พระพุทธรูปปางประทับยืน เป็นพระพุทธรูปองค์พระประธานวัดบุญยืน (พระอารามหลวง) ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ประทับยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนฐานชุกชี ในวิหารวัดบุญยืน สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2343 วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 สูง 4 เมตร (8 ศอก) สมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๖ ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาองค์ยืนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในอิริยาบถ ประทับยืนตามปกติ และห้อยพระหัตถ์ทั้งสองลงชิดพระวรกายอย่างสบาย (บ้างก็เรียกว่า ปางเปิดโลก ปางประทานอภัย ปางเมตตาการุณ ปางประทับยืนทรงดิ่ง ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามเหตุผลในพระพุทธประวัติ) เมื่อมองไปยังพระพุทธรูปจะเห็น องค์พระพุทธรูปประทับยืนดูลึกเข้าไปในซุ้มสีแดงประดับทองนั้น ทั้งด้านบนและสองข้างซ้ายขวาของซุ้มที่ตกแต่งประดิษฐ์ลวดลายกนกอันวิจิตรบรรจงงดงาม อย่างยิ่งนั้น เสมือนหนึ่งว่าพระองค์เสด็จมาจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมา โปรดสัตว์ทั้งหลายโดยแท้ ทำให้รู้สึกได้ว่าตัวเราเล็กลงอย่างน่าอัศจรรย์
พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนเช่นที่วัดบุญยืนแห่งนี้ มีอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นพระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานบัวลูกแก้ว มีเกสรบัว หกเหลี่ยม ทอดพระกรทั้งสองข้างขนานกับพระวรกาย ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา สบงทำเป็นผ้านุ่งซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น มีชายไหวและชายแครงประดับ รูปทรงขององค์พระพุทธรูปได้รับอิทธิพลจาก พระพุทธรูปประทับยืนศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในเมืองน่าน ระยะที่ 2 ส่วนเครื่องทรง ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัย หรือ ห้ามสมุทร ศิลปะรัตนโกสินทร์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 พระพุทธรูป ทั้งสามองค์นี้ คงจะสร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพราะลักษณะฝีมือช่าง และ รายละเอียดต่าง ๆ ของพุทธลักษณะ และเครื่องทรงคล้ายคลึงกันมาก สันนิษฐานว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญคงให้ช่างสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปปูนปั้นในวิหารวัดบุญยืน แห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2343