เบญจรงค์น้ำทอง เป็นเครื่องปั้นดินเผา วิธีการผลิตเริ่มจากการเตรียมดิน การปั้นรูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง นำเข้าเตาเผา นำมาชุบเคลือบด้วยน้ำยา นำไปเผาอีกแล้วนำมาเขียนลายด้วยน้ำทองและสี แล้วนำไปเผาอีกครั้ง ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ อยู่ที่ฝีมือ ความประณีตลวดลายสวยงาม มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ขันน้ำพานรอง โถใส่ข้าว ถ้วย ชุดน้ำชากาแฟ เป็นต้น
กระบวนการ/วิธีการผลิต
การเตรียมดินแบ่งการเตรียมดินตามวัตถุประสงค์
1.การเตรียมดินสำหรับการปั้นบนเครื่องจิกเกอร์ โดยนำดินสำเร็จสำหรับปั้นเครื่องเบญจรงค์มานวดให้ดินนิ่มและอ่อนตัว เหมาะกับการใช้งาน
2. การเตรียมดินสำหรับการหล่อในแบบพิมพ์ โดยนำดินสำเร็จมาผสมในน้ำอัตราส่วน 1: 1 นวดให้เข้ากันและเหลวอ่อนตัวสม่ำเสมอ
การทำรูปแบบผลิตภัณฑ์ทำได้ 2 วิธี
1.การปั้นโดยใช้เครื่องจิกเกอร์ โดยการนำดินที่ผ่านการนวดจนนิ่มที่เตรียมไว้ แล้วนำมาปั้นบนเครื่องจิกเกอร์ โดยมีแม่แบบกำหนดให้เป็นรูปภาชนะต่าง ๆ
2.การทำรูปแบบด้วยการหหล่อด้วยแบบพิมพ์ ซึ่งแม่พิมพ์ทำจากปูนพาสเตอร์ เนื่องจากรูปทรงเบญจรงค์บางชนิดไม่สามารถปั้นบนแท่นจิกเกอร์ได้ ต้องอาศัยวิธีการหล่อด้วยแม่พิมพ์ โดยนำดินที่เตรียมไว้แล้วหล่อในแม่พิมพ์ทิ้งไว้ 10 ชั่วโมง จึงถอดแม่พิมพ์ออก
นำเบญจรงค์ที่ปั้นทั้ง 2 วิธี มาเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อให้ดินที่ปั้นภาชนะมีความหมาด แล้วนำไปตกแต่งรูปทรงให้มีความสวยงาม แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท
เครื่องเบญจรงค์ที่ได้รับการเตรียมก่อนเผา จะต้องผ่านกรรมวิธีในการเผาถึง 3 ครั้ง ดังนี้
1.นำภาชนะที่ปั้นแลผึ่งแดดจนแห้งสนิทแล้ว นำเข้าเตาเผาด้วยเตาแก๊สที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็น
2.นำภาชนะที่ผ่านการเผาตามข้อ 1 มาชุบเคลือบด้วยน้ำยาชุบเคลือบ แล้วนำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 1,280 องศาเซียลเซียส ใช้เวลา 14 ชั่วโมง เรียกว่าการเผาหลังการชุบเคลือบ
3.นำภาชนะทีี่่ผ่านการเผาตามข้อ 2 มาเขียนลายด้วยน้ำทอง และสีสำหรับเขียนเครื่องเบญจรงค์ เป็นลวดลายตามต้องการ นำภาชนะที่ผ่านการลงลายและผึ่งจนแห้ง แล้วไปเผาด้วยเตาไฟฟ้าที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง
ราคาจำหน่ายมีราคาตั้งแต่ชิ้นละ 45 บาท จนถึง 3,500 บาท
สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อนายสมชาย เล็กสถิล 61/3 หมู่ 3 ตำบลเทพมงคล อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผลิตภัณฑ์เบญจรงค์น้ำทองของนายสมชาย เล็กสถิล ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาว ระดับภาค เมื่อปี 2546 ระดับ 5 ดาว ระดับภาค เมื่อปี 2547 ระดับ 2 ดาว ระดับประเทศ เมื่อปี 2549
โดย วัฒนธรรมอำเภอบางซ้าย