การตีเหล็กบ้านหัวคำ มีมา 2 ชั่วอายุคนแล้ว ประมาณ 120 ปี เครื่องเหล็กที่ตีส่วนใหญ่ เป็นเครื่องมือทางการเกษตรประเภท มีด , จอบ , เสียม , ขวาน , เคียวเกี่ยวข้าว แต่ละหมู่บ้านมีบางครอบครัวเท่านั้นที่ทำได้และเป็นครอบครัวที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนใหญ่ตีไว้ใช้เองและใช้แลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรกับครอบครัวอื่น การตีเหล็กบ้านหัวคำเริ่มจริงจังเมื่อ ปี พ.ศ. 2485 โดยมีครอบครัวช่างเวิน พิมราช ประกอบอาชีพนี้ ผู้ช่วยช่างเวินคือลูกหลานซึ่งเป็นญาติเท่านั้นที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้
ประมาณปี พ.ศ.2511 การตีเหล็กได้มีการพัฒนาด้านทักษะและขยายเตาตีเหล็กเพิ่มขึ้นโดยผู้ช่วยช่างตีเหล็กจากแรงงานรับจ้างแบ่งปันตามผลผลิตที่ได้ จากการศึกษาทักษะประสบการณ์จากช่างตีเหล็กที่มีความชำนาญ เช่น นายปาน พิมราช ,นายจันทร์ กอดทอง (โก๋) , นายไสว บ่งวงศ์ ซึ่งชาวบ้านถือคติที่ว่า “ เฮ็ดนำพ่อ ก่อนำครู” ทำให้มีทักษะจนสามารถแยกเตาออกมาตีเหล็กเป็นของตนเอง เดิมช่างอาวุโสเป็นผู้ผลิตในขั้นตอนที่สำคัญได้แก่ การตัดเหล็ก เป็นรูปร่าง การชุบเหล็ก การเจาะเหล็ก ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ควบคุมการผลิตควบคุมผู้ช่วยช่าง ให้ทำงานอย่างมีคุณภาพ ผู้ช่วยช่างตีเหล็กจะต้องมีอย่างน้อยที่สุด3 คนผู้ช่วยช่างจะเป็นหญิง , ชาย , เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ ส่วนมากเด็กจะสูบลมและตะไบ ส่วน ผู้นวด(หลาบเหล็ก) จะต้องเป็นผู้ชายที่แข็งแรง จึงจะตีเหล็กได้จังหวะและมีน้ำหนักเสมอกัน ผู้ช่วยทุกคนต่างมีหุ้นส่วนที่เป็นของตนเอง และได้รับผลตอบแทนโดยการ ปันส่วนเท่ากันทุกวัน ชาวบ้านหัวคำที่มีความรู้การตีเหล็กได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มตีเหล็กบ้านหัวคำขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2530 ปัจจุบันมีสมาชิก 52 คน (นักเฉพาะคนถือหุ้นเท่านั้น ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยตีเหล็กไม่ได้นับ) คณะกรรมการดำเนินงาน 1 ชุด จำนวน 15คน
วัตถุดิบบางส่วนมาจากชุมชนส่วนแรงงานทั้งหมดมีอยู่ในชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องอุปกรณ์ เงินทุน กลุ่มตีเหล็กร่วมกับโรงเรียนบ้านไหล่สูงจัดทำโครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการตีเหล็กให้เด็กประถมศึกษาปีที่6 ทุกปี
เทคนิค เคล็ดลับในการผลิต
-ด้านความเชื่อในการตีเหล็กการตีเหล็กมีข้อห้ามเช่นกัน คือไม่ตีเหล็กวันพระแรม 15 ค่ำ(ชาวบ้านถือเป็นวันเดือนดับ)ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะเป็นเหตุให้ไฟกินมีดจะทำให้เชื่อมเหล็กไม่ค่อยติด
-ใช้เหล็กแนบในการผลิตเท่านั้น