒิ ศรีกลิ่นดี
ปัจจุบัน อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ประกอบอาชีพเป็นศิลปินอิสระ Musician มีความถนัดทางด้านดนตรีหลายประเภท อาทิเช่น ขลุ่ย คลาริเน็ต แซ็กโซโฟน ออร์แกน เปียโน กีต้าร์ และเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานติดอันดับหนึ่งของเมืองไทย เคยร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีคาราบาว ได้สร้างชื่อเสียงกับบทเพลงเมดอินไทยแลนด์ ที่ยอดขายกว่าห้าล้านตลับ และหลังจากนั้น อาจารย์ใช้เวลาในการพัฒนาขลุ่ยไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี จวบจนมาถึงวันนี้ ได้มีขลุ่ยไทยที่ชื่อธนิสร์ ไว้หลากหลายรุ่น โดยมีการวิจัยปรับแต่งคุณภาพเสียงให้สามารถเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทั่วโลกได้ ถึงวันนี้ขลุ่ยธนิสร์ ได้พัฒนามาถึงโลวบี Low B แล้ว และอาจารย์ยังมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาขลุ่ยไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเป็นมรดกทางดนตรีให้กับเมืองไทย
ย้อนหลังกลับไปในวัยเยาว์ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้สัมผัสกลิ่นอายทางดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ สมัยอยู่สิงห์บุรี กล่าวได้ว่าเป็นครอบครัวนักดนตรีก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณย่ามีวงดนตรีไทย คุณพ่อก็เป็นครูสอนดนตรีแตรวง พี่ชายก็เป็นนักดนตรี อาจารย์ธนิสรืได้ครูดนตรีคนแรกชื่อ คุณครูทองดำ สิ่งที่สุข ที่สอนโน๊ตดนตรีให้ ซึ่งคุณครูทองดำเป็นเพื่อนกับคุณพ่ออาจารย์ธนิสร์ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีความพอดี ทำให้ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้หัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุสิบขวบและมาสนใจเครื่องดนตรีคือ ขลุ่ย โดยไปได้ยินเสียงขลุ่ยตามงานวัด และเพลงที่ได้ยินแล้วทำให้เกิดความประทับใจนั้นคือ เพลงธรณีกรรแสง โดยเฉพาะท่อนที่สองของบทเพลงนี้ จนทำให้มีความมุ่งมั่นในการฝึกฝนดนตรีเรื่อยมา จนกระทั่งสามารถรับงานแตรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ งานแต่งงาน จนได้เข้าไปอยู่วงดนตรีลูกทุ่งแถวบ้าน ไปเล่นตามงานต่างจังหวัดและบางทีก็ไปถึงกรุงเทพ
ในเรื่องของการศึกษา อาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดพรหมเทพาวาส และโรงเรียนพรหมสาคร จังหวัดบ้านเกิด สิงห์บุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสิงหวัฒนพาห เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ของสิงห์บุรี ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2510 ก็ได้เดินทางเข้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ศึกษาต่อที่วิทยาลัยการศึกษาปทุมวัน และเล่นกิจกรรมดนตรีของวิทยาลัยด้วย แต่ศึกษาได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกก่อน เพื่อไปสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เอกฟิสิกส์ เรียนอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ตัดสินใจลาออกอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้เปิดสาขาเอกดนตรี จึงได้สอบเข้าใหม่อีกครั้งที่สถาบันเดิม ในวิชาเอกดนตรี เป็นรุ่นแรก ศึกษาอีก 2 ปี จนสำเร็จการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ (ปัจจุบันเป็นภาควิชาในคณะศิปกรรมศาสตร์) วุฒิ กศ.บ.
เริ่มต้นช่วงชีวิตของการทำงาน หลังจากจบการศึกษา อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยครูจันทรเกษมอยู่ประมาณ 10 ปี ในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาดนตรี พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาดนตรีศึกษา ที่ มศว.ประสานมิตร สถาบันที่เคยร่ำเรียนมา อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับทำงานดนตรีไปด้วยเช่นเคย จนในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่อาจารย์สอนดนตรี เพื่อเข้าสู่วงการดนตรีอาชีพอย่างเต็มตัว
เริ่มต้นทำงานด้านดนตรีอาชีพด้วยการเข้าเป็นสมาชิกวงเดอะฟ็อกซ์ สมาชิกที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ช.อ้น ณ บางช้าง ต่อมาอยู่กับวงแบ็บติค วงช็อกโกแล็ต มีนักร้องที่รู้จักกันดีคือ ฉันทนา กรองทอง และไปอยู่วงโอเปี้ยม ส่วนมากจะเล่นดนตรีที่โรงแรมแมนดาริน ในขณะนั้นได้เข้าไปทำงานกับบริษัทเทป อาโซน่า ทำงานเบื้องหลังเป็นโปรดิวเซอร์เรียบเรียงเสียงประสานให้กับศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิเช่น ยอดรัก สลักใจ ในเพลงรักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน อัลบั้มชุด เมียมีเมียพี่ก็มา , กุ้ง กิตติคุณ เชียรสงค์ , นัดดา วิยะกาญจน์ , ไพจิตร อักษรณรงค์ , สามารถ บริบูรณ์เวช , เทียรี่ เมฆวัฒนา และเคยทำงานร่วมกับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ชีวิตดนตรีเริ่มพลิกผันอีกครั้ง ได้มีโอกาสมาเจอกับวงคาราบาว ที่เข้ามาใช้ห้องอัดเสียงที่อาโซน่า ได้ทำงานเบื้องหลังให้กับคาราบาว ในชุดวณิพก ทำหน้าที่เล่นดนตรีแบคอัพในห้องอัดเสียง และไปช่วยปรับแนวทางดนตรีให้มีสีสันโดยเพิ่มเครื่องเป่าเข้าไปในเพลง ชุด ท.ทหารอดทน ชุดกัมพูชา ต่อมาได้ถูกชักชวนจาก ยืนยง โอภากุล ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของคาราบาว ด้วยการทำงานที่สอดคล้องต้องกัน ทำให้อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกวงคาราบาวอย่างเต็มตัว และได้สร้างสรรค์ผลงานสมัยอยู่กับคาราบาวอย่างมากมาย และบทเพลงหนึ่งที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จัก ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้อย่างชัดเจน นั้นคือเพลง เมดอินไทยแลนด์ ในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ที่มียอดขายกว่า 5 ล้านตลับ ที่อาจารย์ได้นำขลุ่ยไทยเข้ามาใช้ในเพลงนี้ได้อย่างสวยสดงดงาม หลังจากเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น คาราบาวยุบวง โดยอาจารย์ทำงานอัลบั้มชุดทับหลัง เป็นชุดสุดท้ายก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายออกไปทำงานของตนเอง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้ออกเดินบนถนนสายดนตรีด้วยตนเองอย่างเต็มตัว ในฐานะศิลปินเดี่ยว ที่มีขลุ่ยเป็นชีวิตติดตามตัวมาด้วย จากนั้นได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงบรรเลงโดยใช้ขลุ่ยไทย ในอัลบั้มแรกชุด ลมไผ่ และมีผลงานต่อมาเรื่อยๆ จนถึงอัลบั้มปัจจุบัน ในปี 2551 ในชื่ออัลบั้ม เสียงเพลงแห่งท้องทุ่ง จากการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตนเองมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นผู้ที่ทำการวิจัยและพัฒนาขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล เรื่อยมา จากการหาไม้มาทำขลุ่ย การเจาะรูไม้ การเทียบเสียงการค้นคว้าและเทียบเสียงต่างๆ ให้ขลุ่ยไทยสามารถเข้าไปร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทั่วโลกได้ และจากวันนั้นถึงวันนี้ การพัฒนาขลุ่ยไทยมีมาอย่างต่อเนื่องหลายรุ่น และปัจจุบันอาจารย์ได้ทำการพัฒนาขลุ่ยถึงรุ่น 6 เป็นขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล ชนิด LOW B อธิบายได้คือ สามารถเป่าเสียงต่ำลงได้หนึ่งเสียง ทำให้บทเพลงหลายบทเพลงในอดีตกลับมาเป่าใหม่ อาทิเช่น เพลงพม่าเห่ (เดือนเพ็ญ) สามารถเป่าให้ได้ตรงทุกโน๊ตที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ไว้ ทำให้เวลาเป่าไม่ต้องหลบเสียงเหมือนในอดีต ทำให้บทเพลงที่เป่าใหม่นั้นความสมบูรณ์แบบทุกประการ
ผลงานด้านดนตรีด้วยปรัชญาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ยึดหลักปรัชญาเข้ามาในการทำงานดนตรีเสมอ จนทำให้ผลิตผลที่ออกมาจากการทำงานนั้น ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า คนดนตรีคนนี้จะไปอยู่แห่งหนตำบลใด ก็จะนำพาความสุขไปให้ผู้คนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทำงานร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีเพื่อชีวิตที่โด่งดังอย่างคาราบาว ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ก็ได้เป็นผู้แต่งเติมสีสรรค์ให้งานเพลงคาราบาวในทุกบทเพลงมีคุณลักษณะเฉพาะ มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างเช่นบทเพลง “เมดอินไทยแลนด์” ที่เสียงขลุ่ยของธนิสร์ ได้ปลุกค่านิยมของความเป็นไทยขึ้นมาได้ตลอดจนถึง ทุกวันนี้ หรือเมื่อถึงคราวต้องเดินทางบนถนนดนตรีด้วยตนเอง ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ก็ได้นำ ”ขลุ่ย” เครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตขึ้นมาปลุกให้คนไทย ได้ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทยในงานเพลงของตนเองได้อย่างสวยงาม อย่างเช่นบทเพลง “ทานตะวัน” เมื่อฟังเสียงขลุ่ยเพลงนี้เมื่อไร ทำให้ห้วนรำลึกถึงบ้านเกิดอยู่ร่ำไป หรือบทเพลงพระราชนิพนธ์อัน ทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่เสียงขลุ่ยของอาจารย์ที่เป่าออกมาสามารถสะกดอารมณ์ ให้เกิดความรักชาติให้เกิดขึ้นโดยพลัน
3. นักดนตรีวงเดอะฟ็อกซ์ , วงแบ๊บติค , วงช็อคโกแลต , วงโอเปี้ยม
4. นักดนตรีวงคาราบาว ร่วมผลิตผลงานเพลงหลายชุด ดังนี้ อัลบั้มชุดกัมพูชา อัลบั้ม
ชุดเมดอินไทยแลนด์ อัลบั้มชุดอเมริโกย อัลบั้มชุดประชาธิปไตย อัลบั้มชุดเวลคัมทูอีสานเขียว
อัลบั้มชุดเวลคัมทูไทยแลนด์ อัลบั้มชุดทับหลัง และอัลบั้มครบรอบ ๑๕ ปีคาราบาว หากหัวใจยังรักควาย
5. โปรดิวเซอร์ Producer ให้กับศิลปิน อาทิเช่น สุรชัย จันทิมาทร หงา คาราวาน ในอัลบั้มชุดรัตติกาล ,
วงสามโทน อัลบั้มชุด สวัสดีประเทศไทย , วงประจัญบาน ชุด คิดถึงบ้าน , อรวี สัจจานนท์
ชุด ดอกไม้เปลี่ยนสี , อรวรรณ วิเศษพงษ์ อัลบั้มชุด ลักขณา ๑-๒ เป็นต้น
6. ผู้พัฒนาขลุ่ยไทยให้ก้าวไกลไปสู่สากลได้ ในอัลบั้มเพลงบรรเลงขลุ่ยชุด ลมไผ่ ๑,๒,๓
อัลบั้มขลุ่ยธรรมชาติ ชุด ลมชีวิต ขลุ่ยกับ Woodwind Quartet ชุด Rhythum of Mind
โดยทำร่วมกับวง SAHARA จากประเทศสหรัฐอเมริกา ขลุ่ยกับ Classical Guitas เป็นต้น
7. ผู้ร่วมบรรเลงขลุ่ย กับนักดนตรีต่างชาติทั่วโลก อาทิเช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์
อินโดนิเชีย นาวางมือขลุ่ยของธิเบต พอลโฮเวิร์ดมือแซ็กจากอเมริกา วงซาฮาร่าอเมริกา
8. การออกไปเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ โดยใช้เครื่องดนตรี
ขลุ่ยเป็นสื่อให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ อาทิเช่น ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอัลบั้มชุด Rhythm of Mind
กับวงซาฮาร่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
9. ผู้พัฒนาขลุ่ยไทยให้สามารถปรับใช้กับเครื่องดนตรีสากลทั่วโลกได้
ผลงานการแสดง
1. พบศิลปินเพื่อเสริมสร้างโลกทัศน์ ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๓๔ ขลุ่ยคาราบาว ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
และคณะ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ เวลา ๑๙.๐๐ น.
2. ฤดูกาลพริ้วไหวลมไผ่ผิว อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี พร้อมมิตรสหาย วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
3. คอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ร่วมร้อยรัก ภักดีถวาย”
คอนเวนชั่นฮอลล์ เดอะมอลล์ บางแค ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ บรรเลงเพลง เดือนเพ็ญ และ ค้างคาวกินกล้วย
4. นิทรรศการ “ข.ขลุ่ยของไทย” วันที่ ๑๓-๓๑ มกราคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น.
ณ ศูนย์สรรพสินค้า ริเวอร์ซิตี้
5. งาน Asian Fantasy Orchestra บทเพลงเพื่อสันติภาพ เป็นแขกรับเชิญจากประเทศไทย
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี แสดงร่วมกับวง AFO เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๖
ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
6. งาน Dr.Sax Chamber Orchestra Wthe Four Seasons” วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงขลุ่ยร่วม
กับวง ดร.แซกเชมเบอร์ออเครสตร้า ในบทเพลงเดือนเพ็ญ
7. งาน “ชมวังฟังดนตรี” ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.ลพบุรี ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๗
เดี่ยวขลุ่ยประชันกับวงออเครสตร้า ๕๐ ชีวิต จากวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร
8. งานชมวังฟังดนตรี ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
9. MINNESEREMONI I PHUKET 7. OKTOBER 2005
10. เพลินเพลงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ ก้าวย่างดนตรีไทยสู่สากล
11. งานพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถานสึนามิ ณ บริเวณหาดเล็ก อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา บรรเลงเดี่ยวขลุ่ยในเพลง แสงเทียน พ.ศ. ๒๕๔๘
12. งานร่วมใจช่วยภัยใต้ ณ ถนนพระอาทิตย์ วันที่ ๕-๖ มกราคม ๒๕๔๘ (๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น.)
ณ ป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพ
13. งาน จังหวะแผ่นดิน เทศกาลโลก Rhythm of the Earth World Festival
วันที่ ๑๘-๒๒ มกราคม ๒๕๔๙ ณ สะพานพระราม ๘
14. งานบรรเลง 120 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น ณ Japan Foundation
วันที่ 26 กรกฎาคม 2551
15. นิทรรศการ “การพัฒนาขลุ่ยไทยสู่สากล” และคอนเสิร์ตจุดประกาย ตอน “ขลุ่ยนี้มีมนต์”
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2551
เกียรติประวัติและรางวัลที่ได้รับ
1. รางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม ธนิสร์ เทียรี่ อำนาจ จากอัลบั้ม ขอเดี่ยวด้วยคนนะ
ในงานสีสันอวอร์ดครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๒
2. รางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม “ท้องฟ้า” อัลบั้มลมชีวิต โดย ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
จากงานสีสันอวอร์ด ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๓๖
3. รางวัลเพลงโฆษณายอดเยี่ยม “สิงห์โกลด์” จากงาน Tact Award พ.ศ.๒๕๓๗
4. รางวัล “ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติ” จากกองทัพบก ในโครงการสายธารสู่อีสานเขียว
5. รางวัล “ศิษย์เก่า มศว.ดีเด่น” สาขาศิลปะอิสระ
6. รางวัล “เชิดชูเกียรติเพชรสยามบุคคลตัวอย่างประจำปี ๒๕๔๗” จากสำนักศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราช-ภัฎจันทรเกษม ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เพชรสยาม
สาขาภูมิปัญญาไทยประยุกต์สู่สากล
7. ผลิตผลงานชุด “ความฝันอันสูงสุด” ด้วยขลุ่ยนางพญางิ้วดำ เนื่องในวโรกาสฉลอง
สิริราชสมบัติครบรอบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
8. ศิลปินดีเด่นประจำจังหวัดสิงห์บุรี ผลงานดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง นักดนตรี
ประพันธ์เพลง โดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสิงห์บุรี
9. ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนวัดพรหมสาคร จังหวัดสิงห์บุรี