ผ้าซิ่นตีนจกลวดลายตีนจกจอมทอง เป็นการสืบทอดความรู้ ความชำนาญผ่านสายตระกูลช่างทอ ย้อนกลับไปในอดีตผู้หญิงจอมทองไม่ได้มีตีนจกไปงานบุญและมีสะสมไว้ทุกคนอย่างที่คนภายนอกเข้าใจ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงผ้าฝ้ายคุณภาพดี ราคาแพง และเข้าถึงการจกตีนซิ่นได้ แม่ญิงจึงเชื่อว่า ต้องนุ่งซิ่นจกยามตัวเอง ละสังขาร เมื่อเกิดชาติหน้าจะได้มีตีนจกไว้นุ่ง
ผ้าซิ่นตีนจก คือซิ่นที่มีตีนประกอบด้วยส่วนที่เป็นผ้า ลวดลายทอด้วยวิธีจก หรือ ควักเส้นด้ายพิเศษมาผูกมัดขัดกับเส้นอื่นเป็นลวดลายแบบต่างๆ ซึ่งซิ่นตีนจกมีโครงสร้าง ประกอบด้วยผ้า ๓ ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และ ตีนซิ่น ซิ่นตีนจกที่พบในลักษณะการแต่งกายของสตรี
ความหมายของคำว่า ซิ่นตีนจก
ซิ่น หมายถึง ผ้าที่ทอเป็นถุง
ตีน หมายถึง โครงสร้างส่วนล่างที่ประกอบเป็นผ้าถุงซึ่งโดยทั่วไป ผ้าซิ่นตีนจก
จะประกอบไปด้วย ๓ ส่วน คือ หัวซิ่น (ส่วนบน) ตัวซิ่น (ส่วนกลาง) ตีนซิ่น (ส่วนล่าง)
จก ตามภาษาพื้นบ้าน แปลว่า ควักหรือล้วงด้วยมือ เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า ทำให้สามารถสลับสีสัน ลวดลายได้หลากหลายสี ซึ่งอาจใช้ขนเม่นหรือไม่ช่วยก็ได้ เมื่อนำความหมายมารวมกัน ซิ่นตีนจก จึงหมายความถึง การทำลวดลายที่มีสีสัน งดงามบนผืนผ้าอาจจะใช้ฝ้ายหรือไหมแล้วนำมาประกอบหรือต่อตรงส่วนลางของผ้าซิ่น เมื่อรวมกันเป็นผืนจึงเรียกว่า ซิ่นตีนจก มี ๓ ลักษณะ คือ
๑.ซิ่นตีนจก จกเฉพาะตีนตัวซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ หรือ สีคราม ซิ่นบางผืนมีตัวซิ่นทอด้วยวิธียกมุกหัวซิ่น ใช้ผ้าขาวผ้าแดงเย็บต่อกันแล้วจึงเย็บต่อกันกับตัวซิ่น
๒.ซิ่นตีนจก จกทั้งตัวซึ่งลักษณะนี้จะมีตัวซิ่นและตีนซิ่นทอด้วยวิธีจก แต่ทอเป็นผ้าคละชิ้น แล้วนำมาเย็บต่อเป็นผืนเดียวกัน ตัวซิ่นส่วนมากจะทอด้วยลายกูด ลายนก ลายมะลิเลื้อย เป็นลายพันรอบตัวซิ่นตีนซิ่นทอลาย หัวซิ่นมีลักษณะเดียวกับซิ่นตีนจกจึงถือได้ว่า ซิ่นชนิดนี้เป็นผลงานทางศิลปหัตถกรรมชั้นสูง
๓.ซิ่นตีนจก ตัวยกมุกสลับมัดหมี่ตีนซิ่นทอด้วยวิธีจกเหมือนตัวซิ่นตีนจกทั่วไป ตัวซิ่นทอด้วยวิธียกมุกสลับด้วยการทอแบบมัดหมี่ ตัวซิ่นใช้เส้นใยประเภทไหม เป็นวัสดุทอ พบไม่มากในผ้าซิ่นตีนจก