พระโสภณพัฒโนดม เจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตำบลศรีถ้อย
วิทยฐานะ นักธรรมเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา
ระดับการศึกษา
- ระดับสามัญจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
- ทางพุทธศาสนา
๑. สอบได้นักธรรมชั้นเอก
๒. สอบได้อภิธรรมชั้นมัชฌิมาเอก
๓. สอบได้ประกาศนียบัตรแพทย์แผนโบราณ
๔. ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏเชียงราย
องค์ความรู้
พระโสภณพัฒโนดม ได้ใช้เวลาในการปฏิบัติงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปพร้อม ๆ กัน การทำงานของภิกษุสงฆ์และสามเณรภายในวัดจึงเป็นกิจที่เราได้เห็นอยู่ตลอดเวลา คำสอนของท่านคือ ให้รู้จักพอ และรู้จักให้ ท่านสร้างศาสนาสถานหลายแห่งเพื่อเป็นสัญญาลักษณ์แห่งบวรพุทธศาสนา และให้วัด เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ ทั้งของคนรุ่นเก่า สู่การถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้วัดเหมือนบ้าน ทำให้วัดเหมือนวัด เข้าวัดแล้วใจเย็น เป็นสุขและเป็นผู้ริเริ่มการทำพิธีกรรม
๑. พิธีสืบชะตาแม่น้ำซึ่งประยุกต์ขึ้นมาจากการสืบชะตาหมู่บ้านและสืบชะตาคนโดยมีไม้สามท่อน ประกอบด้วยกันคล้ายกระโจมไม้ท่อนแรกเรียกว่าสะพานเงิน ไม้อีกสองท่อน ท่อนหนึ่งจะมีกิ่งไม้ก้ามปู ตัดเป็นกำเท่ากับอายุแม่น้ำ สำหรับไม้ท่อนสุดท้ายใช้เทียน ธูป ดอกไม้ เมี่ยง บุหรี่ ผูกติดเมื่อตั้งเป็นสามขา จะปล่อยด้ายสีขาวลงมา จากจุดที่ไม้สามท่อนผูกรวมกันด้านบน เพื่อโยงไปหาแม่น้ำที่เราต้องการจะสืบชะตา พิธีสืบชะตาแม่น้ำนี้ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรักและหวงแหน รวมทั้งเห็นความสำคัญของแม่น้ำที่เป็นแหล่งอุปโภคบริโภคของประชาชนในท้องถิ่น
๒.พิธีบวชป่ามีขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. ออกสำรวจต้นไม้ที่จะทำพิธีบวชต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่เป็นพญาต้นไม้
๒. ประชุมกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้าน
๓. วางแผนโดยเตรียมอุปกรณ์
- เครื่องบวช มีผ้าเหลือง ด้านสายสิญจน์ บาตรน้ำมนต์ และน้ำส้มป่อย
- เครื่องสังเวยเจ้าป่า คือ ข้าวเหนียวสุก ๑ ปั้น กล้วยสุก ๑ ลูก และ หมากคำพลูคำ
- สร้างศาลเพียงตา เป็นที่อยู่ของรุกขเทวดาเพื่ออยู่เฝ้าต้นไม้
- หาผู้มีเวทมนตร์คาถา เพื่อเชิญผีป่า ผีเขา (ผีห๊กกะโล้ง)
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ครบเรียบร้อย เริ่มทำพิธี โดยการเริ่มโยงด้ายสายสิญจน์ไปตามภูเขา หรือต้นไม้ แล้วโยงมายังสถานที่ทำพิธีซึ่งมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธาน เมื่อนิมนต์พระเรียบร้อยแล้วอาจารย์ (หมอเวทมนต์) ทำพิธีเชิญเทวาอารักษ์ ผีป่า ผีรับรู้และบอกให้ผีช่วยรักษาป่า หากมีผู้ใดมาตัดไม้ทำลาย ขอให้ผู้นั้นมีอันเป็นไปต่าง ๆ นา ๆ เป็นเรื่องที่หมอเวทมนต์นำมากล่าว เสร็จจากพิธีนี้แล้วให้บอกกล่าวกับแม่ธรณี โดยใช้หมก พลู ตามประเพณีทางภาคเหนือ ต่อจากนั้นมีการไหว้พระสมาทานศีล อาราธนาพระปริต พระสงฆ์ เจริญพระพุทธ หนึ่งสวดชัยมงคลถาคา เอาน้ำส้มป่อยประพรมตามต้นไม้เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ผลงาน
- พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเสาเสมาฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามราชกุมารี
- พ.ศ.2533 ได้รับเกียรติบัตรผู้ทำคุณประโยชน์ฯ จากสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธาน
- พ.ศ.2533 ได้รับโล่คนดีศรีสังคม จากสถาบันพัฒนาชนบท มูลนิธิหมู่บ้านมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และน้ำมันพืชมรกต
- พ.ศ.2535 ได้รับเข็มรางวัลโนมา จากกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ.2535 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จากกระทรวงสาธารณสุข
- พ.ศ.2536 ได้รับคัดเลือกและประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมสาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน (การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537
- พ.ศ.2538 ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน จากสถาบันราชภัฏเชียงราย
- พ.ศ.2543 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคลดีเด่นจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
- พ.ศ.2544 ได้รับรางวัลการรักษาสิ่งแวดล้อม ในวันคุ้มครองโลก
- พ.ศ.2545 ได้รับรางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นจากจังหวัดพะเยา
- พ.ศ.2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เป็นครูภูมิปัญญาไทย
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
- พ.ศ.2541 ริเริ่มโครงการปลูกจิตสำนึกและอนุรักษ์หนองเล็งทราย
เพื่อเผยแพร่ และรณรงค์ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่น
- พ.ศ.2543 ริเริ่มโครงการแสงธรรมนำชีวิต ห่างไกลยาเสพติดของชุมชน และโครงการกินอ้อผญ๋า ไม่ต้องพึ่งพายาเสพติด เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีความสุข
ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง
พระโสภณพัฒโนดม ถ่ายทอดธรรมศาสนา โดยการนำเหล่าภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชน ผ่านกระบวนการความเชื่อทาง ศาสนพิธีกรรมต่าง ๆ โดยผ่านทางโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปลูกป่า โครงการแสงธรรมนำชีวิต โครงการกินอ้อผญ๋า .โครงการค่ายเยาวชน คนรุ่นใหม่ห่างไกลยาเสพติด โครงการปลูกจิตสำนึก การอนุรักษ์แหล่งน้ำหนองเล็งทราย
โครงการสืบชะตาให้แม่น้ำ .โครงการบวชต้นไม้ โดยในแต่ละโครงการมีผู้เข้าร่วมโครงการอย่างมากมาย และเป็นวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา