ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 59' 50.0388"
14.9972330
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 12' 4.1195"
103.2011443
เลขที่ : 153502
วัดป่าเลไลย์
เสนอโดย nath วันที่ 28 สิงหาคม 2555
อนุมัติโดย บุรีรัมย์ วันที่ 8 ตุลาคม 2555
จังหวัด : บุรีรัมย์
0 852
รายละเอียด

วัดป่าเลไลย์ มีสถานะเป็นวัดราษฎร์ แต่เดิมชื่อว่า วัดป่าเลไลย์ไพรชุมปทุมเมฆ คำว่า เลไลย์ (เรไร) เป็นชื่อสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ชุกชุมในเวลานั้น ส่วนคำว่าไพรชุม ก็เป็นการบ่งถึงทิวทัศน์ของวัดขณะนั้นซึ่งตั้งอยู่กลางป่าไพร อย่างไรก็ตามชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า “วัดบ้านใหม่” ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่ในหมู่ที่ยังใหม่อยู่ในขณะนั้น

วัดป่าเลไลย์ สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช๒๓๒๔ตามตำนานเล่ากันว่า คนที่ตั้งวัดคือแม่หนูทับ (ต้นตระกูลอินทรกำแหง) ชาวบ้านเล่ากันว่า แม่หนูทับนี้เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม พอมีอายุมากขึ้น เกิดความศรัทธา อยากจะสร้างวัดใว้ใกล้ ๆ บ้าน เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญกุศล ท่านจึงไปนิมนต์หลวงพ่อเมียด มาดูทิศทาง(ทำเล) ให้ เริ่มแรกทีเดียวก็ไปดูที่ป่าแถบบ้านโคกกระเบาในปัจจุบัน ซึ่งไกลจากป่าบ้านใหม่ประมาณ ๑ กิโลเมตร แต่หลวงพ่อเมียดบอกว่าที่ตรงนั้นไม่เหมาะ จึงได้มาดูที่ป่าบ้านใหม่ปัจจุบัน และเห็นว่าเหมาะที่จะสร้างเป็นวัด จึงได้ตกลงสร้าง และก็ได้ทำการทำนุบำรุง เสนาสะ ตลอดจนอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา จนสิ้นอายุขัยของท่าน โดยก่อนที่ท่านจะจากไปก็ได้ฝากฝังให้ลูกหลานช่วยดูแลถาวรวัตถุ อุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ ตราบชั่วลูกชั่วหลาน อย่าได้ละทิ้ง ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น เพราะหลังจากที่แม่หนูทับได้สิ้นไปแล้ว แม่มี ซึ่งลูกของแม่หนูทับก็ทำนุบำรุงต่อวัดแห่งนี้มาโดยตลอด และถัดจากแม่มีก็มีแม่พันธ์ และแม่นาค (ลูกคนสุดท้องของแม่พันธ์) แม่เฮง แม่ฮวย และแม่สำลี เป็นลำดับต่อมา

วัดป่าเลไลย์ก่อตั้งขึ้นก่อนที่จะมีหมู่บ้านที่ชื่อว่า บ้านใหม่ประมาณ ๖๐-๗๐ ปี แต่ก่อนนั้นยังไม่มีถนนหนทาง ทั่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน และหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด คือบ้านสามแวง หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ไกลออกไปอีก เช่น บ้านยาง บ้านห้วยราช บ้านประสาท บ้านเมืองโพธิ์ บ้านเมืองไผ่ อำเภอกระสัง บ้านสนวน เป็นต้น มีวัดที่เรียกว่าเป็นวัดพี่วัดน้องคือ วัดแจ้งเมืองไผ่ อ.กระสัง จ. บุรีรัมย์ และวัดโคกสูง โดยทั้งสองวัดมีการค้นพบเครื่องใช้สอยของคนโบราณ และโครงกระดูกสูง ๘ ศอกตามลำดับ นอกจากนั้น ที่วัดป่าเลไลย์เองก็ยังมีพระพุทธรูปสำริดโบราณ เล่ากันว่า พระพุทธรูปโบราณนี้มีทั้งหมด ๔ องค์ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกัน นำมาถวาย ๔ วัด มี วัดบ้านเมืองโพธิ์ วัดแจ้งสมรทศ วัดบ้านโคกเหล็ก และวัดป่าเลไลย์ ซึ่งในส่วนของวัดป่าเลไลย์ปัจจุบันพระพุทธรูปดังกล่าวได้ถูกโจรกรรมไปนานแล้ว ยังคงอยู่เฉพาะที่วัดบ้านโคกเหล็กเท่านั้น

. สภาพทั่วไปของวัด

ดังได้กล่าวข้างต้นว่า วัดนี้เป็นวัดป่า คือตั้งอยู่ในป่า กุฏิที่อาศัยของพระก็ยังเป็นเพียงกระท่อมมุงด้วยหญ้าคา อาคารก่อสร้างอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีสภาพเหมือนในปัจจุบัน แม้ในสมัยที่หลวงปู่ต๊ะมาเป็นเจ้าอาวาส สภาพก็ยังคงเป็นป่าเสียเป็นส่วนใหญ่ อาคารก่อสร้างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน พึ่งมีการสร้างขึ้นในช่วงหลังนี้เอง

ปัจจุบันวัดป่าเลไลย์ จัดว่าเป็นวัดที่มีความเจริญวัดหนึ่ง มีถาวรวัตถุที่สวยงาม เช่น โบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิที่พักสงฆ์ เมรุเผาศพ นอกจากนั้นยังมีต้นไม้ร่มเย็น มีสระน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านได้อาศัยใช้สอยตลอดปี

ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่อยู่แวดล้อมวัดทั้งหมด ๗ หมู่บ้าน ประมาณ ๖๐๐ หลังคาเรือน มีวัดเป็นจุดศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เป็นของวัด งานของชาวบ้าน ตลอดทั้งของหน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ มีห้องสมุด / คอมพิวเตอร์บริการประชาชน เยาวชน การจัดประชุมพระสังฆาธิการ เป็นสนามจุดอบรมพระนวกภูมิประจำปี เป็นสนามสอบธรรมศึกษาประจำปี เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ประจำตำบล เป็นศูนย์การประชุมคณะกรรมการ ธกส. เป็นศูนย์การประชุมกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ

. อาณาเขตของวัด

ด้านทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดกับซอยถนน หมู่ที่ ๓

ด้านทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดกับถนนห้วยราช-สตึก คั่นหมู่บ้าน หมู่ที่ ๒

ด้านทิศทิศใต้ มีอาณาเขตติดกับถนนตัดผ่านไปยังบ้านโคกเจริญ หมู่ที่ ๖

และบ้าน เพชรน้อย หมู่ ๘ คั่นหมู่บ้าน หมู่ที่ ๗

ด้านทิศเหนือ มีอาณาเขตติดกับหมู่ที่ ๔

รวมเนื้อที่วัดทั้งหมด ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา

. สถานะของวัด

วัดป่าเลไลย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๔ ในรูปของสำนักสงฆ์ ต่อมาได้มีการพัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นลำดับ และดับยกฐานะขึ้นเป็นวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๘ เดือน เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗ ตอน ๘๒ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓

นอกจากนั้นในยังได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น “อุทยานการศึกษา” จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒

. การปกครอง

เนื่องจากเป็นวัดที่เก่าแก่ ประวัติความเป็นมาในส่วนของเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดจึงไม่ค่อยชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ที่นี่ พอจับเค้าความได้ว่า วัดนี้มีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้วถึง ๑๕ รูป

รูปที่ ๑ คือ พระอธิการเมียด พ.ศ.๒๓๒๔-

รูปที่ ๒ พระอธิการสุข

รูปที่ ๓ พระอธิการเม้า

รูปที่ ๔-๑๑ นั้น หาหลักฐานเกี่ยวกับตัวท่านไม่ได้ -๒๓๖๐

รูปที่ ๑๒ คือ พระอธิการพรหม พ.ศ.๒๓๖๐-๒๔๑๐

รูปที่ ๑๓ พระอธิการคง ธมฺมสโร พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๕๕

รูปที่ ๑๔ พระครูสังวรานุยุต (หลวงปู่ต๊ะ ธมฺมณียโก) พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๒๕

รูปที่ ๑๕ พระครูวิมลอิสรธรรม (เม้า อิสสฺโร) (๒๕๒๕-ปัจจุบัน) ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เป็นเจ้าคณะตำบลห้วยราชปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา ได้แก่ พระภิกษุ ๒๑ รูป สามเณร ๔ รูป

คำสำคัญ
วัดป่าเลไลย์
หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดป่าเลไลย์
ตำบล สามแวง อำเภอ ห้วยราช จังหวัด บุรีรัมย์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ณัฏฐณิชา กุยรัมย์ อีเมล์ jongjehyun@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอห้วยราช
ตำบล ห้วยราช อำเภอ ห้วยราช จังหวัด บุรีรัมย์ รหัสไปรษณีย์ 31000
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่